X

“กระแสสินธุ์พร้อมเป็นเจ้าบ้านที่ดี”เปิดเมืองรับการท่องเที่ยว

พลังความร่วมมือของตัวแทนเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ของพี่น้องชาวอำเภอกระแสสินธุ์เตรียมความพร้อมเป็นเจ้าบ้านที่ดีด้วยความเป็นมิตร มีความเชื่อมั่น รอบรู้เรื่องราวในท้องถิ่น พร้อมให้การตอบรับ ดูแลผู้มาเยือนหรือนักท่องเที่ยวให้มีความสุข และรู้สึกปลอดภัย ด้วยศักยภาพโดดเด่นมีอัตลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน“กระแสสินธุ์เมืองท่องเที่ยวเชิงวิถีก้าวสู่มาตรฐานระดับสากล

ภาพความพร้อมจากตัวแทนเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ของพี่น้องชาวอำเภอกระแสสินธุ์ในฐานะ “เจ้าบ้านที่ดี”เพื่อให้การต้อนรับคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นายภูมิศิษฏ์ คงมี นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง นายพิบูลย์ รัชกิจประการ นายวรศิษฏ์ เลียงประสิทธิ์ ส.ส.สตูล นายคงฤทธ์ ฉัตรมาลีรัตน์ ส.ส.พังงา แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายณัฏฐ์ชน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส.ส.สงขลา ว่าที่ร.ต.ไกรธนู แกล้วทนง สจ.เขต.อ.ระโนด จ.สงขลา ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.พัทลุง และพื้นที่ อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ลงพื้นที่พื้นที่สำรวจเส้นทางการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ตามโครงการสะพานเกาะใหญ่-แหลมจองถนน ซึ่งก่อนหน้านี้ทีมที่ปรึกษาจากกรมทางหลวงชนบท และตัวแทนผู้นำท้องถิ่นจากพัทลุงได้ลงสำรวจเส้นทางก่อสร้างสะพานเกาะใหญ่-แหลมจองถนนด้วยเช่นกัน

นายโยธิน ทองเนื้อแข็ง ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนผู้ประกอบการในพื้นที่และในฐานะเจ้าบ้านที่ดี ร่วมให้การต้อนรับพร้อมนำคณะลงพื้นที่ในช่วงบ่ายของวันที่ 14 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา บรรยากาศการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรีและการต้อนรับในพื้นที่มีสีสันความคึกคักและความภูมิใจของชาวบ้านกระแสสินธุ์ 1ใน 16 อำเภอของจังหวัดสงขลา ดินแดนบนคาบสมุทรสทิงพระ นอกจากการทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่ดีแล้ว ยังสะท้อนถึงโอกาสและความพร้อมในศักยภาพเชิงพื้นที่ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนมีความสำคัญได้รับการขับเคลื่อนพัฒนาร่วมสงขลา-พัทลุง จากความคืบหน้าการลงพื้นที่สำรวจเส้นทางการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา จากพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ไปยังพื้นที่รอยต่อระหว่างหมู่ที่ 2,8 ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ระยะทาง ประมาณ 6 กิโลเมตร ผิวจราจรกว้าง 12 เมตร โดยใช้งบประมาณดำเนินงานประมาณ 3,000 ล้านบาท

“โดยส่วนตัวผมมองว่า โครงการสะพานเกาะใหญ่-แหลมจองถนน เกิดแน่นอนเนื่องจากทุกภาคส่วน ให้ความร่วมมือและติดตามผลอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญทั้งด้านการอนุมัติงบประมาณ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่างสั่งการให้เดินหน้าคู่ขนานไปทุกๆ ด้าน ที่สำคัญแม่งานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงคือกรมทางหลวงชนบท ได้ตั้งทีมทำงานและจ้างบริษัทที่ปรึกษาลงพื้นที่แล้ว ซึ่งเป็นโอกาสดีของพี่น้องสงขลา-พัทลุงโดยเฉพาะกระแสสินธุ์บ้านเราได้รับการพัฒนาเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ”โยธิน ทองเนื้อแข็ง บอกเล่าความรู้สึกในฐานะตัวแทนภาคเอกเอกชนและผู้ประกอบการในพื้นที่และติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

เขาย้ำอย่างภูมิใจว่ากระแสสินธุ์เป็นบ้านเกิดเมื่อมีโอกาสทำหน้าที่ร่วมกับพี่น้องประชาชน ตลอดจนตัวแทนผู้นำเครือข่ายต่างๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านและให้การต้อนรับคณะรัฐมนตรีลงพื้น การต้อนรับอย่างอบอุ่น ย่อมทำให้ผู้มาเยือนเกิดความประทับใจ ที่สำคัญการลงพื้นที่ทำให้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทั้งคณะรัฐมนตรีและพี่น้องได้มีโอกาสสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ร่วมกันในแง่ของประโยชน์การก่อสร้างสะพานการร่นระยะทาง ประหยัดค่าใช้จ่ายในการสัญจรไปมาของพี่น้องชาว อ.กระแสสินธุ์ และอำเภอใกล้เคียงของ จ.สงขลา มายังพื้นที่ อ.เขาชัยสน อ.บางแก้ว และพื้นที่ใกล้เคียงของ จ.พัทลุง ที่สำคัญเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลาทั้ง จ.พัทลุง และ จ.สงขลา สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่น้องประชาชนทั้ง 2 จังหวัด และเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมทะเลสาบสงขลาทั้งใน จ.พัทลุง และ จ.สงขลา ให้มากขึ้น

