สุพรรณบุรี : เผาศพเหยื่อพลุระเบิด 3 ศพแรก ที่วัดโรงช้าง อีก 2 ศพ ที่วัดขวาง และวัดพระธาตุ ด้าน สสจ.สุพรรณบุรี ส่งทีมเอ็มแคต ดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างใกล้ชิด พร้อมปิดศูนย์ช่วยเหลือวันนี้
วันนี้ 20 มกราคม 2567 นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี มอบหมายให้ นายปภินวิช ละอองแก้ว หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี ฝ่ายเลขาฯ เป็นประธานการประชุม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมสรุปผลการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น ทั้งการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ซึ่งวันนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด รวมถึงการรวบรวมข้อมูลหลักฐานเพื่อจ่ายเงินชดเชยให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตที่จะครบถ้วนในวันนี้ ที่ประชุมจึงมีมติปิดศูนย์ช่วยเหลือฯ ในวันนี้ เวลา 16.30 น. โดยขอให้ทุกหน่วยได้สรุปข้อมูลผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และแผนการให้ความช่วยเหลือ ส่งให้กับฝ่ายเลขาฯ
ข่าวน่าสนใจ:
ซึ่งภายหลังปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุพลุระเบิด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับการช่วยเหลือประชาชน ยังคงให้บริการประชาชนอยู่ที่วัดโรงช้าง อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ, องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาขาว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลการช่วยเหลือได้จากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาขาว หรือติดต่อไปที่ 062-4647493 นายมณเทียร นาคทองอินทร์
ในขณะที่เมื่อช่วงบ่าย ภายในบริเวณวัดโรงช้าง เต็มไปด้วยชาวบ้าน ที่มาร่วมในพิธีฌาปนกิจศพ เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในเหตุการร์พลุระเบิด จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย นางพเยาว์ บุญกล่อม, นางรำไพ สวยค้าข้าว และนายโสพล สวยค้าข้าว โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานในพิธี และมี นางจตุพร โรจนพานิชย อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หัวหน้าส่วนราชการ นายสรชัด สุจิตต์ ส.ส.เขต 1 สุพรรณบุรี เข้าร่วมในพิธี เป็นกำลังใจให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย
ส่วนที่วัดพระธาตุศาลาขาว ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพเหยื่อในเหตุการณ์เดียวกันอีก 1 ราย คือ นายรุ่งโรจน์ อุ่มน้อย และที่วัดขวาง เป็นสถานที่ตั้งศพของ นาย วิชาญ บุญศรีวงษ์ ก็ได้มีพิธีฌาปนกิจ ในช่วงบ่ายในวันนี้เช่นกัน บรรยากาศในพิธีที่วัดทั้ง 3 แห่งในวันนี้ เต็มไปด้วยความโศกเศร้าเสียใจของคนในครอบครัว และเหล่าเครือญาติ รวมถึงประชาชนที่เข้าร่วมงาน
ด้านนายแพทย์รัฐพล เวทสรณสุธี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรีเปิดเผยว่า ทีมดูแลจิตใจจะมีเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงของญาติผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มเครือญาติสายตรง ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการสูญเสียที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งประเมินความเสี่ยงของคนในชุมชน ซึ่งพบว่าขณะนี้มีจำนวน 69 ราย ที่ต้องดูแลอย่างใกล้ อีกกลุ่มคือกลุ่ม บี เป็นกลุ่มประชาชนในพื้นที่โดยรอบ 180 ราย โดยทีมได้ให้คำแนะนำเรื่องของการดูแลจิตใจ ที่สำคัญคือ การให้ช่องทางการติดต่อ หากมีสิ่งที่ต้องการคำปรึกษาทางด้านจิตใจ นอกจากนี้ยังมีการจัดทีมที่เรียกว่าทีม mcatt ที่มีหน้าที่คอยติดตามอย่างใกล้ชิด ทุกครอบครัวที่มีการสูญเสีย ซึ่งจะมีการโทรคุยติดต่อทุกวัน
ส่วนผลกระทบด้านอื่น ๆ พบว่า มีประชาชนที่พบอาการระคายเครื่องผิวหนังประมาณ 1-2 ราย รวมถึงปัญหาเรื่องหูอื้อ 1 ราย ซึ่งทั้งหมดได้รับการตรวจแล้ว พบว่า ไม่มีอาการรุนแรงหรือน่าเป็นห่วง เน้นว่าที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในเรื่องการดูแลสภาพจิตใจ คนในชุมชนที่มีผู้เสียชีวิตถึง 23 ราย อีกส่วนสำคัญคือ เรื่องของการพิสูจน์อัตลักษณ์ ต้องขอขอบคุณความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ระดมทีมร่วมกันในการทำงาน และสามารถพิสูจน์อัตลักษณ์ให้ญาตินำร่างไปประกอบพิธีทางศาสนาได้อย่างรวดเร็ว
นายแพทย์รัฐพล กล่าวย้ำเรื่องการสื่อสาร ขอให้เป็นไปในเชิงบวกไม่ตอกย้ำ ไม่ซ้ำเติม ความโศกเศร้าเสียใจ เน้นการให้กำลังใจ และต้องระวังในการใช้สื่อโซเชียล อย่างไรก็ตามทางจังหวัดยังได้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามเยียวยาในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะสภาพทางจิตใจรวมถึงเศรษฐกิจ การศึกษาของคนในครอบครัวด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: