X

จับตา “ด่านสะเดาประตูการค้าสู่มาเลย์”ปี 66 พร้อม!

สกู๊ป-การลงพื้นที่ติดตามและเร่งรัดการเปิดใช้ด่านสะเดาของ“นิพนธ์” นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย นายกอบจ.สงขลา “ไพเจน มากสุวรรณ์” พร้อมคณะ หลังตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ จังหวัดสงขลา ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาบูรณาการร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  พร้อมใช้ได้ภายในปี 2566 สั่งกำชับ ต้องเปิดบริการทั้งส่วนทางหลวงมอเตอร์เวย์ และด่านใหม่เต็มรูปแบบหลังรัฐทุ่มกว่า 2 พันล้าน รองรับการขยายค้าแดน “ไทย-มาเลย์” นำรายได้เข้ารัฐร่วม 4 แสนล้าน/ปี

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมพระนิกรบดี ชั้น 2 อาคารสำนักงานด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ อ.สะเดาะ จ.สงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานการประชุมเร่งรัดแก้ไขปัญหาการเปิดใช้ด่านสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ระบบ ZOOM

การประชุมนี้มีวาระสำคัญหลายเรื่อง ทั้งการรายงานความคืบหน้า ปัญหา อุปสรรคในการเปิดจุดเชื่อมของด่านสะเดา หรือด่านนอกแห่งใหม่ ที่ชาวบ้านเรียกกัน จุดเชื่อมใหม่ระหว่างไทย-มาเลเซีย ปัจจุบันด่านสะเดาได้ดําเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จมาเกือบ 2 ปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 2,200 ล้านบาท เพราะเป็นด่านการค้าชายแดนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งส่งออกและนำเข้ารวมมูลค่า 400,000 ล้านบาท รัฐบาลให้ความสำคัญกับด่านแห่งนี้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถเปิดทำการได้เพราะการเจรจาเรื่องจุดเชื่อมผ่านแดน แต่ขณะนี้ได้ข้อยุติแล้ว แม้ผ่านมามีความล่าช้าเพราะติดสถานการณ์ โควิด-19 ทางรัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย ได้นำเสนอไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปลายเดือนต.ค. โดยประธานได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ามาดูด้วย

“ในที่ประชุมได้ข้อสรุป ให้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ โดยทางจังหวัดสงขลาเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาลตำบลสำนักขาม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมศุลกากร และกรมทางหลวง หารือร่วมถ้าได้ข้อยุติชัดเจนจะขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลต่อทั้งนี้คาดว่า การก่อสร้างด่านนี้จะแล้วเสร็จในปี 2566 และเปิดใช้บริการได้แน่ พร้อมกับถนนมอเตอร์เวย์ในส่วน 6 กิโลเมตรของกรมทางหลวง ซึ่งตัวแทนกรมทางหลวงยืนยันว่า จะสามารถเปิดใช้บริการได้ในช่วงปลายปี 2565 ตนจึงเร่งรัดว่าให้ทั้ง 2 ส่วนสามารถเปิดใช้งานพร้อมกันให้ได้ เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับพี่น้องประชาชนในปี 2566 เพื่อสามารถรองรับการค้าชายแดนไทย-มาเลย์ อย่างเต็มรูปแบบต่อไป”นายนิพนธ์ กล่าว

นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกอบจ.จังหวัดสงขลา ร่วมประชุมหารือ พร้อมร่วมลงพื้นที่เร่งรัดแก้ไขปัญหาการเปิดใช้ด่านสะเดา พร้อมร่วมพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อยกระดับการค้าชายแดนและความร่วมมือในมิติต่างๆ การบริหารจัดการด่านการค้าชายแดน โดยเฉพาะความร่วมมือด่านศุลกากรสะเดาเป็นด่านศุลกากรชายแดนที่มีมูลค่าการนำเข้าส่งออกสินค้าสูงที่สุดในประเทศไทยเป็นประตูเชื่อมการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ

“อบจ.สงขลากำหนดนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนที่ชัดเจน อำเภอสะเดาในฐานะพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลย์ พื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจสำคัญโดยมีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่อำเภอสะเดาสามารถรองรับการให้บริการที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอกับปริมาณการค้าเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งท้ายที่สุดต้องให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ชายแดนใต้ การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาด่านสะเดาจะเป็นการชพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่การสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม”

สงขลาจังหวัดที่มีมูลค่าการค้าชายแดนกับประเทศมาเลเซียสูงที่สุด มีด่านศุลกากรชายแดนที่สำคัญคือด่านสะเดา ด่านสะเดาในพื้นที่อำเภอสะเดา ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล คือตำบลสะเดา ตำบลสำนักขาม ตำบลสำนักแต้ว และตำบลปาดังเบซาร์เป็นจุดผ่านแดนที่สำคัญ 2 จุดเพื่อผ่านไปยังประเทศมาเลเซีย มีพื้นที่ติดต่อกับรัฐเคดาห์ (Kedah) และรัฐปะลิสซึ่งถือเป็นช่องทางหลักในการเชื่อมโยงกับประเทศมาเลเซียสู่ประเทศสิงคโปร์ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากท่าเรือปีนัง และท่าเรือกลาง (Klang) ของประเทศมาเลเซีย

พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสงขลาที่ตั้ง ในตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดาเชื่อมโยงและลักษณะของพื้นที่ ห่างจากชายแดนที่ด่านสะเดาประมาณ 2 กิโลเมตร ห่างจากนักงานด่านศุลกากรสะเดา 500 เมตร ติดกับพื้นที่ตั้งด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ห่างจากด่านปาดังเบซาร์ประมาณ 35 กม. ติดถนนกาญจนวนิชย์ สภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ลาดเนิน, ปัจจุบันใช้ประโยชน์เพื่ออยู่อาศัย สวนยางพารา, มีแหล่งน้ำใกล้พื้นที่มีระบบไฟฟ้าเข้าถึงพื้นที่

รัฐบาลได้ดำเนินงานพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 10 พื้นที่ชายแดนเป้าหมาย ได้แก่ ตาก สระแก้ว มุกดาหาร ตราด สงขลา หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี นราธิวาส และ เชียงราย เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน จัดระเบียบความมั่นคงชายแดน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยใช้ประโยชน์จากการเป็นช่องทางการค้าชายแดนที่สำคัญของประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร การจัดหาพื้นที่พัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการลงทุน โดยมีคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ  เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ

การพัฒนาด่านสะเดาแห่งใหม่ภายใต้การขับเคลื่อนของอบจ.สงขลา ประตูการค้าสู่ประเทศมาเลเซีย ความท้าทาย การบูรณาการร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยุคใหม่ที่น่าจับตา

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

korphai ริมภู

korphai ริมภู

* นักเขียนอิสระ * นักข่าวอิสระ