X

นครฯ – ‘ชาวสวนมังคุดเมืองคอน’ พร้อมใจลงชื่อเร่งจังหวัดแก้ปัญหา หลังถูกกดราคาต่ำ ขณะผู้ว่าฯ สั่ง ‘ล้ง’ หารือเย็นนี้

นครศรีธรรมราช : ‘ชาวสวนมังคุดเมืองคอน’ ร่วมลงชื่อหลังเดือดร้อนถูกกดราคาต่ำ ส่งตัวแทนหารือทุกภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหา ขณะผู้ว่าฯ รับลูกออกมาตรการช่วยเกษตรกรเร่งด่วน! เรียก ‘ล้ง’ รับซื้อเข้าหารือเย็นนี้ทันที

วันที่ 25 กรกฎาคม 2564 ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เกษตรกรชาวสวนมังคุดจากหลายอำเภอ เดินทางมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ หลังถูกกลุ่มพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิต (ล้ง) ที่เข้ามารับซื้อ กดราคา จนได้รับความเดือดร้อน โดยมี นายรังสิต เฉลิมวรรณ นายกเทศมนตรี ต.พรหมโลก อ.พรหมคีรี เป็นตัวแทนเกษตรกร ตั้งโต๊ะให้ชาวสวนที่เดือดร้อนเดินทางมาร่วมกันลงรายชื่อ เพื่อรวบรวมส่งมอบผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไข ตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมา

ท่ามกลางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนมาก เข้ามาคอยสังเกตการณ์และรักษาความสงบเรียบร้อย เนื่องจากก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า กลุ่มเกษตรกรจากหลายพื้นที่นัดหมายกันเพื่อเดินทางมาชุมนุมประท้วง แต่กลุ่มชาวสวนได้เปลี่ยนเป็นการทยอยเดินทางมาลงชื่อ เมื่อแล้วเสร็จก็เดินทางกลับ เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มกัน และให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19

ขณะเดียวกัน ที่ห้องประชุมชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอพรหมคีรี นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เดินทางมารับฟังปัญหา พร้อมรับเรื่องร้องทุกข์จากชาวสวนด้วยตัวเอง พร้อมด้วย นายเกรียงศักดิ์ รักษ์ศรีทอง นายอำเภอพรหมคีรี พาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ารับฟังปัญหาจากตัวแทนเกษตรกร ใช้เวลากว่า 4 ชม. ในการรับฟังและร่วมหาแนวทางแก้ไข

นายรังสิต ระบุว่า เกษตรกรไม่เพียงเฉพาะใน อ.พรหมคีรี เท่านั้น ที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก หลังจากผลผลิตออกมานับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2564 มีมังคุดทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ล้วนแต่เป็นมังคุดที่มีคุณภาพสูง มีการรับซื้อถึง 50-55 บาทต่อกิโลกรัม แต่หลังจากนั้น ราคาค่อย ๆ ทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง จนมาเหลือแค่กิโลกรัมละ 5 บาท พี่น้องชาวสวนเกิดความเดือดร้อน รับไม่ได้จากภาระต้นทุนตั้งแต่การผลิตจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะค่าแรงงานเก็บเกี่ยวอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 10 บาทแล้ว

ขณะที่ผู้รับซื้อรายหนึ่งที่เข้าร่วมประชุมด้วย ให้ข้อมูลถึงปัญหาที่มีการตั้งคำถามกันมากว่า “ใครเป็นผู้กำหนดราคาผลผลิตของเกษตรกร” โดยบอกว่า ‘ประเทศจีน’ เป็นผู้กำหนดราคา ห้ผู้ประกอบการ หรือ ล้ง เข้ามารับซื้อ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีหลายปัจจัย ที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบไปพร้อม ๆ กัน อย่างปัญหาแรงงาน ซึ่งขณะนี้เกิดปัญหาระบบการบรรจุส่งออกอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด หลายล้งใน อ.พรหมคีรี ทำได้เพียงคัดแยกขนาดของมังคุดและส่งต่อไปยัง จ.จันทบุรี เพื่อบรรจุหีบห่อ แล้วส่งไปยังประเทศจีนอีกครั้ง จึงมีความเสียหายจากความล่าช้าจำนวนมากเช่นกัน ทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้นไปอีกเกือบ 1 เท่าตัว ประกอบกับการรับซื้อมังคุดเข้ามามากก่อนหน้านี้ ทำให้การไหลของมังคุดเข้าระบบกลายเป็นคอขวด ราคาจึงตกต่ำอย่างมาก โดยเฉพาะผลผลิตจากจังหวัดอื่น ๆ ที่ถูกลำเลียงเข้ามาขายกับพ่อค้าและล้ง ที่มาเปิดรับซื้อผลผลิตใน จ.นครศรีธรรมราช

