X

เลือกตั้ง66 : เปิดปฏิบัติการ ‘หมาเฝ้าบ้าน’ รับอาสา 1 แสนคน จับตา-รายงานผลเลือกตั้ง ป้องกลโกง

กรุงเทพฯ – จับตา เลือกตั้ง66 เปิดรับอาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ ร่วมรายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์ ป้องกันกลโกงทุกรูปแบบ เพื่อร่วมเปลี่ยนแปลงอนาคตประเทศไทย พร้อมใช้เทคโนโลยี Crowdfunding ระดมทุนหนุนอาสาสมัคร

วันที่ 21 มีนาคม 2566 เข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบ หลังมีประกาศยุบสภา และล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2566 อย่างเป็นทางการ วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นการกำหนดอนาคตประเทศไทย และเป็นความหวังของคนไทยทุกคน ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ประเทศชาติก้าวไปสู่ความเจริญ ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมไปถึงอยากเห็นความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้งที่ผ่านมา กระบวนการโกงการเลือกตั้งมักเกิดขึ้นทุกครั้ง และมาในทุกรูปแบบ แม้ประชาชนจะรับรู้ได้ แต่ไม่สามารถต่อต้านหรือยับยั้ง และทัดทานการกระทำของกลุ่มคนเหล่านั้นได้เลย

ส่งผลให้ประเทศติดหล่ม ก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างยากลำบาก เศรษฐกิจตกต่ำ คุณภาพชีวิตย่ำแย่ อดอยาก ยากจน กันถ้วนหน้า ต่างเฝ้ารอคอยเวลาให้วันนี้ได้มาถึง วันที่ประชาชนจะได้รวมพลังกัน เพื่อรีเซ็ตเดินหน้าประเทศไทยกันใหม่อีกครั้ง

หนึ่งในความหวังของประชาชน สำหรับไว้คอยตรวจสอบการเลือกตั้ง ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม คะแนนทุกคะแนนมีค่า ไม่ตกน้ำ ไฟไม่ดับ ไม่มีบัตรเขย่ง คือ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

ประกอบกับการที่ กกต. ออกประกาศยกเลิก การใช้แอปพลิเคชันการรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง (อย่างไม่เป็นทางการ) ไปใช้ระบบ ECT Report ที่ไม่ใช่แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะเริ่มทราบผลการเลือกตั้งประมาณ 23.00 น. ส่งผลทำให้สื่อที่จะต้องรายงานผลการเลือกตั้งอย่างรวดเร็วและถูกต้อง เพื่อช่วยให้การเลือกตั้งเกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ ได้รับเสียงเรียกร้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ให้ช่วยกันหาทางออก ร่วมมือกันสร้างระบบการรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งจากหน้าคูหาเลือกตั้ง อย่างรวดเร็วแบบเรียลไทม์เช่นเดิม

จึงเกิดปฏิบัติการ ‘หมาเฝ้าบ้าน’ (watch dog) ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก ไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ลงไปประจำหน่วยหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ กว่า 95,000 หน่วย เพื่อเข้าร่วมสังเกตุการณ์การเลือกตั้ง และนับผลคะแนนภายหลังปิดหีบเลือกตั้ง 17.00 น. แบบคะแนนต่อคะแนน จึงจำเป็นจะต้องระดมกำลังอาสาสมัครจากทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมภารกิจดังกล่าว

ผนึก 50 องค์กร จับตาเลือกตั้ง-รายงานผลเรียลไทม์ รู้ผลไม่เกิน 1 ทุ่ม

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้อำนวยการโครงการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป 2566 (อย่างไม่เป็นทางการ) ระบุว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงระบบรายงานผลคะแนนดังกล่าวของ กกต. จึงเกิดการรวบตัวกันของสื่อทุกแขนงในประเทศไทย และผนึกกำลังเครือข่ายทุกภาคส่วน รวมกว่า 50 องค์กร อาทิ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย), สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, สื่ออิสระรวมเกือบ 40 สำนัก, สมาคมฟินเทคประเทศไทย, สมาคมเมตาเวิร์สไทย, D-Vote, โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฏหมายประชาชน (iLaw), Vote62, WeWatch, Opendream, CoFact ยกระดับแอปพลิเคชันรายงานผลคะแนนเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566

