X

ทุ่งสงบริหารจัดการน้ำจากคนต้นน้ำสู่ปลายน้ำ

นครศรีธรรมราช-เทศบาลเมืองทุ่งสง “ต้นแบบ” การมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการดินและน้ำอย่างต่อเนื่องจากอนุรักษ์ลำคลอง สานต่อแผนป้องกันและแก้ปัญหาภัยพิบัติ ควบคู่กับการป้องกันจากอุทกภัยของ“คนต้นน้ำ”พร้อมบริหารจัดการน้ำก้าวสู่ความเป็นอยู่แบบยั่งยืน

การแก้ปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มอำเภอทุ่งแบบบูรณาการ ทั้งด้านกายภาพ และด้านสังคม จากการขุดลอกคูคลองเป็นประจำทุกปี ตลอดจนการขยายคูคลองและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การเฝ้าระวังภัยพิบัติทั้งจากเทศบาล เครือข่ายเตือนภัยจากชุมชน พร้อมการพัฒนาและอนุรักษ์ลำคลองสายน้ำที่ผ่านเมืองทุ่งสงพร้อมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจสร้างสำนึกสายน้ำธรรมชาติที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตประจำวันของคนแต่ละชุมชน โดยเฉพาะความสำคัญที่เป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาเพื่อเลี้ยงดูประชาชนในอำเภอทุ่งสงทั้งพื้นที่

นายทรงชัย วงศ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง เปิดเผยว่าในด้านการวางผังเมืองและผังชุมชน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหลายโครงการทางเทศบาลให้ความสำคัญควบคู่กับการกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีในชุมชน พร้อมการรณรงค์ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองแบบยั่งยืน เช่นการปลูกป่าต้นน้ำ ปลูกต้นไม้ หญ้าแฝก โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ริมคลองสำคัญอย่างคลองท่าแพ และลำคลองสายอื่น ๆ ที่ผ่านเมืองทุ่งสง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมความรับผิดชอบ พร้อมการเสียสละที่น่าสนใจ โดยเฉพาะความเสียสละของภาคประชาชนจากการจัดการที่ดีดินด้วยการดึงหมุดโฉนดที่ดินริมคลองท่าแพของตนเพื่อขยายคลองท่าแพให้กว้างขึ้น นับเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีของสังคม รวมทั้งการระดมความคิดเห็นการจัดทำแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และเคยได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศอย่างรัฐบาลเนเธอแลนด์ เพื่อคัดเลือกเทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง เป็นกรณีศึกษาช่วยเหลือในเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นับเป็นประโยชน์มหาศาลของเมืองและประเทศ

“การบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพไม่ใช่เพียงให้ทุ่งสงปลอดภัยจากน้ำท่วมเท่านั้น เราต้องคิดถึงเมืองอื่น ซึ่งเป็นปลายน้ำ รับน้ำจากอำเภอทุ่งสง เราก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบเทศบาลเมืองทุ่งสง และอำเภอทุ่งสง ตลอดจนหน่วยงานราชการ ภาครัฐ เอกชน ทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดตรังจึงได้ขยายผลความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำไปถึงลุ่มน้ำตรัง”

กลไกของกระบวนการทางความคิดของคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองทุ่งสง และเครือข่ายชุมชน ภาคประชาสังคมได้ร่วมกันจุดประกายความคิดเพื่อการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมทั้งระบบ ตั้งแต่คนต้นน้ำ กลางน้ำ ในพื้นที่ทุ่งสง จนถึงคนปลายน้ำ ลุ่มน้ำตรังตลอดทั้งสายที่สำคัญเป็นการคิดแก้ปัญหาร่วมกันของคนทั้งสองจังหวัด คือจังหวัดนครศรีธรรมราชในพื้นที่ต้นน้ำอย่างอำเภอทุ่งสง และพื้นที่ใกล้เคียงคืออำเภอบางขัน และจังหวัดตรัง 7 อำเภอ คืออำเภอรัษฏา, ห้วยยอด, วังวิเศษ, เมือง, นาโยง, สิเกา และกันตัง  ในส่วนของภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง  และต้องการให้ผู้บริหารได้สานต่องานอย่างต่อเนื่อง

แม่น้ำลำคลองจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีบทบาทสำคัญมาก ประชาชนมักจะตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเพราะลำคลองถือเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร แหล่งผลิตอาหาร และยังเป็นแหล่งกำเนิดศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจลำคลองท่าแพ เป็นสายน้ำที่สำคัญต่อชุมชนสำหรับใช้ในการอุปโภค บริโภค สายน้ำใส สะอาด และเป็นแหล่งต้นน้ำที่มีสภาพภูมิทัศน์ที่น่าสนใจในการพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีทางลาดริมคลองโดยตลอดปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจด้วยภูมิทัศน์ที่สวยงามของเมือง

“แต่ก่อนน้ำในลำคลองใสดื่มได้ และใช้สัญจรไปมาโดยใช้แพเป็นพาหนะที่สำคัญในสมัยนั้น ที่สำคัญบริเวณริมคลองมีผักพื้นบ้านหลายชนิด ลำเพ็ง จิก ผักกูด ชะอม มะเขือพวง เก็บกินและแบ่งปันกันโดยที่ไม่ต้องซื้อ ในลำคลองยังมีปลาชุกชุมมาก ริมคลองตลอดทั้งสายเห็นยอยกเรียงรายเป็นระยะๆ ริมคลองคือครัวของชุมชนที่อุดมด้วยผักปลา เราต้องสร้างและปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนในชุมชนเห็นคุณค่าเหล่านี้เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนา”

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

korphai ริมภู

korphai ริมภู

* นักเขียนอิสระ * นักข่าวอิสระ