X

ทช.จับมือทุกภาคส่วนใช้ระบบประชารัฐจัดกิจกรรมป่า-เล ชุมชน เพิ่มรายได้ประมงชายฝั่ง ปักไม้ไผ่กันแนวคลื่น ขณะนักวิชาการ เตือนเล่นน้ำทะเลช่วงนี้ระวังแมงกระพรุนกล่องที่ระบาดหนักติดป้ายเตือนทุกชายหาด

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.สุราษฎร์ธานี  ว่าสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 สุราษฎร์ธานีร่วมกับทุกภาคส่วน นักเรียน นักศึกษาใช้ระบบประชารัฐจัดกิจกรรมป่า-เล ชุมชน เพิ่มรายได้แก่ชุมชนชายฝั่ง จำนวน 1,000 ไร่ ในพื้น 6 อำเภอชายฝั่ง ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำการฟื้นฟู ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์น้ำและ มีการสร้างกฎกติกาชุมชนในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงช่วยกันดูแล ป้องกัน /กิจกรรมงานเพาะชำกล้าไม้ป่าชายเลน เพื่อสนับสนุนชุมชนชายฝั่ง จำนวน 200,000 กล้า ดำเนินการในพื้นที่ อำเภอท่าฉางและอำเภอกาญจนดิษฐ์/ กิจกรรมจัดการสิ่งแวดล้อมเก็บขยะชายฝั่งทะเล และดำน้ำเก็บขยะในแนวปะการัง ดำเนินการในพื้นที่ ชายหาดและเกาะต่างๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 12 ครั้ง/กิจกรรมงานป้องกันแมงกะพรุนพิษ ดำเนินการในพื้นที่ เกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน และเกาะสมุย  อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการติดตั้ง ป้ายประชาสัมพันธ์ เสาน้ำส้ม 40 ชุด พร้อมทั้งติดตั้งตาข่ายป้องกันแมงกะพรุนพิษในพื้นที่เสี่ยง /กิจกรรมการสร้างบ้านปลาแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน จำนวน 50 จุด ดำเนินการใน 7 อำเภอชายฝั่ง สร้างแหล่งอาหารให้กับชุมชนชายฝั่งและกิจกรรมแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน  เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหา ดำเนินการในพื้นที่ ตำบลท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ ระยะทาง จำนวน  250 เมตร

นายวิชัย สมรูป  ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 สุราษฎร์ธานี  กล่าวว่าการปักไม้ไผ่เป็นการชะลอความรุนแรงของคลื่น  และเป็นการแก้ปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งที่มาตรการสีเขียวให้กลมกลืนกับธรรมชาติเนื่องจากระบบนิเวศอ่าวบ้านดอน โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลท่าทองอำเภอกาญจนดิษฐ์  และพื้นที่ตำบลชลครามอำเภอดอนสักสภาพเป็นหาดโคลน จะเห็นสภาพพื้นที่ถูกกัดเซาะมาเป็นเวลานานเป็น 10 ปี พบร่องรอยประตูนากุ้งไปอยู่ในทะเล และพบร่องรอยฐานรากของบ้านเรือนราษฎรไปอยู่ในทะเล  จากการวิจัยของนักวิชาการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบบนิเวศโคลนวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ก็คือการปักไม้ไผ่โดยวิธีการปักไม่ไผ่จะต้องปักไม้ไผ่จำนวน 5 แถวสลับกัน ผลจากการปักไม้ไผ่ก็จะช่วยชะลอความรุนแรงของคลื่นที่จะมากระทบชายฝั่ง และเป็นการทำให้ตะกอนโคลนรวมตัวกันหลังแนวไม้ไผ่ ธรรมชาติก็จะฟื้นตัวเองจนเป็นแผ่นดินและมีต้นไม้เกิดขึ้นเราก็จะขยับแนวไม้ไผ่ออกไปอีกจนทำให้เกิดป่าชายเลนแผ่นดินงอก เป็นการสร้างป่าสร้างแผ่นดินโดยตรงซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดของระบบนิเวศหาดโคลน

ในขณะที่ นางธันยพร   พูลสวัสดิ์   นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลางกล่าวว่าในช่วงเดือนกรกฎาคมถึง ตุลาคมจะมีแมงกะพรุนพิษจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่ริมชายหาด ทางเจ้าหน้าที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มีการรณรงค์ให้ผู้ประกอบการจัดเตรียมวางตาข่ายป้องกันแมงกะพรุนกล่องและน้ำส้มสายชูไว้รักษาพยาบาลในเบื้องต้น พร้อมมีการติดตั้งป้ายแจ้งเตือนในทุกๆหาดของเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ซึ่งจากการสำรวจในอดีตที่ผ่านมามีการพบแมงกะพรุนกล่องค่อนข้างน้อย แต่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพบตัวอย่างของแมงกะพรุนพิษเพิ่มมากขึ้นทุกปี   โดยบริเวณที่พบจะเป็น  เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า แต่ก็ใช่ว่าที่อื่นจะไม่เจอเนื่องจากการสำรวจยังไปไม่ถึง  และที่พบมากก็จะเป็นในช่วงนี้ด้วยเหตุคลื่นลมไม่รุนแรงและสงบซึ่งเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยวของ 3 เกาะค่อนข้างจะเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวจึงต้องมีมาตรการป้องกันพร้อมเร่งรณรงค์ให้รู้วิธีปฐมพยาบาลในเบื้องต้นแก่ผู้ถูกพิษแมงกะพรุน โดยมีการติดตั้งป้ายแจ้งเตือนและติดตั้งน้ำสมสายชู หากผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือได้อันตรายจากพิษแมงกะพรุนให้ราดน้ำส้มสายชูบริเวณที่ถูกพิษเป็นเวลา 30 วินาทีซึ่งจะช่วยให้เข็มพิษไม่แตกเพิ่ม และป้องกันไม่ให้รับพิษเพิ่มขึ้น แมงกะพรุนกล่องมีพิษร้ายแรงที่สุดหากเปรียบเทียบกับในประเทศออสเตรียก็มีพิษร้ายแรงพอกัน แต่แมงกะพรุนกล่องที่พบในประเทศไทยมีตัวค่อนข้างใหญ่กว่าและมีหนวดมาและค่อนข้างยาวจึงมีเข็มพิษจำนวนมากจึงทำนักท่องเที่ยวที่โดนพิษมีการเสียชีวิตที่เร็วขึ้น ซึ่งนางธันยพรได้กล่าวย้ำว่าผู้ที่ถูกพิษแมงกะพรุนกล่องห้ามไปขยี้หรือเอามือไปถูบริเวณที่ถูกพิษจะทำให้พิษแพร่กระจายเร็วขึ้น หากพบว่ามีอาการหายใจติดขัดให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

ด้านนายวิษณุ  แจ้งใจ ผอ.ส่วนส่งเสริมการมีส่วนร่วม สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 สุราษฎร์ธานี ระบุว่าในปีงบประมาณ 2562 จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการเพาะกล้าไม้จำนวน 200,000 กล้า จึงได้สำรวจพื้นที่เพาะชำกล้าไม้ไว้บริการแก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปโดยมีการคัดเลือกพื้นที่ชายฝั่งทะเลใน 7 อำเภอตั้งแต่  อ.ท่าชนะ อ.ไชยา อ.ท่าฉาง  อ.พุนพิน อ.เมือง  อ.กาญจนดิษฐ์และอำเภอดอนสัก เพื่อเป็นการรองรับต่อการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งแต่ละปีมีความต้องการกล้าไม้ไม่น้อยกว่า 300,000 กล้า ซึ่งปัจจุบันมีปลูกป่าชายเลนไปแล้วกว่า 100 ไร่

อย่างไรก็ตามสำหรับการสร้างบ้านปลาแบบภูมิปัญญาชาวบ้านในปีนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทางจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้สร้างบ้านปลาในพื้นที่ 7 อำเภอชายฝั่งจำนวน 50 จุดโดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดีรวมทั้งอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ซึ่งขณะนี้การดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วทั้ง 50 จุด จากการสอบถามชาวประมงพื้นบ้านพบว่าในแต่ละพื้นที่มีสัตว์เข้ามาอยู่อาศัยและมีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศเพิ่มขึ้นสามารถจับสัตว์น้ำไปขายสร้างรายให้แก่ครอบครัวเป็นอย่างดี

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน