X

ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 30 คน รักษาหายกลับบ้านยังสูง

กรุงเทพฯ – ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 แถลง พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 30 คน รวมผู้ป่วยสะสม 2,643 คน ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน รวม 43 คน
วันที่ 15 เมษายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โดวิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน ว่า วันนี้  พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 30 คน รวมผู้ป่วยสะสม 2,643 คน ใน 68 จังหวัด  เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน รวมผู้เสียชีวิต 43 คน  รักษาหายกลับบ้านได้เพิ่มขึ้น 92 คน รวม 1,497 คน (56.6%) ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,103 คน

ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน ดังนี้
รายที่ 42 หญิงไทยวัย 65 ปี อาชีพขายอาหารที่ถนนคนเดิน มีโรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง โดยวันที่ 7 มี.ค. มีไข้สูงและไอ จึงซื้อยามากินเอง วันที่ 12 มี.ค.อาการไม่ดีขึ้นจึงไปตรวจที่ รพ.เอกชนใน จ.เชียงใหม่ มีประวัติสัมผัสผู้ปวยยืนยันซึ่งเป็นสมาชิกในบ้าน ต่อมา 15 มี.ค.มีอาการหน้ามืดจึงไป รพ.เดิม และกลับมารักษาตัวที่บ้าน 17 มี.ค.ส่งตรวจพบเชื้อโควิด-19 จึงเข้ารับการรักษาใน รพ.ของรัฐ, วันที่ 18 มี.ค. ยังรู้สึกตัวดีแต่มีอาการหอบเหนื่อย, 19 มี.ค. แพทย์ให้ยาฟาวิพิราเวียร์, 22 มี.ค. หายใจเหนื่อยหอบมากขึ้น เอ็กซ์เรย์พบปอดอักเสบรุนแรง, 6 เม.ย.ไม่รู้สึกตัว ความดันโลหิตตก และได้รับยากระตุ้นหัวใจ แต่ไม่ดีขึ้น จนกระทั่งเสียชีวิต ในวันที่ 13 เม.ย.

รายที่ 43 ชายไทยวัย 60 ปี มีประวัติเดินทางไปร่วมพิธีทางศาสนาในประเทศอินโดนีเซีย กลับมาถึงประเทศไทย 24 มี.ค. ต่อมา วันที่ 2 เม.ย. เริ่มมีไข้สูง 38.4 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยกล้ามจึงเข้ารักษาที่ รพ. ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ส่งตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 อาการแย่ลง กระทั่งเสียชีวิต วันที่ 14 เม.ย.

กลุ่มผู้ป่วยที่เพิ่มวันนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยรายใหม่ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 29 คน
1.เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 19 คน (66% ของทั้งหมด)

2.ผู้ป่วยอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 3 คน
♦คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 คน (จากฝรั่งเศส)
♦ไปสถานที่ชุมนุมชน 2 คน
♦อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือใกล้ชิดต่างชาติ ไม่มี
♦บุคลาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข วันนี้ไม่มีรายงานติดเชื้อเพิ่ม

3.อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 7 คน

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้ารับการกักตัวในพื้นที่ที่รัฐจัดหาให้ (State Quarantines) 1 คน

จำนวนผู้ป่วยสะสม แบ่งเป็นภูมิภาคได้ ดังนี้
♦กทม.และนนทุบรี 1,482 คน
♦ภาคใต้ 542 คน
♦ภาคกลาง 344 คน
♦ภาคอีสาน 107 คน
♦ภาคเหนือ 95 คน

10 อันดับจังหวัดที่พบผู้ป่วยสะสมสูงสุด ได้แก่
♦กรุงเทพมหานคร 1,328 คน
♦ภูเก็ต 190 คน
♦นนทบุรี 149 คน
♦สมุทรปราการ 108 คน
♦ยะลา 93 คน
♦ปัตตานี 85 คน
♦ชลบุรี 81 คน
♦สงขลา 56 คน
♦เชียงใหม่ 40 คน
♦ปทุมธานี 33 คน

อยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 71 คน

มี 9 จังหวัด ที่ยังไม่มีรายงานการรับรักษาผู้ป่วย ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี และอ่างทอง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"