X

ยูเอ็น พร้อมหนุน ‘ไทย’ เป็น ‘ศูนย์เรียนรู้ระบบอาหารและการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน และนมโรงเรียน’

โครงการอาหารโลกของยูเอ็นหนุนไทยเป็นศูนย์เรียนรู้ระบบอาหารและการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน และนมโรงเรียน พร้อมร่วมมือจัดทำ Big Data และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับไทย ‘อลงกรณ์ ยืนยัน สานต่อผลการหารือทั้ง 3 องค์กร

24 พ.ย.2562 สำนักที่ปรึกษาการเกษตรของไทย ประจำองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี รายงานว่า นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะ เข้าร่วมประชุมหารือกับผู้บริหารของยูเอ็น 4 ท่าน นำโดย Mr.David Kaatud ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือของโครงการอาหารโลก (World Food Programme หรือ WFP

นายอลงกรณ์ หารือถึงความเป็นไปได้ที่ WFP จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น ‘ศูนย์เรียนรู้ด้านระบบอาหาร (Food system)โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน และโครงการนมโรงเรียน’ (Knowledge hub on food system, home-grown school feeding and school milk programme) ในระดับภูมิภาค เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ของไทย แก่องค์กรระหว่างประเทศ และประเทศในภูมิภาค ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและไตรภาคี (South-South and Triangular Cooperation – SSTC) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย ซึ่งไทยมีองค์ความรู้ ประสบการณ์และนวัตกรรมเกษตร ที่พร้อมจะถ่ายทอดให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ร่วมกับ WFP เพื่อสานความร่วมมือที่แข็งแกร่งในการบรรลุเป้าหมายหยุดยั้งความหิวโหย(Zero Hunger) และภาวะทุพโภชนาการในระดับภูมิภาคต่อไป  ปัจจุบันไทยมีโครงการความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ตลอดจนประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก และประเทศในภูมิภาคแอฟริกาบางประเทศ

ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งทูตพิเศษของโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ ด้านโครงการอาหารโรงเรียน (Special Ambassador of WFP on School Feeding) ด้วย

ด้านนายเดวิด ผู้อำนวยการ WFP ระบุว่า โครงการอาหารโลกได้สนับสนุนโครงการอาหารในโรงเรียน (School Feeding) และโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน (School Milk Programmme) ให้แก่ประเทศต่าง ๆ กว่า 70 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยมีความรู้และประสบการณ์การดำเนินโครงการมาอย่างยาวนาน ซึ่งจะเป็นต้นแบบ และยินดีสนับสนุน พร้อมร่วมมือกับประเทศไทยให้เป็น ‘ศูนย์เรียนรู้ ฝึกอบรม และเผยแพร่วิทยาการ และการบริหารจัดการระบบอาหาร การเกษตรเพื่ออาหารกลางวันและนมโรงเรียนให้แก่ประเทศต่าง ๆ


นายอลงกรณ์และคณะ ยังได้ประชุมกับ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ FAO ด้านต่าง ๆ อีก 3 คน ประกอบด้วย ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ FAO ด้านประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ, ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และด้านเกษตรและปกป้องผู้บริโภค เพื่อขยายความร่วมมือกับโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ

โดยผู้บริหาร FAO แสดงความชื่นชมไทยในการช่วยพัฒนาประมงและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน (Blue Growth) จากความสำเร็จของไทยในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และการพัฒนาภาคเกษตรกรรม จนเป็นประเทศชั้นนำของโลกด้านเกษตรและอาหาร ทั้งนี้ FAO ให้ความสนใจอย่างมากต่อนโยบายและโครงการใหม่ ๆของไทย เช่น โครงการรีสอร์ตชุมชน โครงการฐานข้อมูล Big Data โครงการเกษตร 4.0 โครงการศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรโครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการเกษตรพาณิชย์ออนไลน์ ซึ่ง FAO จะขยายความร่วมมือกับไทยในกรอบทวิภาคี และในกรอบอาเซียน โดยคาดหวังว่าประเทศไทยจะช่วยถ่ายทอดเทคนิควิทยาการต่าง ๆ ให้แก่ประเทศต่าง ๆ ร่วมกับ FAO

นายอลงกรณ์ พลบุตร กล่าวตอบว่า ไทยในฐานะประธานอาเซียน และผู้ส่งออกอาหารทะเลอันดับต้นของโลก พร้อมที่จะกระชับความร่วมมือกับ FAO ในด้านเกษตร อาหารและการพัฒนาประมงและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน อีกทั้งพร้อมสนับสนุนด้านเทคนิควิชาการด้านเกษตรกับประเทศกลุ่มเป้าหมายของ FAO ภายใต้แนวทางความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ของผู้อำนวยใหญ่ ในทุกกรอบความร่วมมือ รวมทั้งโครงการใหม่ๆของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งตระหนักถึงการที่ดิจิทัลเทคโนโลยีทำให้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงเริ่มโครงการเกษตรอัจฉริยะสมาร์ตฟาร์ม ทั้งการผลิตและการค้าออนไลน์ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรคนรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) จะสามารถช่วยในเรื่องนี้ได้อย่างดี

ปัจจุบัน มีการใช้โซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์ม ที่เกิดอาชีพเกี่ยวเนื่องกับการเกษตรและอาหารในประเทศไทย เช่น ธุรกิจ Cloud Kitchen เป็นการทำธุรกิจร้านอาหารตามสั่งที่บ้านผ่าน Mobile Application และนำส่งลูกค้า (Delivery services) ทำให้การเข้าถึงอาหารได้ในปริมาณที่ต้องการ สะดวกรวดเร็ว และป้องกันอาหารเหลือทิ้ง (Food Waste) ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการขายสินค้าออนไลน์ได้เอง จะสามารถแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรจากพ่อค้าคนกลางได้

กระทรวงเกษตรฯ ยังจัดตั้งคณะกรรมการโลจิสติกส์เกษตร มีนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรี เป็นประธาน ทำหน้าที่ศึกษาการบริหารโลจิสติกส์ภาคเกษตร จากฟาร์มถึงผู้บริโภค รวมทั้งแก้ไขปัญหาอาหารสูญเสียและอาหารเหลือทิ้งด้วย

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปว่า ปัจจุบันไทยกำลังขับเคลื่อน ‘นโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0’ พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนการผลิตภาคเกษตร เช่น โครงการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (AgriTech and Innovation Center) มีเป้าหมายทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการบูรณาการของ 6 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษา สถาบันการเงิน กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งพร้อมเปิดศูนย์ทั่วประเทศภายในปีหน้า และโครงการ Quick Win บริการ 4.0 เพื่อพัฒนาระบบบริการและบริหารออนไลน์ ของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ แบบไร้เอกสาร (Paperless) เพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติการออกใบอนุญาตและการออกใบรับรอง เพื่อให้การบริการประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเปิดบริการทุกหน่วยงานในสังกัดภายในต้นปีหน้า ขอบคุณ FAO  ที่พร้อมจะสนับสนุนการพัฒนาระบบ Big Data และ AI รวมทั้งระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการเกษตรโดยจะรายงานผลการหารือกับทั้ง 3 องค์กร ของยูเอ็น ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เพื่อสานต่อข้อหารือครั้งนี้ ไปสู่การปฏิบัติโดยเร็วต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"