และการใช้เทคโนโลยีในการระดมทุนในรูปแบบ Crowdfunding, Crowdsourcing เพื่อช่วยกันระดมอาสาสมัครให้ได้ตามเป้าหมาย 100,000 คน ไปประจำยังทุกหน่วยเลือกตั้งประมาณ 95,000 หน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ ทั้งตรวจสอบ จับตา และรายงานผลคะแนนเลือกตั้งทันทีเมื่อปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 17.00 น. จนทำให้เกิดการพัฒนาอีกระดับของแอปพลิเคชันรายงานผลคะแนนเลือกตั้งแบบ Realtime และ Final Score ที่เคยนำมาทดสอบการใช้ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2565 มาแล้ว

ตั้งเป้าหมาย ให้ทราบแนวโน้มผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเบื้องต้น โดยคาดว่าในเวลาไม่เกิน 19.00 น. น่าจะทราบแนวโน้มสัดส่วนคะแนนแบบ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรค และไม่เกิน 21.00 น. น่าจะทราบแนวโน้มคะแนนเสียงของผู้สมัคร ส.ส.เขตที่มีคะแนนนำอันดับหนึ่งในทุกเขตทั้ง 400 เขต

การระดมทุน Crowdfunding ตั้งเป้าหมายเงินบริจาค จากผู้ต้องการสนับสนุนการเลือกตั้งและส่งเสริมประชาธิปไตยไว้ ประมาณ 12 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาระบบรายงานผลคะแนนเรียลไทม์และระบบบริหารอาสาสมัครที่มีขนาดใหญ่มาก

ส่วน Crowdsourcing จะอยู่ในรูปแบบสิ่งของกับบริการต่าง ๆ ที่ได้จากผู้สนับสนุน เพื่อใช้เป็นการตอบแทนหรือ Reward ให้รางวัลแก่ผู้บริจาคและอาสาสมัครในการรายงานผลคะแนนที่ตั้งเป้าหมายระดมอาสาสมัครไว้ 100,000 คน โดยจะส่งมอบในรูปแบบของ NFT หรือ Token ให้ผู้บริจาคเงิน ผู้สนับสนุน และอาสาสมัครตั้งแต่เริ่มบริจาค หรือลงทะเบียนสมัครเข้ามาเป็นอาสา โดยจะขอเรียกรวม ๆ ว่าเป็น ‘ดิจิทัลคูปอง’ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น ในการนำไปใช้แลกสินค้า หรือบริการส่วนลดที่ผู้สนับสนุนแจ้งความจำนงเข้ามา ในระยะเวลาดำเนินโครงการหรือภายหลังได้ปฏิบัติภารกิจรายงานผลคะแนนเลือกตั้งเสร็จแล้ว

ทั้งนี้ แบ่งอาสาสมัครไว้ 3 ระดับ เพื่อให้การายงานผลคะแนนเลือกตั้งเป็นไปอย่างครอบคลุมทุกหน่วยเลือกตั้ง และส่งคะแนนเข้าระบบประมวลผลในศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้งได้อย่างถูกต้องมากที่สุด ประกอบด้วย

ระดับที่ 1 อาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้ง 400 เขต ที่มีหน่วยเลือกตั้งรวมประมาณ 95,000 หน่วย ที่ตั้งเป้าจะมีอาสาสมัครประมาณ 100,000 คน ประจำทุกหน่วยเลือกตั้ง
อาสาสมัครหลักในระดับหน่วยเลือกตั้งในทุก ๆ คูหาจะมาจาก สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ที่กระจายอยู่ทุกจังหวัด ทุกเทศบาล และทุกตำบล ที่มีหน่วยเลือกตั้งในระดับหมู่บ้านมากกว่า 80,000-90,000 หมู่บ้าน

