สุราษฎร์ธานี-เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการ“ทิ้งไปเสียดายแย่” รับน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว แลกเป็นน้ำมันพืชใหม่ 2 กิโลกรัม แลกได้ 1 ลิตร ทุกวันศุกร์ 13.00 – 15.00 น. ที่เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี
เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (30 ต.ค.67) ที่ห้องประชุมเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี นายประเสริฐ บุญประสพ นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นายทักษิณ ลี ผู้อำนวยการธุรกิจโรงงาน บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด ในเครือ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PCE ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อร่วมกันดำเนินโครงการ “ทิ้งไปเสียดายแย่” เพื่อร่วมกัน รับน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากชุมชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงไบโอดีเซล โดยมี ข้าราชการเจ้าหน้าที่ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ตลอดจน สื่อมวลชนจำนวนมากร่วมเป็นสักขีพยาน
นายประเสริฐ บุญประสพ นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า การดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ด้านการจัดการขยะและของเสียจากต้นทางตั้งแต่ครัวเรือน โดยส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่คัดแยกขยะ แล้วนำมาแลกสิ่งของ หรือ ฝากเข้าธนาคารขยะ ทุกวันศุกร์ และ การร่วมมือของ PCE ในครั้งนี้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง กับประชาชนในพื้นที่ และส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการลดมลภาวะ และดูแลสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นร่วมกัน
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับโครงการ “ทิ้งไปเสียดายแย่” นั้น ประชาชนสามารถนำน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว มาแลกเป็นน้ำมันพืช ตรา รินทิพย์ ในอัตรา น้ำมันใช้แล้ว 2 กิโลกรัม แลกได้ น้ำมันใหม่ได้ 1 ขวด (1 ลิตร) ทุกวันศุกร์ เวลา 13.00 – 15.00 น. หน้าตึกทะเบียนราษฎร์เก่า เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี
นายทักษิณ ลี ผู้อำนวยการธุรกิจโรงงาน บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด ในเครือ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PCE กล่าวว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้ สอดคล้องกับ ความมุ่งหมายของบริษัทที่มุ่งมั่นในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนและสนับสนุนหลักการ ESG (Environmental, Social, and Governance) ของบริษัท เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการใช้เชื้อเพลิงหมุนเวียนและการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด ในเครือ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีเทคโนโลยีในการนำน้ำมันใช้แล้ว มาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งมีการปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ยังช่วยขจัดปัญหาการจัดการของเสียที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนอีกด้วย”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: