X

อ่านชัด ๆ จะได้ไม่งง! ไม่ปิดเมือง! แต่สั่งปิดสถานบริการ กทม.-ปริมณฑล 18-31 มี.ค.

กรุงเทพฯ – ที่ประชุุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้สถานบริการในเขต กทม.และปริมณฑล หยุดบริการ 14 วัน ตั้งแต่ 18-31 มี.ค. งดหยุดสงกรานต์ 13–15 เม.ย. ชดเชยช่วงเวลาเหมาะสม พร้อมเห็นชอบมาตรการรองรับโควิด-19 ระบาด

วันที่ 17 มีนาคม 2563 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี 17 มี.ค.2563 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันและควบคุม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
โดยจะปิดพื้นที่เสี่ยงสูงบางส่วนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นเวลา 14 วัน ระหว่างวันที่ 18-31 มี.ค.63 อาทิ สนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ อาบอบนวด นวดแผนโบราณ โรงมหรสพ  

งดการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการระบาด เช่น คอนเสิร์ต งานแสดงสินค้า กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาให้ความเห็นชอบ

ลดความแออัดในการเดินทาง เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรค ด้วยการเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ วันที่ 13-15 เม.ย. ออกไปก่อน โดยจะชดเชยให้ภายหลังในช่วงเวลาที่เหมาะสม งดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัด ของหน่วยงานที่มีคนจำนวนมาก เช่น ค่ายทหาร เรือนจำ โรงเรียน หรือหากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายต้ องมีมาตรการป้องกันการแพร่ของโรค รวมถึงการจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวด้วย

ให้ทุกหน่วยงานพิจารณามาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน และทำงานที่บ้าน ส่งเสริมให้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต เช่น ประชุมทางไกล โดยให้หน่วยราชการทุกหน่วยทำแผนการทำงานจากบ้าน และรายงานผลการปฏิบัติงานต่อศูนย์โควิด-19 ด้วย

ครม.ยังเห็นชอบมาตรการด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย

มาตรการด้านสาธารณสุข
ให้จัดหาและเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็น ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับรับมือระยะ 3 ได้แก่ สถานพยาบาล เตียง หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัคร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือ และชุดป้องกันโรค

มาตรการป้องกัน
♦สำหรับชาวต่างชาติ ที่จะเดินทางเข้ามา ต้องดำเนินการ ดังนี้
– ขาเข้า ต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน
– ต้องมีประกันสุขภาพ
– มีที่พำนักที่สามารถติดต่อได้ในประเทศไทย
– ยินยอมใช้แอปพลิเคชั่นติดตามของรัฐ
– มาตรการนี้ใช้กับการเข้าเมืองทุกทาง ทั้งบก น้ำ อากาศ
– ตม.ดูหนังสือเดินทางของชาวต่างชาติว่า ประเทศก่อนประเทศสุดท้ายคือประเทศอะไรบ้าง เป็นเขตติดโรคหรือไม่ แล้วแจ้งให้กระทรวงมหาดไทย
– ถูกคุมไว้สังเกตอาการ 14 วัน

♦ห้ามข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เดินทางไปต่างประเทศ ยกเว้นมีเหตุจำเป็น และเตือนประชาชนให้งดการเดินทางไปในประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตโรคติดต่ออันตราย และพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง

♦แนะนำให้คนไทยที่พำนักอาศัยในต่างประเทศ ชะลอการเดินทางกลับประเทศไทย จนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศไทยจะดีขึ้น

♦ให้ปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น เช่น สถานที่ซึ่งผู้คนมาร่วมเป็นกิจวัตร เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันอาจแพร่เชื้อได้ง่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัย โรงเรียน โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบัน ให้ปิดชั่วคราว ตั้งแต่วันพุธที่ 18 มี.ค.63 เป็นวลา 2 สัปดาห์ และให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันโรคตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด

♦การประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นประจำปี เดือน เม.ย. ของภาคเอกชน ขอใเลื่อน/ให้วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ตามประกาศ คสช.ที่ 44/2557

มาตรการด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน
เร่งผลิตในประเทศและจัดหาจากต่างประเทศให้เพียงพอกับความต้องการ
– เร่งผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากากอนามัยผ้า เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการป้องกัน
– เร่งผลิตเจลแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น
– นำหน้ากากอนามัยของกลางที่ยึดได้ส่งศูนย์ฯ เพื่อกระจายต่อไป
– สำรวจความต้องการของเวชภัณฑ์ที่จำเป็น อาทิ ชุดป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (PPE) หน้ากาก N95 และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น
– จัดหาเพิ่มเติมให้เพียงพอ เช่น จะมีการตรวจสอบการขาย Online การกักตุน และการระบายของสินค้า และประสานกับต่างประเทศ

มาตรการ ด้านข้อมูล การสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ของรัฐบาลมาจาก 2 แหล่ง ได้แก่
– กระทรวงสาธารณสุข เป็นการแถลงเฉพาะด้านข้อมูลทางการแพทย์ การสาธารณสุข
– ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เป็นการแถลงภาพรวมในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง

มาตรการด้านต่างประเทศ การจัดตั้งทีมงานเพื่อดูแลคนไทยในต่างประเทศ
ให้กระทรวงการต่างประเทศ ใช้ประโยชน์จาก ทีมเฉพาะกิจ (Team Thailand COVID-19) ดูแลคนไทยในต่างประเทศ โดยมีเอกอัครราชทูตเป็นหัวหน้าทีม

มาตรการด้านการช่วยเหลือเยียวยา
♦กลุ่มธุรกิจ โรงงาน สถานประกอบการ โรงแรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านการท่องเที่ยวให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหามาตรการรองรับ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีที่ต้องชะลอการเลิกพนักงาน ลูกจ้าง อาทิ มาตรการช่วยเหลือการลดราคาห้องพักของธุรกิจโรงแรม

♦กลุ่มประชาชนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ให้กระทรวงการคลัง มหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงผู้ที่มีภาระในการผ่อนชำระ เช่น รถจักรยานยนต์ ฯลฯ เพื่อให้สถาบันการเงินผ่อนผันการชำระค่างวด  รวมถึงประชาชนที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่อยู่นอกระบบ (พ่อค้า แม่ค้า ลูกจ้างรายวัน ฯลฯ) กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และพิจารณามาตรการเพื่อนำเสนอเป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ในระยะที่ 2 ต่อไป

♦ให้กระทรวงการคลัง ยุติธรรม พาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลเข้มงวดเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ไวรัสโควิด เช่น หนี้นอกระบบ การบังคับคดี การขายฝาก

♦สร้างขวัญและกำลังใจให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์

ทั้งนี้ รัฐบาลจะประเมินสถานการณ์ทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจรายวันอย่างใกล้ชิดและรอบคอบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและปรับ/เพิ่มมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ขณะนี้ยังควบคุมสถานการณ์ และจะชะลอระยะ 2 ให้นานที่สุด โดยใช้มาตรการควบคุม ป้องกัน รักษา และสื่อสารในทุก ๆ ด้าน โดยถือว่าการแก้ไขปัญหา COVID-19 มีความสำคัญเป็นอันดับ 1 เพราะมีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนโดยตรง และเมื่อสถานการณ์บรรเทาเบาบางลงแล้ว รัฐบาลจะได้ฟื้นฟูผลกระทบด้านต่าง ๆรวมถึงด้านเศรษฐกิจต่อไป

ขอบคุณภาพประกอบจาก : http://www.pprinciple.net/

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"