X

นักวิชาการ ชี้ เศรษฐกิจไทย ปีนี้ ไม่วิกฤติถึงขั้นเผาจริง แต่ขอการเมืองนิ่ง

กรุงเทพฯ – ‘อนุสรณ์ ธรรมใจ’ ระบุ เศรษฐกิจไทย 63 จะกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ต้องระวังหลายปัจจัยเสี่ยง ทั้งสงครามสหรัฐ-อิหร่าน ซึ่งจะส่งผลราคาน้ำมันพุ่ง โรคระบาดกระทบท่องเที่ยว แต่ถ้าเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ ทุกอย่างอาจแย่ลง

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลกปีนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 3.5-3.6 % เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เติบโตเพียง 3 % (ต่ำสุดในรอบ 10 ปี) ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกล่าสุด เกิดจากความขัดแย้งทางการทหาร ระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน การขยายวงของวิกฤตและความขัดแย้งในตะวันออกกลาง จะกดดันให้ราคาน้ำมันและพลังงานเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี อาจแตะระดับสูงสุดนับแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว ซึ่งจะผลให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 20 % จากระดับราคาปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ จะสูงกว่า ที่คาดการณ์โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ซึ่งไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและทางการคลังเพิ่มขึ้น

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุอีกว่า อัตราการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกปีนี้ คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 3 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ที่ขยายตัวได้เพียง 1.2-1.2 % แต่เมื่อเทียบเป็นมูลค่าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงหดตัวหรือติดลบต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ขณะที่ผลตอบแทนตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดการเงิน ยังคงเป็นบวกจากสภาพคล่องทั่วโลกที่ยังสูงมาก และจะปรับเพิ่มขึ้นอีก จากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและธนาคารกลางจีน ราคาทองคำและดอลลาร์แข็งค่าปรับตัวสูงขึ้น จากปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง

ส่วนปัจจัยบวก คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน อาจจะไม่รุนแรงขึ้น แต่จะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นความขัดแย้งในการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญ โดยเฉพาะในสินค้าไฮเทคเทคโนโลยี จะเกิดสงครามค่าเงินมากขึ้น (Currency War) นอกจากนี้ อาจเกิดความขัดแย้งทางการค้า ประเด็นเรื่องการเก็บภาษีธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจออนไลน์ ระหว่างสหรัฐกับยุโรป ส่วน Brexit จะยืดเยื้อไปอีกนาน กว่าจะมีข้อตกลงกันได้

สำหรับเศรษฐกิจไทย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูงมาก อีกทั้งยังเติบโตต่ำกว่าศักยภาพติดต่อกันเป็นปีที่ 6 แต่ยังไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่หลายคนเรียกว่า ‘เผาจริง’ หรือวิกฤติเศรษฐกิจการเงินแบบปี 2540 เพียงแต่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจเติบโตต่ำต่อเนื่องยาวนาน อาจเกิดภาวะเลิกจ้างและว่างงานเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ จะอยู่ที่ 1.8-2.9 % ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีโดยเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยจะมีจีดีพีต่ำที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากสิงคโปร์ ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยอาจกระเตื้องขึ้นได้เล็กน้อย ถ้าภาคการลงทุนและภาคการส่งออกฟื้นตัว โอกาสที่เศรษฐกิจไทย จะขยายตัวได้ในระดับ 2.6-2.9 % ซึ่งเป็นกรอบด้านสูงของศูนย์วิจัยฯ มีความเป็นไปได้ ขณะที่กรอบการคาดการณ์ด้านต่ำ มีความเป็นไปได้มากกว่า คือ ขยายตัวต่ำกว่า 2 % เป็นผลจาก ปัจจัยลบ ดังนี้

1.วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ อันเป็นผลมาจากการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การขาดความเป็นธรรมในสังคม การสร้างกระแสเกลียดชังกันครั้งใหม่ ด้วยการปลุกกระแส ‘ชังชาติ’ ขึ้นมา หรือการให้ร้ายป้ายสีโดยไม่มีข้อเท็จจริง เรื่องแนวคิดการล้มล้างสถาบันหลักของประเทศ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคการลงทุน การบริโภคและภาคการท่องเที่ยว อย่างยากที่จะคาดเดาได้

2.สงครามระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ลุกลาม จนอาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นมากกว่า 20 % จากระดับปัจจุบันในช่วงไตรมาสแรก

3.ภาคการท่องเที่ยวของเอเชียและไทย อาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ ที่มีความรุนแรง แบบเดียวกับโรคซาร์สเมื่อ 17 ปีก่อน

4.ภัยแล้ง จะกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรกรรม จนทำให้ปริมาณผลผลิตโดยรวมขยายตัวติดลบได้ คาดว่าจะติดลบประมาณ -0.5 ถึง -1 % ทั้งปี โดยไตรมาสสอง อาจติดลบมากกว่า -1.5 % ขณะที่ราคาผลผลิตบางส่วน จะปรับตัวสูงขึ้นจากอุปทานลดลง ส่วนภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ

ขณะที่ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย

1.เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลก ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเล็กน้อย ส่งผลบวกต่อภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทยระดับหนึ่ง

2.งบประมาณปี 2563 ที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และต้องเร่งรัดการใช้จ่ายในระยะเวลาที่เหลืออีก 9 เดือน

3.ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคที่ยังดีอยู่ ทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้สินต่างประเทศระยะสั้นต่ำ การเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราเงินเฟ้อต่ำ

4.การดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและทางการคลัง

5.การเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ชี้ว่า ปัจจัยบวกเหล่านี้ ไม่ทำให้เกิดการกระจายตัวไปยังประชาชนส่วนใหญ่ และธุรกิจรายเล็กรายกลางมากนัก เพราะไทยไม่ได้ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ยังมีการผูกขาดสูง ขาดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ตลาดการแข่งขันไม่เสรีจริง สังคมผู้สูงวัยทำให้ผลิตภาพโดยรวมปรับลดลง โครงสร้างเศรษฐกิจยังคงพึ่งพาภายนอกสูง ขณะเดียวกัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะไม่ได้เน้นไปที่การสร้างงานสร้างรายได้ แต่เป็นเน้นการแจกเงิน ทำให้ประชาชนเสพติดประชานิยม ที่จะสร้างปัญหาฐานะทางการคลังในระยะต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"