X

“แทงสัก หนำข้าว” ลงแขกปลูกข้าวไร่ ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวไชยา

สุราษฎร์ธานี-นายอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำชาวบ้าน “แทงสัก หนำข้าว”ลงแขกปลูกข้าวไร่ ฟื้นฟูภูมิปัญญาถิ่นใต้ชาวไชยา สู่เยาวชนรุ่นหลัง

ที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี หลังจากที่ฝนทิ้งช่วงหยุดตกในช่วงเช้า นายชวลิต โรจนรัตน์ นายอำเภอไชยา พร้อมด้วย กำนันผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในพื้นที่ ร่วม กัน “แทงสัก หนำข้าว” หรือการลงแขกปลูกข้าวไร่ที่บริเวณ บ้านหนองผักบุ้ง ซอย แหลมทอง ม.7 ต.ปากหมาก อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี  เนื้อที่ประมาณ15ไร่

เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ที่เรียกกันว่า “แทงสัก หนำข้าว” หรือ การปลูกข้าวไร่ เช่นข้าวหอมบอน   โดยนายอำเภอไชยาและผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้านในพื้นที่ และจิตอาสาช่วยกันรื้อฟื้นวิถีปลูกข้าวของคนสมัยก่อน ด้วยการลงแขก หนำข้าวไร่หรือปลูกข้าวไร่กัน

 

การหนำข้าว เริ่มจากการใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งดินให้เป็นหลุม ชาวใต้เรียกว่า “แทงสัก” โดยเรียกอุปกรณ์นี้ว่า “ไม้สัก” ผู้ชายจะเป็นคนแทงสักคือใช้ไม้กระทุ้งลงไปในดินให้เป็นหลุม   ส่วนผู้หญิงจะใช้ “กระบอกหนำข้าว” เป็นกระบอกไม้ไผ่ที่ใช้สำหรับใส่เมล็ดพันธุ์ข้าวหยอดลงหลุม แต่ละหลุมหยอดพันธุ์ข้าวประมาณ 4-5 เมล็ด หนำข้าวจนเต็มพื้นที่จัดเตรียมไว้และจะปลูกกันในช่วงเดือน 6 ช่วงที่มีฝนตก ซึ่งใช้เวลา 3 เดือนก็จะเก็บข้าวไร่ได้ ชาวบ้านจะลงแขกกันเก็บเกี่ยว และแบ่งข้าวไปรับประทานกัน เป็นการสืบสานวัฒนธรรม เป็นการช่วยกันสรรค์สร้างสังคมให้เกิดความสันติสุข

 

นายชวลิต โรจนรัตน์ นายอำเภอไชยา  กล่าวว่า กิจกรรมปลูกข้าวไร่ หอมบอน นี้เป็นวิถีของคนสมัยก่อน ใช้วิทีทำไร่ทำนาเพื่อเลี้ยงครอบครัวและดำเนินชีวิตตามหลักความพอเพียง ข้าวไร่เป็นพันธุ์ข้าวพิเศษที่ใช้น้ำน้อยหรือแทบไม่ต้องใช้น้ำเลย โดยแต่ละพื้นที่จะใช้ไม่เหมือนกัน และตามความเชื่อของคนสมัยก่อนที่เล่าต่อๆกันมาว่า ข้าวเปลือกที่อยู่ในกระบอกที่ใช้”หนำข้าว”ถ้าเหลือไม่มากและจะต้องเติมใส่กระบอกใหม่  ต้องเทข้าวเปลือกในกระบอกเดิมออกให้หมดก่อน ตามความเชื่อไม่งั้นข้าวจะสุกไม่พร้อมกัน

 

การหนำข้าว หรือการปลูกข้าวไร่ นั้นนิยมปลูกกันในพื้นที่ว่างระหว่างร่องยางพารา ซึ่งต้องเป็นต้นยางที่มีขนาดเล็กถึงจะปลูกได้เป็นการใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์  สังคมปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่รู้จักการปลูกข้าวแบบนี้ ถือเป็นวิถีของภูมิปัญญาชาวบ้านสมัยก่อน เป็นเรื่องดีที่หมู่บ้านแห่งนี้ได้ฟื้นฟูการหนำข้าวนี้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จัก เพราะการหนำข้าวเริ่มลดน้อยลงจนแทบไม่เหลือให้เห็น  ถือเป็นเรื่องดีที่ต่อไปพื้นที่แห่งนี้ จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้แก่คนรุ่นหลังเพื่อสืบสาน ภูมิปัญญาต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน