X

เกาะสาหร่าย..โมเดลต้นแบบ การสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยวชุมชน

“การสื่อสารเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชาวบ้านในการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การพัฒนาจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

“พลังการสื่อสารพลังสังคมพลังการพัฒนา”แนวคิดและความมุ่งมั่นตั้งใจของนักวิชาการที่คว่ำหวอดบนเส้นทางการพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคมในมิติต่างๆหลากหลายโดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้การสร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่นของ รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยาธร ท่อแก้วประธานหลักสูตรแขนงวิชานวัตกรรมการสื่อสารทางการเมืองและการปกครองท้องถิ่น/อาจารย์ผู้สอน-และที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การให้คำปรึกษาเพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพทางการสื่อสารแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลด้านนวัตกรรมการสื่อสารองค์กร เพื่อพัฒนาตำบลก้าวสู่ “ตำบลต้นแบบด้านนวัตกรรมการสื่อสารองค์กร”  ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างคณาจารย์ ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ภายใต้ โครงการ “นวัตกรรมการสื่อสารเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนบ้านเกาะสาหร่าย” กิจกรรมบริการวิชาการแก่สังคม การร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นการพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร พร้อมทั้งร่วมหารือแนวทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาหมู่บ้านบนเกาะสาหร่ายหลายๆ มิติ และส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนในการเตรียมความพร้อมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดสตูล

การถอดบทเรียนจากกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านหมู่ 1,2,3,5,6 ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านบากันใหญ่ และโรงเรียนเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา สะท้อนให้เห็นความตื่นตัวของกลุ่มต่างๆ ที่พวกเขา “มีส่วนได้ส่วนเสีย” ในฐานะคนในชุมชนที่รับผลโดยตรงโดยมีสถาบันการศึกษาและนักวิชาการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับข้อสรุปในการจัดการด้านการท่องเที่ยวซึ่งพบว่าบรรยากาศการระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อยและการเปิดเวทีนำเสนอ รวมถึงการรับฟังปัญหาและความต้องการการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวมีผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาคม เข้ามามีส่วนร่วมการในกำหนดทิศทางการตัดสินใจอย่างคึกคักและเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาท่องเที่ยวโดยชุมชน

“การพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต้องมีความสมดุลกันต้องรอบครอบไม่กระทบด้านใดด้านหนึ่ง เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและทุกความคิดเห็นล้วนเป็นการสื่อสารที่สำคัญ คนในชุมชนนับว่ามีบทบาทสำคัญต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดีตลอดจนการเพิ่มการรับรู้และความเข้าใจในบทบาทของชุมชนท้องถิ่นต่อ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ต้องเป็นกำลังใจหรือสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานอนุรักษ์ทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม การพัฒนาเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังพลังการสื่อสารพลังสังคมพลังการพัฒนา” รองศาสตราจารย์ ดร. วิทยาธร ท่อแก้ว

เกาะสาหร่ายเกาะเล็ก ๆ แต่เต็มไปด้วยความสงบสวยงามและคุณค่าของวิถีชีวิต ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวิถีมีความพร้อมเปิดให้บริการสามารถไปเช้ากลับเย็นหรือจะพักที่โฮมสเตย์เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตของชาวประมงบนเกาะเล็กๆ ได้ทุกแง่มุม หากใครชอบความท้าทายเมื่อเดินทางถึงท่าเรือบ้านบากันใหญ่ก็สามารถเช่าเหมารถจักรยานยนต์พ่วงข้างซึ่งรับส่งผู้โดยสารเที่ยวรอบเกาะได้อย่างมีสีสัน ซึ่งคนบนเกาะส่วนใหญ่มักใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้างรับส่งผู้โดยสารสัญจรไปมา ขายของเร่ รอบเกาะซึ่งเป็นเอกลักษณ์บนเกาะสาหร่ายแห่งนี้

ความงดงามของวิถีประมงพื้นบ้านและแหล่งเรียนรู้สิ่งแวดล้อมโดยชุมชนโดยเฉพาะหมู่ที่ 1,2,3 บ้านบากันใหญ่ ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ชาวบ้านเป็นพี่น้องไทยมุสลิมประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน แต่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และปล่อยปูม้า การทำหญ้าทะเลเทียม และการใช้ภูมิปัญญาถนอมอาหารแบบพื้นบ้านด้วยการทำปลาเค็ม หอยตากแห้ง กะปิ ปูม้าและปลา ทั้งสดและใหม่มีไว้ต้อนรับผู้มาเยือนในราคาที่ไม่แพงนัก

ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอันทรงคุณค่าของชุมชนเกาะสาหร่าย เตรียมความพร้อมเพื่อเปิดบ้านเปิดแหล่งท่องเที่ยวชุมชน มหัศจรรย์ทะเลอันดามัน “สันหลังมังกร”หรือเนินทราย ที่โผล่ขึ้นมาอยู่กลางทะเลในยามน้ำลด มีลักษณะเป็นสันดอนทอดยาว เมื่อย่ำเท้าเดินสัมผัสจะพบเม็ดทรายขนาดน้อยใหญ่กลมเกลี้ยงสีอิฐเข้มบางเม็ดเกือบดำเรียงรายงดงามยิ่งนักยามกระทบระลอกคลื่นทะเลที่พัดมาเป็นระยะขณะแสงสุดท้ายของวันกำลังลับหาย

