X

‘ผักตบชวา’… จากวัชพืชสร้างปัญหา กลับสร้างมูลค่าสู่ชุมชน

‘ผักตบชวา’ ที่ใคร ๆ พากันเรียกว่า “สวะ” สร้างปัญหาให้แก่แม่น้ำ ลำคลอง ทั้งทำให้น้ำเน่าเสีย แหล่งน้ำตื้นเขิน กีดขวางการสัญจรทางน้ำ ส่งผลกระทบต่อการประมงพื้นบ้านและเลี้ยงปลาในกระชัง รวมถึงทัศนียภาพ และการท่องเที่ยว  การจัดเก็บหรือกำจัดก็ยากลำบาก เก็บไปไม่เท่าไหร่ก็กลับมางอกงามอีก การใช้คนเก็บเสียทั้งเวลาและกำลังแรงงาน ขณะที่การกำจัดด้วยการพ่นสารเคมี แม้ทำให้ผักตบชวาตายและจมน้ำ แต่ก็ส่งผลสารเคมีตกค้างในแหล่งน้ำ และทำให้แหล่งน้ำตื้นเขินเร็วขึ้น

พื้นที่เหนือเขื่อนภูมิพล เป็นอีกพื้นที่ที่ประสบปัญหาจากผักตบชวา เนื่องจากมีแม่น้ำสาขาจำนวนมากไหลมารวมกัน ทำให้ยากต่อการกำจัด ประชาชนจึงได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถสัญจรและทำประมงพื้นบ้านได้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวด้วย

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะที่ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ จึงคิดค้นนวัตกรรม ‘เครื่องกำจัดวัชพืชลอยน้ำแบบบดละเอียด’ ซึ่งสามารถกำจัดผักตบชวาและวัชพืชขึ้น เมื่อทำงานได้สำเร็จ จึงขยายนำไปใช้ที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำอื่น ๆ ของ กฟผ. โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งช่วยลดปัญหาผักตบชวากีดขวางทางน้ำ และลดผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าจากผักตบชวาไหลปิดกั้นร่องน้ำที่ไหลเข้าโรงไฟฟ้าด้วย

กังหันน้ำชัยพัฒนา ต้นแบบนวัตกรรม
‘เครื่องกำจัดวัชพืชลอยน้ำแบบบดละเอียด’
ของ กฟผ. มีลักษณะคล้ายเรือขนาดใหญ่ โดยนำหลักการทำงานของอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ มาประยุกต์ร่วมกัน เป็นลักษณะของเรือ 2 ลำ 1 ลำไว้กำจัดผักตบชวา อีกลำเป็นเรือบรรทุก ใช้คนขับ 1 คนต่อ 1 ลำ  หนึ่งในหลักการพัฒนานวัตกรรม ‘เครื่องกำจัดวัชพืชลอยน้ำแบบบดละเอียด’ นี้ คือ หลักการทำงานของ กังหันชัยพัฒนา อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 ที่คณะทำงานนำมาประยุกต์ใช้ ให้เครื่องสามารถขับเคลื่อน เดินหน้า ถอยหลัง พร้อมทั้งเพิ่มออกซิเจนให้น้ำไปในตัว

และธรรมชาติของผักตบชวาที่อยู่รวมกันหนาแน่น จึงต้องใช้ชุดตัดเปิดช่องผักตบชวา โดยดัดแปลงจากหลักการเครื่องตัดผมไฟฟ้า ใช้ฟันเฟืองสลับกับตัดเปิดช่อง ตัดผักตบชวาให้เป็นแพแยกออกจากกัน และดึงผักตบชวาขึ้นมาด้วยชุดลำเลียงหน้า โดยใช้หลักการเครื่องเกี่ยวข้าว มายังชุดลำเลียงกลาง เพื่อปั่น/บดละเอียดผ่านเครื่องบดละเอียด จากหลักการของเครื่องปั่นพริก ผักตบชวาที่ผ่านการบดละเอียดแล้ว จะถูกส่งขึ้นเรือบรรทุกโดยชุดลำเลียงท้าย เพื่อนำไปขึ้นฝั่งด้วยเรือบรรทุก

ความสามารถที่ไม่ธรรมดา ของเครื่องกำจัดวัชพืชลอยน้ำ  เครื่องนี้ สามารถกำจัดวัชพืชได้มากถึง 20 ตันต่อชั่วโมง ด้วยน้ำหนักเรือ 6 ตัน ขนาดกว้าง 3.50 เมตร ยาว 10 เมตร และสูงเพียง 2.8 เมตร ทั้งยังสามารถขับเคลื่อนด้วยระบบไฮดรอลิก เครื่องยนต์ดีเซล 85 แรงม้า ด้วยความเร็ว 1,500 รอบต่อวินาที แสดงให้เห็นว่า เพียงเวลาไม่นานจะสามารถกำจัดผักตบชวาได้ในวงกว้าง

เปลี่ยนวัชพืชสร้างปัญหา มาสร้างมูลค่าสู่ชุมขน ผักตบชวาทั้งหมดที่เก็บได้ จะถูกบดละเอียดและพ่นเชื้อจุลินทรีย์ (EM) ก่อนนำขึ้นฝั่ง จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เกิดการเน่าเสียของผักตบชวาที่จมลงใต้น้ำ หรือสารเคมีตกค้างเหมือนการพ่นน้ำยากำจัดวัชพืช

เศษผักตบชวาบดละเอียดทั้งหมด กฟผ.จะมอบให้ชุมชนนำไปทำประโยชน์ อาทิ อาหารปลา อาหารโคเนื้อ และปุ๋ยสำหรับเพาะเลี้ยงไส้เดือน เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนต่อไป

นวัตกรรม ‘เครื่องกำจัดวัชพืชลอยน้ำแบบบดละเอียด’ ของ กฟผ. นอกจากช่วยแก้ไขผลกระทบต่อประชาชน สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน  ตลอด 50 ปี กฟผ.พร้อมร่วมกับชุมชนแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชน ไปพร้อม ๆ กับการสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ที่นอกจากแสงสว่าง ยังสร้างสุข ให้แก่คนไทยทุกคน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"