X

‘ปวีณา’พาเหยื่อถูกหลอกลงทุนเทรดหุ้น พบ รมว.ดีอี หลังถูกหลอกเสียหายเกือบร้อยล้านบาท

กรุงเทพฯ : ‘ปวีณา’ พาตัวแทนเหยื่อถูกหลอกลงทุนเทรดหุ้นปลอม พบ ‘รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม’ ประชุมหารือร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินคดี และหาแนวทางช่วยเหลือเหยื่อผู้เสียหาย กว่า 70 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 91 ล้านบาท ‘รมว.ประเสริฐ’ รับเรื่อง มอบให้ตำรวจไซเบอร์ ดำเนินการทันที เตรียมนำเรื่องเสนอนายกฯ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหา พร้อมขันน็อตเฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก X และแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพิ่มข้อมูลให้ AI ตรวจจับโฆษณาหลอกลวงประชาชน

วันที่ 25 มกราคม 2567 ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ได้พาตัวแทนผู้เสียหาย 12 ราย จากทั้งหมดกว่า 70 ราย หลังถูกหลอกให้ลงทุนเทรดหุ้น ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 91 ล้านบาท เข้าพบ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจไซเบอร์ ตำรวจกองปราบปราม เร่งดำเนินคดีและหาแนวทางช่วยเหลือเหยื่อผู้เสียหาย พร้อมทั้งหามาตรการกวาดล้างกระบวนการอาชญากรรมทางออนไลน์ที่เป็นภัยร้ายแรงของชาติให้หมดสิ้น

สืบเนื่องจากกลุ่มผู้เสียหายได้รวมตัวกันเข้าร้องทุกข์ต่อนางปวีณา ตั้งแต่วันที่ 17 -24 ม.ค. 67 จำนวนกว่า 70 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ ไม่มีประสบการณ์ในตลาดหุ้น จึงถูกชักชวนให้เข้าศึกษาเรื่องการเทรดหุ้น ในแพลตฟอร์มทางออนไลน์ต่าง ๆ อย่าง ทางเฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ไอจี และทวิสเตอร์ โดยใช้รูปของเหล่า อาจารย์ ที่มีชื่อเสียงในวงการตลาดหุ้นไทยมาหลอกลวง โดยแนะนำให้เปิด พอร์ต การลงทุนกับโบกเกอร์ปลอม ซึ่งจะมีบุคคลที่อ้างเป็นผู้ช่วยอาจารย์ให้ซื้อ-ขายหุ้นตามคำชี้แนะ และให้โอนเงินเข้าบัญชีของโบกเกอร์ปลอม เพื่อนำไปซื้อหุ้น โดยเหยื่อจะหลงเชื่อเนื่องจากตรวจสอบแล้วหุ้นดังกล่าวมีการปรับตัวตามภาวะตลาดจริง แต่เมื่อเหยื่อจะทำการถอนเงินลงทุน ก็ไม่สามารถถอนได้ จึงรู้ว่าถูกหลอก

ซึ่งเป็นที่น่าเป็นห่วงว่าปัจจุบันนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์โฆษณาชวนเชื่อ จัดการอบรมสัมมนาจากขบวนการหลอกลวงอยู่ในโซเชียลอย่างแพร่หลาย โดยเป็นลักษณะของบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อการหลอกลวงเกี่ยวกับการลงทุนเทรดหุ้นปลอมทั้งระบบ เรื่องนี้ถือเป็นอาชญากรรมออนไลน์ที่ร้ายแรง สร้างความเสียหายทั่วโลก ผู้ตกเป็นเหยื่อสูญเงินจำนวนมหาศาล บางคนต้องกู้เงิน ขายบ้าน เอาบ้านที่ดินไปจำนอง ขายทรัพย์สิน เอาเงินมาลงทุนจนหมดตัว หลังเจอปัญหาหลายคนไม่มีเงินให้ลูกเรียน เครียดหนัก จนเป็นโรคซึมเศร้า นอนไม่หลับ คิดฆ่าตัวตาย จึงขอเสนอแนวทาง 4 ข้อ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ดังนี้