เสน่ห์ของกระแสสินธุ์คือความงดงามแบบเรียบง่ายในเชิงวิถีชีวิตแบบพื้นบ้าน อาหารการกินแบบพื้นถิ่นปักษ์ใต้ ทรัพยากรทางธรรมชาติของพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลาซึ่งมีทั้งป่า ภูเขา ทะเล นาข้าว ทุ่งตาลโตนด ผสมผสานโดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะ ภาพมิติทางด้านวัฒนธรรมในสังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่ผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์ สั่งสม บ่มเพาะ พัฒนาผ่านห้วงกาลเวลาอันยาวนาน แล้วนำไปถ่ายทอดประยุกต์ใช้อย่างสอดคล้องตอบสนองความต้องการของแต่ละชุมชน ทำให้เกิดวัฒนธรรมย่อยที่ประพฤติปฏิบัติแตกต่างกันบ้างหรือเกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม  ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมธรรมชาติและอิทธิพลของการปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอก ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ที่ร่วมกันในสังคมหรือชุมชน และความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติ สิ่งที่ไม่สามารถสัมผัสได้ทั้งหลาย เป็นความหลากหลายและแตกต่างที่งดงาม ด้วยศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนกระแสสินธุ์ สามารถส่งเสริมพัฒนาเมืองท่องเที่ยวเชิงวิถีที่ได้มาตรฐานระดับสากล

การเตรียมความพร้อมของธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจะทำให้เกิดโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจในกลุ่มท่องเที่ยวมากขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นสิ่งสำคัญที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวให้มากขึ้น โดยที่ขณะนี้วิกฤตการณ์ในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศในแถบเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ตรงกลางแวดล้อมด้วยประเทศต่าง ๆ ถือเป็นข้อได้เปรียบ ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นทั้งในเรื่องความสะดวกสบาย ในเรื่องความปลอดภัยและทรัพย์สิน การท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานจะทำให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์ในเรื่องของธุรกิจการท่องเที่ยว

การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ จะต้องอาศัยการสนับสนุนจากรัฐบาล ในขณะเดียวกันภาคประชาชนในชุมชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ต้องเพิ่มขีดความสามารถของตนเองให้มากขึ้น ทั้งนี้ในภาพรวมใหญ่ต้องอาศัยรัฐบาลเป็นผู้วางโครงสร้างพื้นฐานองค์ประกอบพื้นที่รองรับการท่องเที่ยวทั้งระบบถือเป็นการสนับสนุนให้การท่องเที่ยวสามารถไปด้วยดี และทำให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ได้แก่ ระบบสาธารณูปโภคด้านต่างๆ ระบบการสื่อสารและโทรคมนาคม ระบบการขนส่ง ระบบสาธาณสุข และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่จะช่วยให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายและมีความสุข สิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญประกอบด้วย ที่พักแรม อาหารและสถานบันเทิง การบริการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สินค้าที่ระลึก ระเบียบการเข้า-ออกประเทศ

โยธินเปิดเผยย่างน่าสนใจว่า“ในส่วนของภาคประชาชนในชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่นอกจากการทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่ดีแล้วต้องเพิ่มขีดความสามารถของตนเอง เพื่อให้สามารถตอบสนองนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความพึงพอใจให้แก่นักท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนาทรัพยากรบุคคลการพัฒนาทรัพยากรบุคคลมีการพัฒนาศักยภาพการเรียนด้านบริการการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องที่ได้มาตรฐาน ปัจจุบันการศึกษาเป็นการเรียนรู้ด้วยหลักสูตรต่างๆ มากมาย ง่ายและสะดวกต่อการพัฒนาบุคลากรในลักษณะของ การฝึกอบรม คนในชุมชนของเรามีความพร้อมทั้งในแง่ของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ การเปิดรับข้อมูลข่าวสาร การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่สำคัญกระแสสินธุ์มีศูนย์เรียนรู้ชุมชนหากส่งเสริมและสนับสนุนให้ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อรองรับด้านการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐาน และในอนาคตลูกหลานของพี่น้องชาวกระแสสินธุ์เมื่อมีโอกาสสามารถกลับมาทำงานที่บ้านเกิด เพราะมีงานมีอาชีพรองรับ ลูกหลานของเราจะได้ร่วมกันพัฒนาชุมชนของเราอย่างต่อเนื่อง พัฒนาด้านการท่องเที่ยวเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพด้านการท่องเที่ยวชุมชนในรูปแบบต่าง ชุมชนจะเกิดความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตัวเองแบบยั่งยืนได้ในที่สุด”

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

korphai ริมภู

korphai ริมภู

* นักเขียนอิสระ * นักข่าวอิสระ