X

ทล. หารือรูปแบบทางแยก แก้จราจร ถ.เพชรเกษม “อ้อมน้อย-สามพราน”

สมุทรสาคร – กรมทางหลวง สรุปรูปแบบทางแยกที่เหมาะสม โครงการสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาจราจร ถ.เพชรเกษม ช่วงอ้อมน้อย-สามพราน 

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 2 ก.พ. 2565 กรมทางหลวง (ทล.) และบริษัทที่ปรึกษา จัดการประชุมสรุปผลรูปแบบทางแยกที่เหมาะสม (การประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2) โครงการสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาจราจร บนทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงอ้อมน้อย-สามพราน โดยมีนายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดการประชุม ร่วมด้วย นางศิริลักษณ์ ศิริพรบุญญา ผู้จัดการโครงการฯ นายบุญชู นิลถนอม นายกเทศมนตรีนครอ้อมน้อย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ทั้งในพื้นที่และทางออนไลน์

นางศิริลักษณ์ ศิริพรบุญญา ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวรายงานว่า ปัจจุบันทางหลวงหมายเลข 4 หรือ ถ.เพชรเกษม ช่วงอ้อมน้อย-สามพราน เกิดปัญหาการติดขัดของการจราจร โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เนื่องจากบริเวณสองข้างทางมีชุมชนหนาแน่น มีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ทั้งพื้นที่ธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ทำให้เกิดความไม่สะดวกและเกิดความล่าช้าในการเดินทาง อีกทั้งทางหลวงสายนี้ยังมีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ในการขยายถนน จึงจำเป็นต้องมีแผนรองรับเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

ส่วนปัญหาการจราจร ที่พบส่วนใหญ่เกิดจากปริมาณรถที่เพิ่มมากขึ้น ปริมาณจราจรหนาแน่นตามแนวเส้นทางเพราะเป็นแหล่งชุมชนสองข้างทาง บางช่วงมีการจอดรถช่องจราจรด้านซ้ายสุดทำให้ประสิทธิภาพของการจราจรลดลง และตามซอยต่าง ๆ ช่องจราจรในซอยที่แคบและมีจุดตัดทางแยกติดตั้งสัญญาณไฟจราจร 3 แห่ง คือ สามแยกสัญญาณไฟ ซ.เพชรเกษม 99 สี่แยกวัดเทียนดัด และสามแยก ซ.วัดโรมัน ซึ่งประสบปัญหาจราจรติดขัดสะสมอย่างมากในชั่วโมงเร่งด่วน มีท้ายแถวบริเวณทางแยกค่อนข้างยาว และก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการสำรวจและออกแบบปรับปรุงแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงช่วงดังกล่าว และโครงข่ายทางหลวงใกล้เคียงทำให้สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อนำข้อคิดเห็นมาประกอบในการพิจารณาออกแบบรายละเอียดโครงการได้อย่างเหมาะสม กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯ ให้ดำเนินการสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจร บนทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงอ้อมน้อย – สามพราน เพื่อให้ได้แบบรายละเอียดสำหรับการก่อสร้างโครงการ และจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของโครงการ

สำหรับการประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบทางแยกที่เหมาะสมของโครงการฯ ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอในด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประกอบการศึกษาโครงการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีการนำเสนอรูปแบบการปรับปรุงแยกอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นทางแยก ถ.เพชรเกษม ตัดกับ ถ.เศรษฐกิจ และ ถ.พุทธมณฑลสาย 5 โดยออกแบบจำนวนช่องจราจรสำหรับรถรอเลี้ยวขวาบนถนนเพชรเกษม เพิ่มขึ้นทิศทางละ 1 ช่องจราจร เป็น 3 ช่องจราจร โดยการลดความกว้างของเกาะกลางระหว่างเสาตอม่อสะพานบางส่วน รวมถึงกำหนดการปล่อยสัญญาณไฟเปรียบเสมือนทางแยกทั้ง 2 แห่ง เป็น 4 แยกสัญญาณไฟจราจร

ส่วนรูปแบบการปรับปรุงสี่แยกวัดเทียนดัด และสามแยก ซ.วัดโรมัน อ.สามพราน จ.นครปฐม ได้มีการออกแบบไว้เบื้องต้น 3 รูปแบบเพื่อพิจารณา ซึ่งผลการคัดเลือกรูปแบบทางแยกที่เหมาะสมที่สุดของโครงการฯ นั้นมีลักษณะเป็นสะพานช่วงสั้นข้ามแยกวัดเทียนดัด 4 ช่องจราจร (ขาเข้า-ขาออก กรุงเทพฯ ฝั่งละ 2 ช่องจราจร) และแยก ซ.วัดโรมัน เป็นสะพานทิศทางขาเดียว 2 ช่องจราจร มุ่งไปทาง จ.นครปฐม ด้านล่างทั้ง 2 แยกจัดการจราจรด้วยรูปแบบวงเวียน เนื่องจากประหยัดค่าก่อสร้างโครงสร้างสะพาน รูปแบบของทางแยกผู้ขับขี่เข้าใจง่าย และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่สูงมากนัก

ทั้งนี้ ความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม มีทั้งการเสนอให้ปรับแก้รูปแบบของสามแยก ซ.โรมัน ให้สร้างเป็นสะพาน 4 ช่องจราจรเหมือนสี่แยกวัดเทียนดัด รวมถึงนำเสนอปัญหาการจราจรบริเวณจุดกลับรถใกล้กับโรงงานไวไว และแยกซอยเพชรเกษม 99 พบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ซึ่งทางกรมทางหลวง และบริษัทที่ปรึกษา จะได้นำข้อคิดเห็นดังกล่าวไปปรับปรุงแก้ไขและนำเสนอในการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 เป็นลำดับต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ https://www.highway4-omnoi-sampran.com/

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

กิตติกร นาคทอง

กิตติกร นาคทอง

กิตติกร นาคทอง จบการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าวเว็บไซต์สาครออนไลน์ จังหวัดสมุทรสาคร เน้นนำเสนอความเคลื่อนไหวในท้องถิ่น และการพัฒนาเมืองในจังหวัดสมุทรสาครเป็นหลัก