X

ชงท่าเรือน้ำลึกดอนสักแห่งที่ 2 รองรับการส่งออกเชื่อมอ่าวไทยอันดามัน

สุราษฎร์ธานี-จ.สุราษฎร์ธานีประชุมเสนอผลการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นเพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึกดอนสักแห่งที่ 2 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เมื่อวานที่ผ่านมา (23 มิ.ย.65 )ที่ห้องประชุมเมืองคนดี ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายประเวศ ไทยประยูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานประชุมเสนอผลการศึกษา โครงการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น เพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึกดอนสักแห่งที่ 2 จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีนายดนัย คำนึงเนตร วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ ประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ พร้อมตัวแทนของกรมเจ้าท่า หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานต่าง ๆที่เกี่ยวข้องประมาณ 150 คน

สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น เพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึกดอนสักแห่งที่ 2 จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมเจ้าท่า ได้ก่อสร้างท่าเรืออเนกประสงค์ดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2549 รองรับเรือได้ขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ประกอบไปด้วย ท่าเรืออเนกประสงค์ กว้าง 10 เมตร ยาว 371 เมตร จำนวน 1 ท่า ท่าจอดเรือเฟอร์รี่พื้นที่ 1,460 ตารางเมตร จำนวน 2 ท่า อาคารบริการ เขื่อนป้องกันตลิ่งและถนนทางเข้า ท่าเรือดังกล่าวช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการขนส่งทางน้ำ ทั้งผู้โดยสาร สินค้า และรถยนต์ ก่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ ท่าเรืออเนกประสงค์ดอนสัก ปัจจุบันประสบปัญหาที่สำคัญ คือ ความยาวหน้าท่าไม่เพียงพอในการรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ อีกทั้งร่องน้ำตื้นเขินมีความลึกไม่เพียงพอ มีสันดอนใต้น้ำ การสัญจรของเรือเข้า – ออกท่าเรือในบางครั้งต้องรอระดับน้ำขึ้นน้ำลง และไม่สามารถรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นปัญหาสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ ทำให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเสียโอกาสทางการแข่งขันทางธุรกิจ และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในระยะยาวอีกด้วย ทั้งภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้รวมตัวกันขอให้กรมเจ้าท่าพัฒนาปรับปรุง และขยายท่าเรืออเนกประสงค์ดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้สามารถรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ที่มีความต้องการเข้าจอดเทียบท่าได้

 

ดังนั้นการพัฒนาท่าเรือในบริเวณดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นการพัฒนาโครงข่ายด้านโลจิสติกส์ทางทะเล ให้เกิดการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ สอดรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งเป็นการพัฒนาศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยให้ดีขึ้นด้วย ยังเป็นการเชื่อโยงการขนส่งทางน้ำระหว่างภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นปัจจัยที่จำเป็นและสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ และรองรับการขยายตัวด้านการส่งออก ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม กรมเจ้าท่า ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงได้กำหนดให้มีการดำเนินการจัดประชุมการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นในครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อเสนอผลการศึกษาของโครงการ ทั้งด้านการศึกษาประเภทและปริมาณสินค้าที่ผ่านท่าเรือ การศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น ทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม สิ่งแวดล้อมและสังคมให้ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียจากโครงการ ได้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลการออกแบบเบื้องต้น ท่าเรือน้ำลึกดอนสักแห่งที่ 2 และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาใช้พิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด

ด้านนายจักรกฤษณ์ ฝั่งชลจิตร์ นายอำเภอดอนสัก กล่าวว่า โครงการดังกล่าวสามารถพัฒนาด้านเศรษฐกิจด้านการส่งออกในอนาคตได้โดยสามารถเชื่อมโยงทางรถไฟสายสุราษฎร์ธานีไปยังฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงด้านการพัฒนาเศรษฐกิจได้มากขึ้นและสามารถขยายการสร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่ได้มากขึ้นอีกด้วย เพราะ จ.สุราษฎร์ธานีเองเป็นเมืองท่องเที่ยว.

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน