X

“ชีวิตผมถูกลิขิตให้มาทำงานนี้”

…เขาบรรจงหยิบของสามสิ่งมาวางเรียงกันตรงเบื้องหน้า ข้าวสารถุง ขวดน้ำดื่ม และหน้ากากอนามัย เขาชี้ไปที่บนถุงข้าวสาร มีตัวอักษรเขียนว่า

“ข้าว เท่ เท่ จาก กทบ” กทบ ย่อมาจาก “กองทุนหมู่บ้าน” ที่เขาดูแลอยู่

เมื่อต้นปีนี้เอง (กุมภาพันธ์ 2563) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ได้ผู้อำนวยการคนใหม่ “ผอ.เปิ้ล” หรือ “รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ” เลยเป็นคนที่มีลูกบ้านมากที่สุดในประเทศไทย
ปัจจุบัน เขาต้องดูแลหมู่บ้านจำนวนกว่า 80,000 แห่ง รวม 13 ล้านชีวิต และงบประมาณหลักแสนล้าน ต่อปี

ด้วยตำแหน่ง หน้าที่ และเนื้องานขนาดมหึมานี้ คงไม่มีใครมีเวลามาออกแบบ “ผลิตภัณฑ์” เอง แต่เขายืนยันว่า สิ่งที่อยู่บนผลิตภัณฑ์ที่นำมาให้ดูนั้น

“ผมออกแบบเอง ก็ทำหลายรอบอยู่นะกว่าจะได้ดังใจ”

เขาไม่ได้เรียนจบมาด้านการออกแบบ ปริญญาตรีและโทด้านบริหารจากจุฬา และนิด้า ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการออกแบบ แต่เพราะนักออกแบบที่จ้างให้ทำงานก็ไม่สามารถทำให้เขาถึงจุด “ถูกใจ” ได้ เขาจึงลงมือจ้างคนมาสอนส่วนตัวทั้งพื้นฐานการออกแบบกราฟฟิก (Photoshop, Adobe Illustrator) และตามมาด้วย จ้างคนมาสอนตัดต่อวิดีโอ (Premiere Pro) จนทำเองเป็น

“ถ้าต้องทำโลโก้ ต้องคิดถึงอะไรก่อน ดูว่าอะไรเด่นสุดบนผลิตภัณฑ์ พอเห็นปุ๊บ ต้องรู้เลยว่า สื่อถึงใคร ด้วยสีของกบท. ซึ่งดีอยู่แล้ว แค่มีองค์ประกอบบางอย่างก็พอ ผมไม่คิดว่า บนผลิตภัณฑ์ต้องมีการเขียน ‘story’ อะไรมากมาย ถ้าอยากรู้สตอรี่ ก็ใส่คิวอาร์โค้ดให้สแกนเอา” เขาเล่า

ผอ.เปิ้ลเป็นคนละเอียดในเนื้อหา และเป็น “นักปฏิบัติ” รวมถึงเมื่อไม่รู้ ก็ศึกษา และลงมือทำ ซึ่งเป็นนิสัยดั้งเดิมมาตั้งแต่เขาเป็น “ผู้ติดตาม” หนึ่งในทีมคนใกล้ชิดของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาหลายสมัยทำงาน

ก่อนหน้านั้น เขาเคยทำงานในฝ่ายบริหารให้กับ NCC Management & Development Co., Ltdใ (ผู้บริหารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และศูนย์ประชุมนานาชาติ) นอกจากเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ (สมัยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรมต.)

ในวาระปัจจุบันที่ดร. สมคิด ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจในรัฐบาลนี้ ผู้อำนวยการสทบ. คนใหม่ที่มาแทนคนเก่า (รศ.นที ขลิบทอง) ที่หมดวาระไปนั้น จึงต้องพิสูจน์ฝีมือบริหารในหลายๆ เรื่อง

“เร็ว ช้า หนัก เบา” เป็นหลักการทำงานอย่างหนึ่งที่ “ผอ.เปิ้ล” ใช้ในการลำดับความสำคัญในการบริหาร บางเรื่องสำคัญและด่วน ต้องตัดสินใจทำอย่างรวดเร็ว บางเรื่องมีความละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลาพิจารณา บางเรื่องต้องทุ่มเท ทำอย่างต่อเนื่อง และบางเรื่องสำคัญแต่ไม่ด่วน ก็จงทำช้าและเบา

นอกจากหลักการนี้ เขายังให้ความสำคัญเรื่องการบริหารเวลา และวาระการประชุม การประชุมที่ดีที่เขาเรียนรู้จาก ดร.สมคิด ก็คือ การทำความเข้าใจกับผู้เข้าร่วมประชุมก่อนเข้าประชุม ***

“การประชุมส่วนใหญ่ ใช้เวลามากเกินไป ถ้าใช้วิธีคุยนอกรอบก่อน ก็จะประชุมได้เร็วขึ้น”

ในการมารับตำแหน่งนี้ ต้องปรับตัวอะไรบ้าง?
ด้วยนิสัย “Down To Earth” คือ ติดดิน เขาตัดสินใจงดทำตัวสบายๆ รวมถึงแต่งตัวสบายๆ ไปในทุกที่ จนบางครั้งภรรยาถึงขั้นขอร้องให้ช่วย “แต่งตัว” เอาใจคนที่เดินข้างๆ ด้วย และลงเอยด้วยการไปตัดสูท 10 ชุด

“ผอ.เปิ้ล” เล่าเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเป็นคนที่ทำงานอยู่ในทีมงาน ไม่ได้มีบทบาทเป็นผู้นำในองค์กร ตำแหน่งนี้จึงถือว่า “เป็นตำแหน่งแรกที่เขาสวมบทบาทเป็นผู้นำองค์กรครั้งแรกอย่างเต็มรูปแบบ”

“ผมอยู่กับอาจารย์สมคิด ท่านก็ให้ผมเข้าใจโลกมากขึ้น เวลามาทำงาน ท่านจะพิถีพิถันเรื่องของบุคลิก ผมก็ไม่ได้ทำได้ทุกอย่างนะ แต่พยายามทำ

ที่บ้านมีรถตู้ คนขับรถ บางทีแต่งตัวดีกว่าผมอีก เพราะผมถือว่า รถเราเอง ก็แต่งตัวตามสบาย แต่ลูกน้องเขาต้องมาจากที่บ้าน จะมาคีบแตะเหมือนเราก็ไม่ได้

เวลาลงจากรถ คนก็ไม่รู้ใครเป็นนาย ใครเป็นลูกน้อง เขาต้อนรับลูกน้องเสร็จสรรพเลย บางทีคนขับรถมาไม่ทัน ผมก็ขับรถเอง คนขับรถตู้คนอื่นที่อยู่ในวินแถวนั้นก็ทักว่า อ้าววันนี้ ส่งนายเรียบร้อยแล้วเหรอ”

แต่เราไม่ได้มีมาดอย่างท่าน พอมาเป็นผู้บริหารองค์กร ก็ไปตัดสูท สูทตัดนี่เพิ่งมีมาตอนรับตำแหน่งที่นี่ รองเท้าหนัง สูทก็มีสีเข้ากับผิว มีสีเทา สีน้ำเงินเข้ม สีดำ พอใส่สีเทา คนชอบชมว่า โอเค เลยจะมีสูทสีเทาเยอะกว่าตัวอื่น แต่ถ้าทำงานที่บ้านก็ เสื้อยืดคอกลม กางเกงขาสั้น รองเท้าหนีบ”

สิ่งหนึ่งที่เขาบอกอย่างตรงไปตรงมา ก็คือ การมี “มาด” ของผู้บริหารในสายตาสาธารณชน สิ่งนี้ เขาก็คอยสังเกตมาตั้งแต่ทำงานกับ “อาจารย์สมคิด” และพบว่า การมีมาดนั้น อาจต้องแลกมากับการเหนื่อย “ในการวางมาด”

“พอไปถึงงาน ผู้บริหารต้องแสดงเลย คือ ต้องมีมาด มีมาดนี่เหนื่อยนะ ผมเพิ่งรู้ว่า ทำไมผู้บริหารต้องเหนื่อย งานสองชั่วโมง ต้องดูดีตลอด ใครมาชวนคุยมาก ๆ ก็ต้อง ‘โง่ไม่ได้นะ’ เดี๋ยวเขาจะว่าเอาต้องทำท่าฉลาดๆ ตลอดเวลา” ผอ.เปิ้ล เล่าอย่างอารมณ์ดี

และที่สำคัญอีกอย่างคือ คุณต้องมี “คนติดตาม”

“ผมก็มาเรียนรู้จากท่านว่า ทำไมเวลาไปงาน ต้องมีคนติดตามอย่างผู้ช่วย เพราะสมมุติไปงานกองทุนหมู่บ้าน คุณต้องใช้เวลาอยู่ที่นั่น ถึง 4 ชั่วโมง คุยกับคนเป็นร้อยนะ เวลาเรามีพาร์ทเนอร์ไปด้วยสักคน คนอื่น ๆ จะไม่กล้าเข้ามามาก

“และจะช่วยทำให้คุณรักษาเวลาในการไปงานแต่ละงาน ในฐานะที่ต้องไปเปิดงาน ไปพูดตามที่ต่าง ๆ คุณจะใช้เวลาในแต่ละงานมาก ถ้าคุณมีคนติดตาม บางครั้งการได้คุยกับคนติดตามอยู่ จะทำให้คนเกรงใจเรื่องเวลา”

ถ้าผมไปคนเดียว ผมไปอุดรครั้งนึง กว่าเครื่องจะขึ้น คนเดินมาคุยเป็นร้อย ผมก็เหนื่อยมาก”

แล้วตอนนั่งสัมภาษณ์ตอนนี้ เหนื่อยอยู่มั้ย?

“ก็เหนื่อยอยู่นะ เพราะต้องตั้งใจตอบคำถามให้ดี” เขาหัวเราะ

แนวคิดเรื่องพัฒนาชุมชนมาจากไหน?
การก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ณ สำนักงานแห่งนี้ เหมือน
”สวรรค์จัดเรียง” เพราะเขาเคยดำรงตำแหน่ง “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ” ของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติมาก่อน เขาจึงมีปูมหลัง เข้าใจหลักการทำงาน และที่มาที่ไปของเนื้องานต่าง ๆ ในสทบ. เป็นอย่างดี

แต่สิ่งที่ทำให้เขา “ลึกซึ้ง” กับงานชุมชน มาจากความสนใจส่วนตัวล้วน ๆ ที่เกิดขึ้นมาก่อนที่จะได้เข้าเป็นกรรมการของหน่วยงานนี้

ผอ.รักษ์พงษ์ เคยเสนอแนวคิดการพัฒนาชุมชนให้สมคิดฟังอยู่บ่อย ๆ ตั้งแต่รัฐมีโครงการประชารัฐที่เชียงใหม่ และเป็นช่วงก่อนที่เขาจะมาได้รับเลือกให้มาดำรงตำแหน่งกรรมการที่นี่

“ผมไม่ได้มาที่นี่ในแบบ อยู่ ๆ ก็มาเป็นนะ ไม่ใช่ชีวิตพลิกผัน ผมว่า ชีวิตผมถูกกำหนดให้มาเป็น ก่อนหน้านี้ ตอนทำงานกับท่านรองนายก ผมก็ได้ไปทำงานที่ต่างจังหวัด บ้านผมอยู่ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร”

“ผมสนใจว่า ทำยังไงให้ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ผมเคยศึกษาตลาดอัมพวา กว่าเจ้าของจะสร้างตลาดน้ำอัมพวาก็ต้องเกิดจากแนวคิดที่ดีก่อนว่า คนในพื้นที่จะได้อะไร แรก ๆ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็ต้องออกแรง ต้องจ้างคนมาพายเรือ ต้องจ้างคนมาช่วยขายของ ทำกิจกรรมให้เกิดขึ้น” เขาเล่า

การทำงานเพื่อชุมชนของรักษ์พงษ์ จึงต้องคิดโจทย์จากความต้องการของชุมชนก่อน

ประสบการณ์การเป็น “ผู้ประกอบการ” มาก่อน ช่วยได้ยังไง?
ผู้ประกอบการมีสองขนาดเท่านั้น คือ ผู้ประกอกบการขนาดใหญ่ และผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว เขาเปิดเรื่อง

“คำว่า เล็ก หรือกลาง มันไม่มีหรอกที่อยู่ได้ จิ๋ว คือว่า มีคนแค่สองสามคน ที่เหลือ “Outsource” หมด พระเอกนั่งในโต๊ะ มีแต่สาวมาหา ในเรื่องจริงไม่มีนะแบบนี้

จะสร้างธุรกิจด้วยตนเอง อย่างน้อยต้องทำเองเป็นเกือบหมดทุกอย่าง ผมจบบัญชีจุฬามา ก็มีพื้นฐานตัวเลขอยู่แล้ว รายได้ รายจ่าย เรารู้อยู่แล้ว ทำให้เราทำธุรกิจง่าย

ที่ทำด้วยตัวเองเพราะว่า เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียด การไปทะเลาะกับคนทั้งประเทศ ลูกน้องทำไม่ได้หรอก เราต้องทำเอง พอทำเองเหนื่อยมั้ย ก็เหนื่อยนะ ทำเองก็เหนื่อยแค่คนเดียว ไม่เหนื่อยใจ เอกสารหลายอย่าง บางทีตอนทำงาน พิมพ์เองทุกอย่าง เห็นลูกน้องส่งมาปุ๊บ พิมพ์ผิดจนเครียดตรวจ บางทีเนื้อหาก็อธิบายไป แก้สามครั้งก็ไม่ได้ดังใจ