อาสาสมัครจากพรรคการเมือง เพราะทุกพรรคจะมีอาสาสมัครของพรรค ประจำอยู่ในทุกหน่วยเลือกตั้งอยู่แล้ว พรรคที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว คือ พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคก้าวไกล, พรรคไทยสร้างไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ

รวมทั้งอาสาสมัครอิสระภาคประชาชน จากภาคีเครือข่ายที่ร่วมกัน คือ iLaw, Vote62, WeWatch, อาสาสมัครอิสระภาคประชาชน

ส่วนในกรุงเทพมหานคร 33 เขต ทางกรุงเทพมหานครจะให้ความร่วมมือ อำนวยความสะดวกในการรายงานคะแนนเลือกตั้งจ ากเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ประมาณ 6,500 คน ที่ประจำอยู่ในทุกคูหาเลือกตั้ง เพื่อให้ได้ผลคะแนนเลือกตั้งอย่างรวดเร็วและถูกต้อง

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้แสดงความจำนงเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้งด้วย โดยจะส่งอาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่เขตเลือกตั้งใกล้มหาวิทยาลัย หาสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือมัธยมปลายทั่วประเทศ ที่สนใจจะร่วมสนับสนุนโครงการนี้ที่เป็นกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย ด้วยการให้นักศึกษาและนักเรียนมัธยมปลายเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้ง ยังสามารถแจ้งความจำนงมาได้ทุกจังหวัด

ระดับที่ 2 อาสาสมัครหัวหน้าเขตเลือกตั้ง 400 เขต และทีมงานที่จะทำงานประสานงานกับสำนักงาน กกต.เขต และ กกต.จังหวัด ในการรับคะแนนที่เจ้าหน้าที่ กกต.เขตกรอกเข้าไปในระบบ ETC Report อาสาสมัครในระดับที่ 2 จะมีแนวทางการทำงานร่วมกับบุคลากรในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนในพื้นที่ต่าง ๆ, มหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีวิทยาเขตกระจายอยู่ทั่วประเทศ และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล โดยจะประชาสัมพันธ์ให้อาจารย์, เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยและนักศึกษาของแต่ละสถาบัน เข้าร่วมโครงการฯ ในฐานะหัวหน้าเขตเพื่อบริหารอาสาสมัครใน 400 เขต

ระดับที่ 3 อาสาสมัครศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้ง (Election Day War Room) ซึ่งวอร์รูมจะทำหน้าที่รวมศูนย์การส่งคะแนนจากอาสาสมัคร 400 เขต เข้ามาจากอาสาสมัคร 100,000 คน เพื่อกลั่นกรองและตรวจสอบคะแนนให้ถูกต้องมากที่สุด ก่อนส่งเข้าระบบประมวลผลกลางของโครงการ ที่เชื่อมต่อไปยังสำนักข่าวต่าง ๆ ที่ร่วมโครงการ เพื่อเผยแพร่ออกทุกช่องทางของสื่อต่าง ๆ

โครงการนี้ กองบรรณาธิการแต่ละสื่อ ยังมีอิสระในการตัดสินใจการเลือกนำเสนอผลคะแนนเลือกตั้งในแต่ละเขต และแสดงผลคะแนนในรูปแบบกราฟฟิกต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการแข่งขันในการนำเสนอให้น่าสนใจ ตามแนวทางหรือสไตล์ของแต่ละสำนักข่าว บนฐานข้อมูลคะแนนเดียวกัน ที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว

สำหรับศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้ง (Election Day War Room) จะอยู่ภายใต้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่มีประสบการณ์ในการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งมาหลายครั้ง ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะลงทุนติดตั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อย่างน้อย 100 เครื่อง และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

ความร่วมมือของสื่อทุกแขนง และภาคีเครือข่ายครั้งนี้้ ถือเป็นอีกก้าวของการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ เพื่อป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง ยับยั้งผลการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส ให้ทุกคะแนนเป็นไปตามมติของประชาชน เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศไทย

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นเว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช แพลตฟอร์มชุมชนข่าวสาร 77 จังหวัด พบกับเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง กับข่าวท้องถิ่นทั่วประเทศ