X

ท้องถิ่นยุคใหม่ต้องใส่ใจการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมการพัฒนา

นักวิชาการมสธ.ชี้ ท้องถิ่นยุคใหม่ ต้องมุ่งเน้นการสื่อสารผลการดำเนินงานเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมการพัฒนาที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชน เผยแพร่ความรู้ความความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามกฎหมาย  และเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

การปกครองท้องถิ่นเป็นรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะการปกครองท้องถิ่น จะเป็นสถาบันการเรียนรู้การเมืองการปกครองของประชาชน เสริมสร้างให้ประชาชนรู้สึกว่าตนมีความเกี่ยวพันมีส่วนได้ส่วนเสียในการปกครอง การบริหารท้องถิ่น เกิดความรับผิดชอบ และเกิดความหวงแหนต่อประโยชน์  อันพึงมีต่อท้องถิ่นที่ตนอยู่อาศัยอันจะนำมาซึ่งความศรัทธาเลื่อมใสในระบอบการปกครองประชาธิปไตยในที่สุด

การปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างน้อยสองด้าน คือ ด้านการเมืองการปกครอง และการบริหาร กล่าวคือในด้านการเมืองการปกครองนั้นเป็นการปูพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยและเรียนรู้ในการปกครองตนเอง ส่วนด้านการบริหารหมายถึงการแบ่งเบาภาระรัฐบาลและประชาชนในท้องถิ่นได้หาทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเองด้วยกลไกการบริหารต่าง ๆ ทั้งในแง่ของการบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณ และการจัดการ

ในยุคปัจจุบันนอกจากการบริหาร การพัฒนารอย่างมีอาชีพของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว การสื่อสารนับว่ามีบทบาทและถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา เทศบาลเมืองทุ่งสงร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พัฒนารูปแบบการสื่อสารผลการดำเนินงานของเทศบาลเมืองทุ่งสง  โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพ “คน” หรือ พัฒนาเครือข่ายการสื่อสาร “พลังการสื่อสาร พลังสังคม พลังการพัฒนา” การสื่อสารผลการดำเนินงานของเทศบาลเมืองทุ่งสง ปี 2563 นับเป็นภารกิจที่สำคัญและมีความจำเป็นต่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในฐานะที่ปรึกษาพัฒนารูปแบบการสื่อสารผลการดำเนินงานของเทศบาลเมืองทุ่งสง ได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบการสื่อสารผลการดำเนินงานของเทศบาลเมืองทุ่งสงตามกรอบแนวคิดความต้องการสื่อสารการมีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่น โดยนำแนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชน การร่วมคิด การร่วมดำเนินการ การร่วมประเมินผล เพื่อสื่อสารภารกิจของเทศบาลเมืองทุ่งสง

รศ.ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว ประธานหลักสูตรนวัตกรรมการสื่อสารการเมืองการปกครองท้องถิ่น สาขานิเทศศาสตร์  (อดีตรองอธิการบดีและคณบดีคณะนิเทศศาสตร์มสธ.) และที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคม เปิดเผยว่า  ได้ดำเนินการสื่อสารเพื่อพัฒนาท้องถิ่นร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริการวิชาการ การวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยกระบวนการสื่อสารสร้างการมีร่วมของเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมมือกันพัฒนาท้องถิ่น ตั้งแต่ขั้นตอนการดำเนินการสำรวจปัญหา ความต้องการ และความคิดเห็นของประชาชนจากชุมชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันออกไป

ด้วยกิจกรรมอบรมสมาชิกเครือข่ายการสื่อสาร การพัฒนารูปแบบการสื่อสารการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น กลยุทธ์การสื่อสาร โดยเนื้อหาสาระหลากหลายสำหรับผู้ที่อยู่ในอำนาจคือผู้บริหารท้องถิ่น และก่อนได้อำนาจคือผู้นำทางการเมือง ผู้ที่อยู่ในอำนาจคือผู้บริหารจะมุ่งเน้นการสื่อสารผลการดำเนินงาน ตามนโยบายในการบริหาร ด้วยช่องทางผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อดั้งเดิม สื่อใหม่ในสังคมออนไลน์ เช่น การสื่อสารผ่านกิจกรรมการอบรมให้ความรู้และสร้างความเข้าใจภาคประชาชนเครือข่ายกลุ่มต่าง ๆ การสื่อสารผ่านสื่อบุคคล การสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ในโปรแกรมไลน์ (LINE) การสื่อสารผ่านเพจ การสื่อสารผ่านสื่อหนังสือพิมพ์เฉพาะกิจ

รศ.ดร.วิทยาธร บอกเล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจว่าเทศบาลเมืองทุ่งสง นับเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นอีกองค์กรหนึ่ง ที่มีโอกาสเข้าไปร่วมพัฒนาด้านการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดภายใต้โครงการพัฒนารูปแบบการสื่อสารผลการดำเนินงานของเทศบาลเมืองทุ่งสง ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่การสร้างเครือข่าย การพัฒนาศักยภาพสมาชิกเครือข่ายด้วยการอบรมเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจผลการดำเนินงานตามนโยบายในการบริหารงานเทศบาลเมืองทุ่งสง ซึ่งยึดหลักคิดตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี โดยใช้กลไกเครือข่ายภาครัฐ เอกชน เครือประชาสังคม แบบบูรณาการ นำโดยนายทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง ให้ความสำคัญการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่น

เทศบาลเมืองทุ่งสงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาท้องถิ่นภาคประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ คือ “ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมประเมิน และร่วมรับผล” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอความต้องการและความคาดหวังในการพัฒนาท้องถิ่น การติดตามข้อมูลข่าวสาร การร่วมดำเนินงาน การกำกับดูแล ตรวจสอบ ติดตามผลการดำเนินงาน และการประเมินผลอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหารเทศบาลเมืองทุ่งสง ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชน คณะกรรมการชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำต่างๆ และร่วมเป็นกลุ่มเครือข่ายการสื่อสาร เพื่อทำหน้าที่พัฒนาท้องถิ่นร่วมกับเทศบาลเมืองทุ่งสงในการสื่อสารผลการดำเนินงาน

“การเผยแพร่ผลการดำเนินงานหรือผลงานให้ผู้เกี่ยวข้องรับรู้ รับทราบอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นไปตามกฎหมากำหนด ผู้บริหารท้องถิ่นหรือกลุ่มการเมือง มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพราะผลการดำเนินงานที่สามารถแก้ไขปัญหา หรือเป็นที่ถูกใจของประชาชนทำให้ประชาชนมีความพึงพอใจและนิยมผู้บริหารท้องถิ่น ที่สำคัญเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี”

“พลังการสื่อสาร พลังสังคม พลังการพัฒนา”

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

korphai ริมภู

korphai ริมภู

* นักเขียนอิสระ * นักข่าวอิสระ