ชีวิตประจำวันก็ทำเอง เสื้อผ้า ไปส่งซักเอง แล้วมาเก็บก็จะรู้ว่า ตัวไหนอยู่ตรงไหน เวลาไปซื้อกับข้าว ก็ไปซื้อกินเอง เจอที่ไหนที่ชอบกิน ก็แวะกิน มาอยู่กองทุนหมู่บ้านนี่แหละมีลูกน้องมาดูแล แรกๆ ก็ไม่คุ้นอยู่นะ

ชีวิตผม ทำงานกับ ดร.สมคิด ก็เหมือนคนติดตาม ต้องทำเองทุกอย่าง เราไม่ได้มีลูกน้องของตัวเอง เวลาท่านสั่งอะไร อย่างน้อยก็ต้องทำเองได้ พออยู่หน้างานแล้ว จะหันไปหาใครช่วยก็ไม่มีใครช่วยหรอก ต้องทำเองเป็น”

หลักการบริหารกองทุนหมู่บ้าน มีแนวทางอย่างไร?
“ผอ.เปิ้ล” เล่าว่าเขาจะใช้วิธีอธิบายให้ฟังก่อนว่า ทำไมต้องทำแบบนี้ แล้วใช้วิธีสั่งการ พร้อมมีตัวอย่างให้ดู

“เพราะในเมื่อ สุดท้าย หัวหน้าต้องเป็นคนรับผิดชอบทุกอย่างอยู่แล้ว การสั่งการจึงช่วยให้งานได้เคลื่อนไปข้างหน้าได้เร็ว

“อย่างงานของกองทุนหมู่บ้าน จะใช้วิธีสร้างตัวอย่างก่อน ให้ทุกคนเห็นว่า มันดี แล้วให้ทุกคนทำตาม ทำตามหรือไม่ก็อีกเรื่องนะ สั่งไปแล้ว ถ้าเขาไม่เห็นภาพ จะยากและจะช้าด้วย

หัวหน้างานบางคนก็ไม่กล้าทำแบบนี้ เพราะไม่แน่ใจว่าตัวเองทำเองได้หรือเปล่า แต่ผมทำเองมาตลอด จะดีจะร้าย ผมก็รับผิดชอบเอง”

การพัฒนาโครงการต่าง ๆ ใช้หลักอะไร ทำเล็ก หรือทำใหญ่?
ผู้บริหารหลายคนต้องการทำโครงการใหญ่ ๆ แล้วหวังว่าจะเกิดผลสะเทือนสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่รักษ์พงษ์คิดต่างออกไป เขายกตัวอย่างเปรียบเทียบการพัฒนาจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกัน

“คนสมุทรสาครน่าสงสารนะ ถ้าเทียบกับคนสมุทรสงคราม พอสมุทรสาครเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ดีใจกันใหญ่เลย มีการมีงานทำ สุดท้ายสมุทรสงครามกลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ คือ คนทำงานตรากตรำที่สมุทรสาครเสร็จ ก็ไปใช้เงินที่สมุทรสงคราม

อย่างระยองกับจันทบุรี พอระยองถูกกำหนดเป็นที่เขตโรงงานอุตสาหกรรม จันทบุรีสบายเลย ก่อนหน้านี้ จันทบุรีไม่มีใครไปเที่ยว คนจันทบุรีตอนนี้ชีวิตดีมากเพราะคนระยองมาเที่ยวกัน

มาเทียบกับประเทศ ผมว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นสมุทรสงคราม หรือจันทบุรี

ผมไม่ใช่คนรอให้งานสมบูรณ์แบบ แล้วค่อยทำ ผมทำเลย แล้วค่อยแก้เอา เช่น ทำอีเว้นต์สักงานหนึ่ง ถ้าคิดว่า ต้องทำทั้งประเทศ ยังไม่ได้ทำหรอก ต้องทำก่อน แล้วค่อยๆ ทำตาม ๆ กันไป”

“ผอ.เปิ้ล” บอกว่า ชอบที่คนเรียก “พี่เปิ้ล” เพราะถ้าเรียกชื่อจริง บางที เขาฟังชื่อตัวเอง “ยังรู้สึกแปลกๆ”

แต่จากนี้ไป หมู่บ้านทั่วประเทศ คงจะคุ้นชินกับ ผอ.นักพัฒนาคนนี้

สัมภาษณ์พิเศษ :
ผอ.กองทุนหมู่บ้านคนใหม่ รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ

โดย :
วิทยา แสงอรุณ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"