X

เร่งรัฐจัดงบฯ​ แก้ PM2.5 ภัยแล้ง ผ่านมาตรการกึ่งการคลัง

ปทุมธานี – ‘ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ’ แนะรัฐเร่งจัดสรรงบประมาณด่วน แก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 และเตรียมรับมือผลกระทบภัยแล้ง ด้วยมาตรการกึ่งการคลัง

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีมลพิษทางอากาศสูงสุดติดอันดับโลกแล้ว จึงต้องเร่งแก้ไขและจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบโดยเร่งด่วนที่สุด เนื่องจากผลวิจัยล่าสุด โดยสถาบันเพื่อสุขภาพโลก แห่งบาร์เซโลนา พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศกับโรคทางจิตเวช ภาวะกระดูกพรุน กระดูกเสื่อม ดวงตา พัฒนาการต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ นอกเหนือจากโรคระบบทางเดินหายใจ ปอด และหัวใจ และสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นตามลำดับเช่นนี้ จำเป็นจะต้องออกกฎหมายอากาศสะอาด หรือ Clean Air Act เพื่อให้สามารถออกมาตรการแก้ไขปัญหาได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อออกมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและต้องทำงานเสี่ยงภัย

นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัยในวารสาร เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการจัดการ (Journal of Environmental Economics and Management) ระบุว่า ระดับความรุนแรงของมลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอัตราการก่ออาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้นในท้องถิ่นนั้นอ โดยเฉพาะการทำร้ายร่างกาย ขณะที่ทีมนักเศรษฐศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และนักสถิติ จากมหาวิทยาลัยโคโรราโดสเตท สหรัฐอเมริกา พบว่า การลดระดับฝุ่นมลพิษ PM2.5 ลงได้ราววันละ 10 % จะช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐ ที่ต้องเสียไปกับการจัดการคดีอาชญากรรมได้ถึงปีละ 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 33 ล้านบาท

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ยังกล่าวถึงภัยแล้งว่า ขณะนี้ 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้ 4.17 พันล้าน ลบ. ม. หรือ เพียง 23 % เท่านั้น ค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น ผลกระทบของภัยแล้งต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จะรุนแรงจนทำให้อัตราการขยายทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ไตรมาสสองติดลบได้เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก โดยจะอยู่ในสภาพเช่นเดียวกับ จีดีพีไตรมาสสองปีที่แล้ว ที่ขยายต่ำสุดรายไตรมาสของปี ที่ขยายตัวเพียง 2.3 % แต่ในปีนี้อาจขยายตัวต่ำกว่า 2 % หากทางการไม่รีบเตรียมการรับมือ โดยเฉพาะผลผลิตข้าวนาปรังจะลดลงอย่างน้อย 50-60 % มาอยู่ที่ 3.5 ล้านตัน ทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น แต่เกษตรกรจำนวนหนึ่งจะขาดรายได้ในช่วงฤดูร้อน

นอกจากนี้ จะทำให้ราคาอาหาร เนื้อสุกร น้ำมันปาล์ม น้ำดื่มบรรจุ และราคาพืชผักผลไม้ ปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงเสนอให้รัฐเพิ่มงบประมาณและเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อลงทุนบริหารจัดการน้ำ รองรับผลกระทบภัยแล้ง ถ้าการเบิกจ่ายในระบบราชการล่าช้า ควรเพิ่มการใช้มาตรการกึ่งการคลัง ผ่านกลไกธนาคารของรัฐในรูปสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และเงินชดเชยช่วยเหลือ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"