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัด รับฟังปัญหาอย่างครบถ้วน จากตัวแทนชาวสวนที่เข้าร่วมแจ้งปัญหา และผู้ประกอบการที่เข้าประชุมด้วย ในครั้งนี้แล้ว ได้ข้อสรุป 5 ประเด็น ประกอบด้วย

1.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร และผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ (ล้ง) ร่วมหารือกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้แสดงราคารับซื้อในแต่ละวันอย่างชัดเจน

2.ให้ล้งแจ้งเปิด-ปิดการรับซื้อล่วงหน้า เพื่อสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ขณะที่ส่วนราชการจะเข้ามาช่วยเหลือแก้ปัญหาของผู้ประกอบการ ทั้งมาตรการต่าง ๆ และแรงงาน หากจำเป็นจะขอการสนับสนุนกำลังทหาร และแรงงานจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้น

3.ปัญหาระบบขนส่ง (โลจิสติกส์) และตู้คอนเทนเนอร์ จังหวัดรับจะประสานหารือไปยังผู้รับผิดชอบต่อไป

4.การแก้ปัญหาระดับพื้นที่ ซึ่งจังหวัดจะจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการขายเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ทั้งการขายออนไลน์ การจัดประมูลออนไลน์ การสนับสนุนเรื่องบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้เกษตรกรจัดส่งทางไปรษณีย์ รวมถึงการส่งเสริมการขายที่จะสามารถดำเนินการได้

5.จังหวัดมีงบประมาณเป็นค่าขนส่งผลผลิตในภาวะราคาตกต่ำ ที่กิโลกรัมละ 3 บาท ซึ่งได้รับอนุมัติมาเพียง 1,000 ตัน ผู้ว่าฯ ขอให้รองผู้ว่าฯ หาแนวทางเพิ่มจาก 1,000 ตัน เป็น 10,000 ตัน โดยให้ตั้งตัวแทนเกษตรกรหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อสรุปว่า จะนำเงินส่วนนี้มาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อช่วยเหลืออย่างไรและเมื่อไหร่ ซึ่งตนเองจะจัดประชุมในวันอังคารนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน

ทั้งนี้ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังกล่าวในที่ประชุมก่อนเสร็จสิ้นการหารือว่า เย็นวันนี้ จะเรียกผู้ประกอบการรับซื้อ หรือ ล้ง เข้ามาหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากขณะนี้ล้งหยุดการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ 2 แล้ว ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพี่น้องชาวสวนที่จะต้องเก็บเกี่ยวผลผลิต ไม่มีที่รับซื้อ พร้อมกับให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่น ประสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรที่ยังพอชะลอการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ให้ชะลอออกไปก่อนในระยะ 2-3 วันนี้ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการเร่งแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็วที่สุด

ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า ในฤดูการผลิต 2564 นี้ จะมีมังคุดในพื้นที่ออกสู่ตลาด แบ่งออกเป็น 3 เกรด คือ มังคุดเกรดส่งออก ประมาณ 30,000 ตัน, มังคุดเกรดคละ ประมาณ 17,000 ตัน และมังคุดตกเกรด ประมาณ 9,000 ตัน

อ่านข่าวก่อนหน้านี้ที่ลิงก์ด้านล่าง :

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นเว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช แพลตฟอร์มชุมชนข่าวสาร 77 จังหวัด พบกับเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง กับข่าวท้องถิ่นทั่วประเทศ