สิ่งที่มองเห็นแต่ไกลก่อนถึงเกาะก็คือ บ้านไม้ริมทะเลท่ามกลางต้นมะพร้าวสูงลิบลิ่ว ป่าโกงกาง มะขามต้นยักษ์ร้อยปี และต้นลำพูยักษ์ “แลนด์มาร์ก”หน้ารีสอร์ท มหัสจรรย์จากธรรมชาติทำให้ชายหาดที่เงียบสงบมีชีวิตชีวากลายเป็นจุดถ่ายรูปยอดฮิตโดยเฉพาะลำพูยักษ์เพราะกลางลำต้นมีช่องขนาดใหญ่เรียกกันว่า อุโมงค์ลำพู เวลาน้ำลด หากมาที่นี้ต้องต้องแวะถ่ายรูปกับลำพู

มหัศจรรย์ “สุสานเปลือกหอยกาบ” ที่อยู่ห่างจากเกาะสาหร่ายไม่มากนัก ซึ่งสามารถมองเห็นสรีระของเกาะที่มีลักษณะแบนและกลม กว้างประมาณ 1 กิโลเมตร บนพื้นที่นี้เต็มไปด้วยเปลือกหอยกาบแบนๆ ที่กองทับถมกันมานานหลายร้อยล้านปี เปลือกหอยหลายหมื่นล้านชิ้นได้ถูกคลื่นซัดพัดมากองสะสมกันจนกลายเป็นเกาะ ซึ่งกลายเป็นที่มาที่ชาวบ้านพากันเรียกว่า สุสานเปลือกหอยกาบ

สภาพโดยทั่วไปและศักยภาพของชุมชนตำบลเกาะสาหร่ายด้วยสภาพพื้นที่ซึ่งมีพื้นที่เป็นหมู่เกาะน้อยใหญ่ ประมาณ 69 เกาะ ตั้งอยู่ในทะเลอันดามันและเป็นตำบลที่อยู่สุดเขตของประเทศไทยติดกับประเทศมาเลเซีย และมหาสมุทรอินเดีย เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติตะรุเตามีหมู่เกาะสำคัญอยู่ 3 กลุ่ม คือ หมู่เกาะสาหร่าย-ตันหยงอุมา หมู่เกาะตะรุเตา-เกาะกลาง หมู่เกาะอาดัง-ราวี-หลีเป๊ะ

มีเนื้อที่ 939,300 ไร่ หรือ 1,502.88 ตารางกิโลเมตร โดยแยกเป็นพื้นที่น้ำ 763,625 ไร่ หรือ 1,221.80 ตารางกิโลเมตร พื้นที่บก 175,675 ไร่ หรือ 218.08 ตารางกิโลเมต ตำบลเกาะสาหร่าย มีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน หมู่1 บ้านตันหยงอุมา หมู่2 บ้านบากันใหญ่ หมู่3บ้านตันหยงกลิง หมู่4 บ้านเกาะระยะโตดนุ้ย หมู่5 บ้านเกาะระยะโตดใหญ่ หมู่6 บ้านตะโละน้ำ หมู่7 บ้านเกาะหลีเป๊ะ-อาดัง

ชาวบ้านส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งขนาดเล็ก ประกอบด้วยประมงชายฝั่ง 92 เปอร์เซ็นประมงน้ำตื้น 1 เปอเซ็น อาชีพอื่นๆ เช่น ค้าขาย ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ทำธุรกิจ และอื่นๆ 7 เปอร์เซ็นสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ มีโรงเรียนประถมศึกษา 5 แห่ง โรงเรียนมัธยมขยายโอกาส  3 แห่ง ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ประจำมัสยิด 1 แห่ง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน  2 แห่ง ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน 6 แห่ง ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 70.57 ศาสนาพุทธร้อยละ 10.66 และศาสนาอื่นๆ 18.77 มีศาสนสถาน รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง ประกอบด้วยมัสยิด 6 แห่ง บันนาซะอ์ 4 แห่งสำนักสงฆ์ 1 แห่ง การสาธารณะสุข มีอนามัยเพื่อบริการประชาชน  3 แห่ง

จากศักยภาพความโดดเด่นและข้อจำกัดต่างๆ ของชุมชนในตำบลเกาะสาหร่าย แนวคิดการขับเคลื่อนนวัตกรรมการสื่อสารเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงเป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชาวบ้านในการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง

สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของรองศาสตราจารย์ดร.ธิติพัฒน์ เอี่ยมนิรันดร์.นักวิชการผู้เชื่อวชาญด้านการสื่อสารเพื่อพัฒนา สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อย่างน่าสนใจว่า การที่จะให้ชุมชนดำเนินการท่องเที่ยว มีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการ จัดการการท่องเที่ยว  ในขณะเดียวกันก็ต้องรณรงค์กับคนในสังคมให้เห็นความแตกต่างของการท่องเที่ยว โดยชุมชนกับการท่องเที่ยวทั่วไป  กระตุ้นให้คนในสังคมเห็นความสำคัญและเป็นนักท่องเที่ยวที่สนใจการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ระหว่างเจ้าของบ้านกับผู้มาเยือน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

korphai ริมภู

korphai ริมภู

* นักเขียนอิสระ * นักข่าวอิสระ