X

เราเห็นอะไร… จากน้ำท่วมขอนแก่น

ขอนแก่น-ชาวบ้านซัดคณะกรรมการน้ำจังหวัดขอนแก่น ใช้ข้อมูลเก่าไม่ทันสมัย เขื่อนฯตื้นเขินความจุเปลี่ยน แนะสำรวจใหม่ หลังระบายน้ำเกินกำหนด หลายหมู่บ้านจมบาดาลนับเดือน นักวิชาการชวนตั้งวงแลกเปลี่ยนต่อเนื่องสร้างนวัตกรรมการจัดการน้ำขอนแก่น

วันที่ 27 พ.ย. 2560 เวลา 09.00-13.00น. ที่ห้องประชุม 2 อาคาร 5 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.)และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดเวทีความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติอย่างมีส่วนร่วม จากสถานการณ์น้ำท่วมขอนแก่น

มีผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนจำนวน 40 คน จากหน่วยงานรัฐ เอกชนและกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งมีนายปรีดา สร้อยคำ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ. ขอนแก่น(ปภ.) นายสมพงษ์ จันทะภา โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เขื่อนอุบลรัตน์)

นายปราโมทย์ พึ่งเทียน สำนักงานชลประทานหนองหวายและดร.วีระกุล ชายผา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตัวแทนภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ ต.ท่ากระเสริม ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ตำบลศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น และผู้ประกอบการ(บ้านสวนชมดาว) ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

สืบเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่รอบนอกทางฝั่งตะวันตกของจังหวัดขอนแก่นในช่วงเดือนตุลาคม 2560ที่ผ่านมา ปัจจุบันในบางหมู่บ้านยังมีน้ำท่วมขังและจากการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ที่จำเป็นต้องระบายน้ำออกเพื่อความปลอดภัยส่งผลให้น้ำท่วมบ้านเรือน ไร่นา พืชสวน ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย อีกทั้งหมู่บ้านที่เป็นลุ่มต่ำน้ำได้เข้าท่วมหมู่บ้าน ที่อยู่อาศัย ของชาวบ้านเสียหาย เช่นพื้นที่บ้านโนนหนองลาด ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

ในส่วนการบริหารจัดการน้ำและการป้องกันดูแลผู้ได้รับผลกระทบซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่นสำนักงานชลประทานหนองหวาย โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เขื่อนอุบลรัตน์) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้สภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่เป็นปัจจัยสำคัญที่มนุษย์ไม่สามารถกำหนดได้ต้องอาศัยการบูรณาการข้อมูลและการบริหารจัดการร่วมกันอย่างมีความเข้าใจภายใต้เงื่อนไขต่างๆ

การจัดประชุมวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมข้อมูลประเมินความเสียหายจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่รอบนอกจังหวัดขอนแก่นนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลการบริหารจัดการน้ำและการมีส่วนร่วมของชุมชนและช่องทางหรือกลไกในการเข้าช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้าและการป้องกันในระยะยาว

นายสวาท อุปฮาต ผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่บ้านโนนหนองลาด ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในปี 2554 มีช่องทางในการสื่อสารระหว่างชุมชนและหน่วยงานรัฐเพื่อเฝ้าระวังน้ำท่วมร่วมกัน แต่ระยะหลังไม่มีกลไกดังกล่าวจึงเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน

ด้าน ดร.วีระกุล ชายผา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การบริหารจัดการเป็นการจัดการในระยะยาว และการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องมีการพุดคุยกันบ่อยๆ ทั้งภาคท้องถิ่น หน่วยงานรัฐและภาคประชาชน

นายวิชาญ ทิพวงศ์ สมาคมเพื่อนภู กล่าวว่า การจัดการน้ำมีแนวทาง คือการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ ไม่สามารถใช้ชุดความรู้จากที่อื่นมาจัดการในพื้นที่หนึ่งได้ ค่าระดับน้ำที่มีความคาดเคลื่อนจากสมัยก่อนและปัจจุบันต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับปัจจุบัน

“หน่วยงานรัฐที่ต่างคนต่างทำต้องร่วมมือในการจัดการน้ำร่วมกันการพัฒนากลไกจัดการน้ำจากชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน การกำหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติ ในการจัดการน้ำร่วมกัน”

นายสุทธี ปุราทะกา ผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเขตชุมชนบ้านเป็ดขอนแก่น กล่าวว่า น้ำท่วมส่วนหนึ่งเกิดจากการกั้นเป็นระยะๆที่เรียกกันว่าฝาย เขื่อน การบริหารจัดการน้ำไม่ดี จากสถานการณ์การพัฒนาเช่นสร้างโรงงาน สร้างถนน สร้างบ้าน สร้างหมู่บ้าน การแก้ไขปัญหาที่จริงจัง ที่ประชุมเห็นว่าต้องสร้างกลไกการบริหารจัดการน้ำร่วมกันจากชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด มีส่วนร่วมตัดสินใจมากขึ้น

การส่งต่อข้อมูลข่าวสารร่วมกันทั้งชุมชน-รัฐ ภาครัฐจะช่วยชาวบ้านอย่างไรทั้งระยะสั้น ระยะยาว มีการจัดการเชิงระบบร่วมกันและการจัดการน้ำระดับชาติเพื่อสร้างหลักประกันให้กับประชาชน บนพื้นฐานความหลากหลายของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ยั่งยืนต่อไป

ข่าวโดย – กิตติศักดิ์ ชิณแสง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Kittisak

Kittisak

เขียนหนังสือการสร้างความทรงจำเกี่ยวกับวีรบุรุษของชาติลาว ค.ศ. 1975-2010 Isaanbiz อีสานบิซวีค