X

ครม.เศรษฐกิจ เคาะ จ่ายเงินช่วยคนจน 2 เดือน ๆ 1,000 บาท พร้อมผยุงผู้ประกอบการ-ลดเลิกจ้าง

กรุงเทพฯ – คณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ชุดที่ 1 สรุปจ่ายเงินตรงช่วยผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร อาชีพอิสระ 2 เดือน เดือนละ 1,000 บาท

วันที่ 6 มีนาคม 2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม ว่า
กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบชุดที่ 1 ระยะสั้น ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการและประชาชน

โดยสนับสนุนเงินโดยตรงให้แก่ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน เบื้องต้น จะช่วยเหลือเดือนละ 1,000 บาท ผ่านระบบอีเพย์เมนต์ ซึ่งกระทรวงการคลังจะรวบรวมจำนวนผู้เข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุม คณะรัฐมนตรี สัปดาห์หน้า

ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อพยุงธุรกิจและลดปัญหาการเลิกจ้าง มี 4 มาตรการ ประกอบด้วย

1.ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
2.พักเงินต้น ขยายเวลาชำระหนี้ และผ่อนภาระดอกเบี้ย สำหรับลูกหนี้ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ
3.ส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้แก่ลูกหนี้ทุกกลุ่ม รวมถึงผ่อนปรนหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อต่าง ๆ และลดค่าธรรมเนียม ผ่อนปรนการชำระเงินขั้นต่ำสำหรับลูกหนี้บัตรเครดิต ระยะเวลา 2 ปี ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
4.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ผ่านเงินกองทุนประกันสังคม ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางภาษีอีก 4 ด้าน ประกอบด้วย

1.การคืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในประเทศเพื่อลดภาระชั่วคราว
2.มาตรการลดภาษีลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของเอสเอ็มอี ที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงิน
3.มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน โดยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำรายจ่ายค่าจ้างลูกจ้างมาหักรายจ่ายได้ 3 เท่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-31 กรกฎาคมนี้
4.มาตรการเร่งกระบวนการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังสั่งการให้กระทรวงการคลัง หารือกับสำนักงบประมาณ ถึงแนวทางการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในภาวะวิกฤติ รวมทั้งดูขั้นตอนการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐให้มีประสิทธิภาพ และให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. เร่งส่งเสริมความเชื่อมั่นตลาดทุน ชั่วคราว โดยปรับหลักเกณฑ์การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF ด้วยการปรับสัดส่วนวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน หรือตลาดหุ้นได้มากกว่าร้อยละ 65 ได้จนถึงเดือนมิถุนายน 2563 ระยะถือครอง 10 ปีเช่นเดิม

ให้ธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้แก่ธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยกู้ต่อในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 2.0

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : กรมประชาสัมพันธ์

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"