X

ศบค.จัดระบบกระจายหน้ากากอนามัยใหม่ ให้เฉพาะบุคลาการการแพทย์-จนท.กลุ่มเสี่ยง เริ่มเย็นนี้

กรุงเทพฯ – ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ทบทวนมาตรการ สั่งจัดระบบกระจายหน้ากากอนามัยใหม่ ให้ไปรษณีย์ไทย 2 กระทรวงก่อน คือ สาธารณสุขและมหาดไทย พร้อมคุมราคาไข่ไก่ตั้งแต่โรงงาน และเน้นย้ำให้อยู่กับบ้าน

วันที่ 30 มีนาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงสรุปผลประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยมีการทบทวนมาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่บังคับใช้ พระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยพบว่าสถานการณ์อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ เมื่อเทียบตัวเลข ผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ แต่ยังไม่พอใจเต็มที่ จึงต้องประชาสัมพันธ์ให้เข้มงวดมากขึ้น มิเช่นนั้นจะต้องออกมาตรการที่รุนแรงขึ้น คือ ให้อยู่กับบ้าน งดกิจกรรมสังสรรค์ โทรทัศน์ควรงดถ่ายทอดสดรายการชกมวย รวมถึงแนะนำให้เพิ่มความระมัดระวังและทิ้งระยะห่าง เช่น การนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ การใส่บาตร ไม่นำมือหยิบข้าวเหนียวใส่บาตรพระสงฆ์ การทำวัตรเช้า-เย็น การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ การเลื่อนประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทต่าง ๆ แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็ให้ประชุมทางไกล ซึ่งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ออกหลักเกณฑ์แล้ว และไม่แนะนำให้ประชุมพรรคการเมืองในเดือน เม.ย. รอ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.สอบถามมา

นายวิษณุ เครืองาม กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ศบค. ยังจัดทำแผนการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยและอื่น ๆ ใหม่ โดยล้างตัวเลขก่อนหน้านี้ทั้งหมด มาประเมินและทำแผนใหม่ ทั้งนี้ มีโรงงานผลิต 11 โรง ผลิตได้วันละ 2 ล้าน 3 แสนชิ้น ช่วงแรกจะกระจายไปยัง 2 หน่วยงาน คือ

– กระทรวงสาธารณสุข 1.3 ล้านชิ้น ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น
– กระทรวงมหาดไทย 1 ล้านชิ้น เพื่อส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด และ กทม. ให้บุคคลซึ่งไม่ใช่แพทย์ เน้นผู้ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง เช่น อสม. เจ้าหน้าที่บริการประชาชน เช่น อำเภอ ศาลากลางจังหวัยด ศูนย์ดำรงธรรม ตำรวจ-ทหารที่ตั้งด่านตรวจ และกลุ่มเสี่ยง คนชราอายุ 70 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย และเด็ก

โดยเวลา 17.00 น. วันนี้ (30 มี.ค.2563) จะมีรถยนต์ 70 คัน ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ขนหน้ากากอนามัยส่งไปยังจังหวัดต่าง ๆ ตามที่ได้รับจัดสรร

อย่างไรตาม หน้ากากอนามัยเหล่านี้จะยังไม่กระจายไปจำหน่ายแก่ประชาชน ขอให้อดทนรอ 3-4 วัน จากนั้นจึงจะจ่ายให้แก่ประชาชนและร้านค้า

ส่วนการส่งออกไปต่างประเทศนั้น โดยหลักการไม่มี เพราะเป็นสินค้าควบคุม
แต่ยกเว้น 3 กรณี คือ การส่งเสริมการลงทุนโดยบีโอไอ ทรัพย์สินทางปัญญา และเอฟทีเอระหว่างประเทศ

รองนายกรัฐมนตรี แถลงด้วยว่า นอกจากนี้ ยังจะมีการควบคุมสินค้าบางตัว เช่น ไข่ไก่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงห้ามส่งออกต่างประเทศ จะเพิ่มความเข้มข้นตั้งแต่ราคาออกจากฟาร์ม จะไม่เข้มงวดกับผู้ค้ารายย่อย แต่จะเข้มงวดผู้ค้าคนกลาง ขอความร่วมมือประชาชนไม่กักตุนเช่นกัน เพราะไข่ไม่ได้ขาด เนื่องจากผลิตได้วันละ 41 ล้านฟอง แต่มีการบริโภค 39 ล้านฟอง จึงมีเหลือ 2 ล้านฟอง เชื่อว่าอีกไม่กี่วันจะล้นตลาด

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"