X

มหัศจรรย์พลังงานสะอาด ผลิตไฟฟ้าจาก ‘โซลาร์เซลล์’ ผสาน ‘พลังน้ำ’ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 หลายประเทศใช้นโยบาย ให้ประชาชนอยู่บ้านมากที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและลดการติดเชื้อ จึงส่งผลให้วิถีของมนุษย์จำนวนมากและการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป แต่กลับส่งผลดีต่อสภาพอากาศของโลก มลภาวะต่าง ๆ ที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม และการเผาไหม้เชื้อเพลิงของยานพาหนะ มีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย การดำเนินชีวิตของมนุษย์กลับมาสู่สภาวะปกติ รวมถึงอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง สภาพอากาศจะกลับสู่สภาวะเดิมหรือไม่ เราทุกคนจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมากขึ้น

“พลังงานหมุนเวียน” เช่น ลม หรือแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานสะอาดจากธรรมชาติที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในการนำมาผลิตไฟฟ้า แต่พลังงานเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดในการนำมาใช้ เพราะต้องคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศที่มีความผันผวนตลอดเวลา เช่น ความเข้มของแสงแดดหรือความเร็วลมไม่เพียงพอ เป็นต้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีความพยายามที่จะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้ก้าวข้ามขีดจำกัดต่างๆ มากขึ้น ล่าสุดได้พัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ โดยนำพลังงานหมุนเวียนสองประเภท คือ “แสงแดด” และ “น้ำ” มาผลิตไฟฟ้าผสมผสานกันเป็นแห่งแรกในประเทศไทย นับเป็นตัวอย่างของความพยายามในการก้าวข้ามขีดจำกัดของพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า
โครงการดังกล่าว นำโซลาร์เซลล์มาติดตั้งบนพื้นที่ผิวน้ำของเขื่อนสิรินธรประมาณ 450 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่ผิวน้ำไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด ซึ่งนอกจากจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้แล้ว ยังนำระบบผสมผสานหรือระบบไฮบริด (Hybrid) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเสริมในช่วงเวลาที่ไม่มีแสงแดดได้อีกด้วย พร้อมนำระบบควบคุมและบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) มาควบคุมการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าทั้งสองชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงช่วยลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ นอกจากนี้ โครงการยังใช้ทรัพยากรของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธรที่มีอยู่เดิมให้เกิดความคุ้มค่าและได้ประโยชน์สูงสุดโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นสถานีไฟฟ้าแรงสูง และระบบส่งไฟฟ้าอีกด้วย

ด้วยความห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อม โครงการฯ ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ชนิดดับเบิลกลาส (Double Glass) เป็นแผ่นกระจกทั้งด้านบนและด้านล่างสามารถป้องกันความชื้นซึมเข้าสู่แผงเซลล์ได้ดี ทำให้ไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ จึงปลอดภัยต่อการใช้งาน และยังใช้ทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปา จึงเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly) ทุ่นลอยน้ำมีช่องเปิดให้แสงส่องผ่านและอากาศถ่ายเทลงสู่ผิวน้ำได้ ที่สำคัญ โครงการพลังงานสะอาดแบบผสมผสานแห่งนี้ ยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้ประมาณ 47,000 ตัน/ปี
โครงการนี้ มีแผนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2563 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) และ กฟผ. ได้เตรียมแผนพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำระบบไฮบริดบริเวณเขื่อนอื่นๆ ของ กฟผ. อีกหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของพลังงานหมุนเวียน พร้อมสร้างเสถียรภาพให้กับพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้คนไทยได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น

แม้ว่าพลังงานหมุนเวียนจะมีให้เราใช้อย่างไม่มีวันหมดสิ้น แต่หากเราไม่ดูแลรักษาธรรมชาติควบคู่กันไปด้วยธรรมชาติก็อาจย้อนกลับมาทำลายมนุษย์ได้ในที่สุด มนุษย์จึงต้องรู้จักรักษาสมดุลของธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรแต่พอเพียง และช่วยกันดูแลธรรมชาติให้ดำรงอยู่ได้ตราบนานเท่านาน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"