X

เขื่อนป่าสักยังคงวิกฤติหลังฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำลดต่ำสุดจนเนินเห็นดินโผล่กลางเขื่อน

ปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักยังคงวิกฤติหลังจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ล่าสุดปริมาณน้ำสะสมอยู่ในอ่างเก็บน้ำร้อยละ 4.82 เปอร์เซ็นต์ หรือมีน้ำสะสมอยู่ที่ 46 ล้าน ลบ.ม. จากความจุทั้งหมดที่ 960 ล้าน ลบ.ม. โดยไม่มีฝนตกลงมาในลุ่มน้ำป่าสักเลยทำให้ไม่มีน้ำไหลลงอ่างของเขื่อนป่าสักฯ แต่ทางเขื่อนป่าสักจำเป็นต้องระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนเพื่อรักษาระบบนิเวศและใช้ในการอุปโภคบริโภค จากสภาพน้ำที่ลดลงของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในปีนี้ทำให้มองเห็นชุมชนเก่า บ้านเรือน วัด ที่ถูกน้ำท่วมจมอยู่ใต้เขื่อนโผล่ขึ้นมาให้ได้เห็นอีกครั้งในรอบหลายปี

สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จังหวัดลพบุรี ในปีนี้มีปริมาณน้ำน้อยเท่ากับปี 2558 ที่แล้งหนัก มีปริมาณน้ำสะสมอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน และขณะนี้ทางเขื่อนป่าสักได้มีการทำกาลักน้ำ เพื่อผันน้ำไปช่วยหมู่บ้านท้ายเขื่อนให้ใช้ในการอุปโภคบริโภค เนื่องจากปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้อย กรมชลประทาน โดย สำนักงานชลประทานที่ 10 จึงได้ดำเนินการส่งน้ำให้กับพื้นที่ 3 อำเภอ ของจังหวัดลพบุรี ได้แก่ อำเภอสระโบสถ์ อำเภอโคกเจริญ และอำเภอโคกสำโรง โดยทำการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ส่งน้ำตามระบบท่อ ไปยังพื้นที่ดังกล่าว อำเภอละ 10,000 ไร่ รวมพื้นที่กว่า 30,000 ไร่


ในขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำได้ลดระดับลง จึงส่งผลให้การเดินเครื่องสูบน้ำทำได้อย่างจำกัด จากปกติเคยสูบได้วันละ ประมาณ 20,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ตอนนี้สูบได้เพียงวันละประมาณ 8,333 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ถึงอย่างไรก็ตามปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ยังคงเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของราษฎรในพื้นที่ ขอให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างประหยัด ในส่วนของภาคเกษตรขอให้รอใช้น้ำฝน

ซึ่งจากปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักฯ ที่ลดลงจนเห็นโขดเนินต่างๆ สันดอนดินโผล่กลางเขื่อนเป็นแนวยาว จนรถจักรยานยนต์สามารถขับไปถึงกลางเขื่อนได้ ทำให้เห็นเสาบ้านเรือนราษฎรที่เคยอาศัยอยู่พื้นที่นี้ รวมถึงซากวัดหนองบัว ที่ยังคงเหลือเป็นโครงสร้างที่จมอยู่ใต้เขื่อนกว่า 20 ปี โผล่ขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดเจน นักท่องเที่ยว ต่างลงเรือเล็กของชาวประมง หรือเดินลัดเลาะจนถึงวัดหนองบัว (ใหญ่)หรือบ้านคำพราน ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม ลพบุรี ซึ่งอดีตเคยเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อน นักท่องเที่ยวต่างถ่ายภาพบันทึกถึงวิกฤติความแห้งแล้ง ที่ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนักเก็บไว้ในความทรงจำ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน