X

ชาวสวนคีรีวง รอเฮ ‘มังคุดเขาคีรีวง’ เตรียมขึ้นทะเบียน GI

นครศรีธรรมราช :  กระทรวงพาณิชย์ เตรียมขึ้นทะเบียน ‘มังคุดเขาคีรีวง’ เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ชนิดที่สองเมืองคอน ต่อจาก ส้มโอทับทิมสยาม

วันที่ 5 สิงหาคม 2563 ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ลงพื้นที่รับฟังการนำเสนอผลการดำเนินงาน และรับมอบคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “สินค้ามังคุดเขาคีรีวง” โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และภาคีเครือข่าย เป็นแกนนำขับเคลื่อนการจดทะเบียน GI ต่อจากส้มโอทับทิมสยาม
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา คาดว่า จะสามารถขึ้นทะเบียน GI “มังคุดเขาคีรีวง” ได้เร็ว ๆ นี้ พร้อมกันนี้ จะร่วมหารือกับหน่วยงานในพื้นที่ คุมเข้มกระบวนการผลิต และเตรียมจัดทำแผนควบคุมตรวจสอบสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อรักษามาตรฐานสินค้า ทั้งนี้ จากการสำรวจเบื้องต้น พบยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่มีคุณสมบัติเข้าข่าย สามารถขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI และมีศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งตลาดในและต่างประเทศ ซึ่งกรมฯ จะผลักดันต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.รุ่งรวี จิตภักดี อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า จากการดำเนินงานลงพื้นที่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ค้นหาอัตลักษณ์ตามหลักทางภูมิศาสตร์ หรือ GI โดยการเก็บข้อมูลจากสวนตัวอย่างกว่า 300 สวน ทำให้ได้ข้อมูลที่สำคัญ บ่งชี้ถึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของมังคุดเขาคีรีวง คือ ผลมีขนาดใหญ่ เฉลี่ยเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-9 เซนติเมตร น้ำหนัก 4 ผล/1 กิโลกรัม ลูกกลม เปลือกหนา ผิวมันวาว หูและกลีบขั้วสีเขียวสด ก้นรี มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน เนื้อผลเป็นสีขาวลักษณะโดดเด่นนี้ เป็นผลมาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศที่แตกต่าง ทำให้ชาวสวนสามารถผลิตมังคุดได้ทั้งปี เฉลี่ย 1,000-1,500 ตัน/ปี โดยมังคุดจะทยอยออกผล ยิ่งพื้นที่สูงจะยิ่งออกผลช้า ทำให้เป็นข้อดีทางการตลาด สามารถขายได้ราคาสูง เฉลี่ยกิโลกรัมละ 400-500 บาท พื้นที่ที่สามารถขอขึ้นทะเบียน GI สินค้ามังคุดเขาคีรีวงได้ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 38,500 ไร่ ทั้ง ต.กำโลน และบางหมู่บ้านของ ต.ท่าดี และ ต.เขาแก้ว อ.ลานสกา อีกทั้งยังมีลักษณะการเก็บเกี่ยวผลผลิต ที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของชาวคีรีวง คือ การใช้รถ Zero ขึ้นไปเก็บมังคุดบนเขาซึ่งมีเฉพาะที่นี่เท่านั้น

การจัดทำสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “มังคุดเขาคีรีวง” ครั้งนี้ ม.วลัยลักษณ์ โดยสำนักวิชาการจัดการและศูนย์บริการวิชาการ ร่วมมือกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา คณะผู้แทนจากหน่วยงานใน จ.นครศรีธรรมราช อาทิ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผู้ผลิตและผู้ประกอบการในพื้นที่ ลงพื้นสำรวจ ประชุมหารือสรุปผลการดำเนินงานและนำเสนอความคืบหน้าในการจัดทำร่างคำขอขึ้นทะเบียน GI รวมถึงคู่มือปฏิบัติงานสำหรับสมาชิกผู้ที่จะขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI และแผนการควบคุมตรวจสอบสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อีกด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นเว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช แพลตฟอร์มชุมชนข่าวสาร 77 จังหวัด พบกับเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง กับข่าวท้องถิ่นทั่วประเทศ