X

‘ชัชชาติ’ ตั้งเป้า ‘กรุงเทพฯ เป็นเมืองปลอดยาบ้า โรงเรียนและชุมชนต้องปลอดภัย’

กรุงเทพฯ – ผู้ว่าฯชัชชาติ ห่วง ปัญหายาบ้า-อาวุธปืน ซึ่งอำนาจควบคุมและแก้ไขไม่ได้อยู่ที่ กทม.ทั้งหมด แต่ตั้งเป้า ‘กรุงเทพฯ เป็นเมืองปลอดยาบ้า’ แม้จะยาก

วันที่ 8 ตุลาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ขอให้เหตุการณ์โศกนาฏกรรม ที่ จ.หนองบัวลำภู เป็นกรณีตัวอย่าง ที่อย่าคิดว่าจะไม่เกิดอีก กทม.เองต้องเตรียมพร้อมในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และต้องกำหนดมาตรการในโรงเรียนให้มากขึ้น ต้องไม่ให้คนอื่นเข้าในพื้นที่ และจัดให้มีระบบแจ้งเตือนป้องกันภัย

“เหตุการณ์หนองบัวลำภูสุดท้ายแล้วมันก็จะผ่านไป แต่ผ่านไปแล้วขอให้ทุกอย่างดีขึ้น ขอให้ผู้ที่เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม และ กทม.คงต้องเอาจริงเอาจังมากขึ้น” นายชัชขาติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ อาจเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือปัญหายาบ้าและอาวุธปืน ที่ต้องเคร่งครัดมากขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นมีสัญญาณเตือนล่วงหน้ามาแล้ว มีความไม่ปกติของสภาพจิตใจ แต่หากคนในชุมชนเข้มแข็ง อาจจะทำให้เราเห็นได้ว่าคนในชุมชนเป็นอย่างไร และต้องแก้ไขอย่างไร

ผู่้ว่า กทม. กล่าวด้วยว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ได้ให้คำปรึกษาและให้ยารักษาผู้ติดยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง แต่มีศูนย์ฯ ที่ให้บริการรักษาโดยตรง ผ่านคลินิกก้าวใหม่ 18 แห่ง เน้นให้การรักษาผู้เสพเฮโรอีนและยาบ้า นอกจากนี้ ยังมี ‘บ้านพิชิตใจ’ ซึ่งให้การรักษาแบบพักค้าง ระยะเวลารักษา 1 เดือน และ รพ.ตากสิน รวมแล้วมีสถานพยาบาลในสังกัด กทม. 20 แห่ง มีผู้เข้ารับการบำบัดและรักษา จำนวนกว่า 1,000 คน ทั้งนี้ พบว่าผู้ที่ติดเฮโรอีนจะรักษาด้วยการให้ยาอื่นทดแทน ซึ่งมีสัดส่วนผู้ติดเฮโรอีนมากถึง 80% ที่เหลือ 20% เป็นยาบ้า ซึ่งไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ต้องใช้วิธีการรักษาด้วยใจ

ด้าน พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้ว่า หากแยกประเภทปัญหาจะพบว่า ปัญหา คือ อาวุธปืน ยาเสพติด และพฤติกรรมของคน เรื่องยาเสพติดช่วงหนึ่งมีนโยบายจับกุมและดำเนินคดี จากนั้นมีนโยบายผู้เสพคือผู้ป่วย ซึ่งต้องให้การดูแลเชิงลึกขึ้น แต่หากสถานที่ไม่เพียงพอ คนดูแลไม่พอ และผู้เสพไม่ให้ความร่วมมือ ก็จะเป็นการแก้ปัญหาแบบผิวเผิน

ส่วนเรื่องอาวุธปืนทำได้ลำบาก เนื่องจากประเทศไทยมีจำนวนอาวุธปืนหลักล้านกระบอก แต่นโยบายควบคุมอาวุธปืนก็มีความเข้มแข็งและชัดเจน ระบุว่าคนที่จะซื้อและครอบครองอาวุธปืนเป็นใคร จะสามารถเก็บไว้ที่บ้าน หรือจะมีแล้วสามารถพกพาได้ ในแต่ละปีมีการพิจารณาอนุญาตเพียงหลักร้อยเท่านั้น โดยเป็นผู้ที่มีความจำเป็นจริง ๆ อาทิ ผู้พิพากษา อัยการ ราชทัณฑ์ ส่วนตำรวจมีข้อยกเว้น หากเป็นการใส่เครื่องแบบเพื่อปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ กทม. ได้ให้นโยบายกวดขันในสถานที่ไม่จำเป็นต้องพกพาอาวุธมากขึ้น อาทิ โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร และจะกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในสถานที่อื่นด้วย ซึ่งต้องดูว่าในส่วนของกทม.มีอำนาจอย่างไรบ้าง

นายชัชชาติ กล่าวเสริมว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงจังที่ กทม.ต้องเข้าไปดูให้เข้มข้นขึ้น ต้องเพิ่มมาตรการในชุมชน เสริมกำลังในชุมชน ให้ชุมชนดูแลผู้ติดยาและบำบัด โดยตั้งเป้าให้ ‘กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ปลอดยาบ้า’ ถึงแม้จะยากหรืออยู่นอกการควบคุมของ กทม. ในหลาย ๆ เรื่อง และชุมชน โรงเรียน ต้องเป็นเขตปลอดยาบ้า ต้องตั้งเป็นเป้าหมายเพื่อให้มีมาตรการดำเนินการ ทั้งนี้ ในชุมชนน่าจะมีข้อมูลและรู้กันอยู่แล้ว ประธานชุมชนรู้อยู่แล้วว่าคนไหน น่ากลัวหรือจะเป็นอันตราย ต้องทำข้อมูลในเชิงรุกให้เข้มแข็งขึ้น อย่างน้อยโรงเรียนของ กทม.ต้องปลอดภัย ยอมรับที่เป็นห่วงคือศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ครูอาสาก็เป็นครูผู้หญิงหรือผู้สูงอายุ ซึ่งเรื่องยาเสพติดได้หารือกับ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผ่านคณะกรรมการ Smart Safety Zone มาตลอด ที่ผ่านมา อาจไม่ได้เน้น แต่ตอนนี้ต้องร่วมมือกับตำรวจให้จริงจังและมากขึ้น

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นเว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช แพลตฟอร์มชุมชนข่าวสาร 77 จังหวัด พบกับเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง กับข่าวท้องถิ่นทั่วประเทศ