X

ดร.เอ้ ชี้ 4 ปัญหา ให้ 4 แนวทาง แก้ก่อสร้างถนนพระราม 2 ล่าช้า

กรุงเทพฯ : ‘ดร.เอ้’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ ปัญหาทำถนนไม่แล้วเสร็จ ประชาชนเดือดร้อน ยกถนนพระราม 2 เป็นตัวอย่าง ปัญหาซ้ำซาก แก้ได้ด้วยความร่วมมือทุกภาคส่วน เริ่มต้นจาก ผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ เปรียบต่างประเทศ ต่างกับไทย ชี้ 4 ปัญหา 4 แนวทาง 

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ‘ดร.เอ้’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. กล่าวว่า การก่อสร้างถนนพระรามสองถือเป็นการก่อสร้างที่ยาวนานกว่า 50 ปี เกิดปัญหา และผลกระทบมากมายต่อประชาชน เดือดร้อนแสนสาหัส สูญเสียชีวิต และทำร้ายเศรษฐกิจ เพราะทั้งขยาย และซ่อมแซมไม่มีวันจบ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้การก่อสร้างถนนพระรามสองไม่จบซะที เพราะการวางแผนงานในอดีต อาจประมาณการเติบโตของเมืองน้อยไป จึงขยายแล้วขยายอีก ไม่ทำทีเดียว หรือการก่อสร้างอาจไม่ได้มาตรฐาน ทำให้สร้างเสร็จแต่ไม่จบ ต้องปะผุ ซ่อมแล้วซ่อมอีก รวมไปถึงการวางแผนงานก่อสร้าง เช่น การก่อสร้างถนนพระรามสอง ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร แบ่งสัญญาถึง 10 ตอน หรือ 10 ผู้รับเหมา อาจเนื่องจากต้องการหลายคนมาช่วยกัน จะได้เสร็จเร็วขึ้น แต่มีปัญหาเกิดอะไรตามมามากมาย คนเดือดร้อน เพราะว่า

1. เนื่องจากมี ‘ผู้รับเหมาจำนวนมาก’ การบริหารจัดการก่อสร้าง ให้ประสานเป็นเนื้อเดียว ตลอดเส้นทาง มีปัญหา เพราะคนเยอะ เรื่องก็เยอะ ปัญหาเยอะ

2. การวางแผนงานก่อสร้าง ตามหลักการ ‘ต้องเสร็จ’ พร้อมกัน หรือเสร็จเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งในความเป็นจริง ผู้รับเหมาแต่ละเจ้า มี ‘ศักยภาพไม่เท่ากัน’ ความพร้อมต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาได้

3. เมื่อมีการ ‘เร่งงาน’ ให้เสร็จเร็วกว่าแผนงาน ผู้รับเหมามัก ‘ต่อรอง’ ขอพื้นที่ทำงานเพิ่ม ทำให้ถนนหายไปอีกหนึ่งช่องทาง รถก็ติดสาหัสขึ้น เป็นวงจรความทุกข์ของประชาชน เร่งก็ติด ไม่เร่งก็ไม่เสร็จ

และ 4. การบริหารจัดการจราจร อยู่ในความรับผิดชอบร่วมกัน ของหลายหน่วยงาน ทั้งผู้รับเหมา ฝ่ายก่อสร้าง แขวงทางหลวง กรมทางหลวง กทม. และตำรวจทางหลวง ที่ขาดการทำงานประสานกัน มักเกี่ยงความรับผิดชอบ

“ตามหลักการของการบริหารงานก่อสร้าง ต้องไม่มีคำว่าเร่งเลย เพราะถ้าวางแผนงานดีทุกอย่างต้องสำเร็จตามกำหนด การก่อสร้างถนนมีเกิดขึ้นทั่วโลก มีการขยายเมืองทุกวัน แต่ประเทศอื่น ทำไมประชาชนเขาไม่เดือดร้อน หนักหนาเหมือนบ้านเรา เพราะเขามีการบริหารงาน มาตรฐานงานก่อสร้าง และการวางแผนงาน ที่มีความแม่นยำ รวมถึงการคำนึงถึง “ความปลอดภัย” ต้องมาก่อน ทำให้ลดผลกระทบต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ คนเขาก็ไม่บ่น ‘งานที่ดี ไม่ต้องเร่ง’ หัวใจ คือ ‘ผู้นำ’ และ ‘การบริหารจัดการ’ เพราะการก่อสร้างถนน และสะพาน ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำกันมาเป็นร้อยปี อยู่ที่ว่า ‘ผู้นำ’ มุ่งมั่นแก้ปัญหาจริงจัง ‘ไม่ฉาบฉวย’ ถนนพระราม 2 เสร็จตามแผน มีคุณภาพ และปลอดภัย เราทำได้ ครับ”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า วิธีการแก้ปัญหา ‘ความเดือดร้อน’ ของประชาชน จากการก่อสร้างถนนพระรามสอง เราทำได้ คือ

1. ‘ผู้นำทุกระดับ’ ต้องมี ‘การบริหารจัดการ’ งานก่อสร้าง ที่แม่นยำ มีระบบชัดเจน ไม่เอื้อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยยึดถือ ‘แผนงานความสำเร็จ’ และ ‘การลดผลกระทบต่อประชาชน’ เป็นเป้าหมายร่วม

2. การบริหารพื้นที่ช่องทางจราจร ต้องสอดคล้องกับปัญหาการจราจร ต้องไม่ยอมให้พื้นที่มากเกินไป (มักเอาไปกองเศษวัสดุ ตามที่เห็น) แก่ผู้รับเหมา โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ หรือ ต้อง ‘ต่อรอง’ ผู้รับเหมา ใช้เครื่องจักร และวิธีการก่อสร้าง ที่มีผลกระทบต่อประชาชนน้อย และมีมาตรฐาน

3. การอำนวยการจราจร จะลดผลกระทบได้ ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ไม่เกี่ยงกัน มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การบริการประชาชน และอำนวยความปลอดภัย ดังนั้น ‘ผู้นำระดับสูงต้องประสานทุกหน่วยงานให้ได้’

และ 4. ความสำเร็จในการก่อสร้าง ขึ้นอยู่กับ ‘ศักยภาพของผู้รับเหมา’ คือ กำลังคน กำลังเครื่องจักร กำลังเงิน และกำลังฝีมือการบริหาร หากได้ผู้รับเหมาที่ฟันราคามา ไม่มีศักยภาพ ปัญหาทุกอย่างตามมา ดังนั้น ‘กระดุมเม็ดแรก’ คือ การได้ ‘ผู้รับเหมาคุณภาพ’

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นเว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช แพลตฟอร์มชุมชนข่าวสาร 77 จังหวัด พบกับเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง กับข่าวท้องถิ่นทั่วประเทศ