1. ดำเนินการกวาดล้างแก๊งมิจฉาชีพ อาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไป
2. ขอให้รัฐบาลได้ประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ความรู้กับประชาชนถึงพฤติกรรมอาชญากรรมออนไลน์ ให้เข้าถึงประชาชนเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์อีกต่อไป
3. ขอมอบเอกสาร เหยื่อผู้เสียหายกว่า 70 ราย ให้ท่านรัฐมนตรี ประเสริฐ ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามคดี และให้ความช่วยเหลือตามที่ผู้เสียหายร้องขอต่อไป
4.ขอให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอนายกรัฐมนตรี ให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะ กสทช. ประชาสัมพันธ์เพื่อไม่ให้ประชาชนไม่หลงเชื่อ พฤติกรรมอาชญากรรมออนไลน์

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ จะจับมือร่วมกันทำงานกับมูลนิธิปวีณาฯ ในการช่วยเหลือประชาชน หลังรับเรื่องวันนี้ได้ส่งมอบข้อมูลให้กับ พล.ต.ต.มณเฑียร พันธ์อิ่ม รอง ผบช.สอท. เพื่อนำไปสอบสวนผู้เสียหายเพิ่มเติม และเช็คเส้นทางการเงิน บัญชีม้า พร้อมจะประสานธนาคารแห่งประเทศไทย ในการตรวจสอบบัญชีโดยเร็ว และจะนำเสนอนายกรัฐมนตรี เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันแก้ปัญหา

ส่วนกรณีแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มีการโฆษณาหลอกลวงประชาชน ยอมรับว่ามีมากจริง ๆ ทางกระทรวงดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประชุมกับทางเฟซบุ๊กอยู่ตลอด ในการบล็อกโฆษณาเหล่านี้ โดยทราบว่ากลุ่มมิจฉาชีพมีการทำโฆษณาเปลี่ยนหน้าตารูปแบบอยู่ตลอด เพื่อให้ AI จับไม่ได้ และก็ซื้อโฆษณาเข้ามาอีก ซึ่งทางแพลตฟอร์มก็ต้องเพิ่มข้อมูลในการตรวจจับมากขึ้น ทางกระทรวงฯก็ประชุมขันน็อตอยู่ตลอด

สำหรับพฤติกรรมการหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพ จะใช้วิธีการสร้างความน่าเชื่อถือ ด้วยการสร้างหน้าพอร์ตปลอมขึ้นมา ให้เหมือนแอปพลิเคชั่น และให้ผู้เสียหายกดลิงก์โหลดเข้าในมือถือ ดูความเคลื่อนไหวของหุ้นซึ่งเป็นของจริง แต่การโอนเงินไปลงทุนเป็นการโอนเข้าบัญชีม้า และไม่มีการซื้อหุ้นจริง ผู้เสียหายจะเห็นตัวเลขเงินลงทุนและกำไร แต่ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ เมื่อตรวจสอบพบว่า ชื่อบัญชีที่โอนเงินไปลงทุนมีหลายแพลตฟอร์ม ปลายทางเป็นชื่อบริษัท และชื่อเจ้าของบัญชีเดียวกัน มีความเชื่อมโยงกัน จึงเชื่อว่า น่าจะเป็นเครือข่ายเดียวกัน มีการทำกันเป็นขบวนการ ขณะที่ผู้เสียหายแต่ละคนสูญเงินไปเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้าน บางคนสูงสุด 8-12 ล้านบาท รวมผู้เสียหายกว่า 70 ราย มูลค่าความเสียหายที่ตรวจสอบได้กว่า 91 ล้านบาท

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นเว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช แพลตฟอร์มชุมชนข่าวสาร 77 จังหวัด พบกับเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง กับข่าวท้องถิ่นทั่วประเทศ