X

กลุ่ม ‘ปฏิญญา ชาวสวนยาง’เมืองคอน ท้อใจ ลาออก กก.แก้ไขปัญหายางฯ ที่ รมว.เกษตร ตั้ง

นครศรีธรรมราช : นายมนัส บุญพัฒน์ ประกาศลาออกจาก คณะกรรมการแก้ไขปัญหายางฯ ที่ รมว.เกษตร ตั้ง พร้อมนายลิขิต เทพราช เหตุ อิงแอบพรรคพวกและนักการเมืองควบคุมโครงสร้าง ชี้ ปัญหารากหญ้าไปไม่ถึง แนะ จับตาความเคลื่อนไหวระลอกใหม่

นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย ในฐานะกรรมการกลุ่มปฏิญญาชาวสวนยางและสถาบันชาวสวนยางพันธมิตร ส่งจดหมายเปิดผนึกผ่านโลกโซเชียล ชี้แจงถึงการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่เป็น ‘คณะกรรมการติดตามเสนอการแก้ไขปัญหายางพารา’ ซึ่งแต่งตั้งโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เข้าไปร่วมระดมความคิดเห็น และสะท้อนมุมมองในการแก้ไขปัญหาร่วม

นายมนัส ระบุในจดหมายว่า เตรียมขอลาออกจากการเป็นกรรมการดังกล่าว และเตรียมพร้อมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา ตามแนวทางของกลุ่มปฏิญญาชาวสวนยางและสถาบันชาวสวนยางพันธมิตรต่อไป

โดยข้อความระบุว่า ผม..มนัส บุญพัฒน์ และพี่ลิขิต เทพราช ได้รับมอบหมายจากชาวสวนยางผู้ร่วมชุมนุม ควนหนองหงส์-นาหมอบุญ ให้ เป็นตัวแทนในคณะกรรมการติดตามเสนอการแก้ไขปัญหายางพาราฯ ๒ ใน ๑๘ คน ที่แต่งตั้งโดย รมต.เกษตรฯ (จากที่เสนอ ๔ คน แต่งตั้งแค่ ๒ คน)

การประชุมคณะกรรมการผ่านมาสองรอบ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. และ 7 พ.ค.2563 มีเสียงเสนอการแก้ไขปัญหาจากผมและพี่ลิขิต ตามเนื้อหาเงื่อนไขและข้อสรุปที่มาจากการชุมนุม แต่ก็ไม่เป็นผล และไม่ได้รับการพิจารณา เพราะยังมีการเดินหน้าทำตามมิติวิธีเดิมๆ ยังเป็นความคิดแบบพรรคพวกและนักการเมืองที่เข้าควบคุมโครงสร้างความเป็นกรรมการ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่สะท้อนจากคนรากหญ้าไม่มีทางแทรกซึมเข้าสู่สำนึก ของผู้มีอำนาจบารมีเพื่อหาทางปรับขยับเปลี่ยนการบริหารจัดการระบบยางพาราได้เลย

การประชุมแบบส่งลูก-รับลูก ของผู้มีอำนาจฝ่ายการเมืองที่มีการยางต้องคอยอ่อนไหวลู่ลมตาม การยึดถือเอาวิธีใช้ช่องทางโดยมุ่งเน้นการชดเชย ตามรูปแบบมาตรการให้พอสมอ้างว่าเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร การมุ่งความมัวเมาผันเงินจากภาษีของชาติ มาสอดใส่เข้ากระเป๋าเกษตรกรเหมือน ในหลายๆครั้งที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะมีใครจะเห็นด้วย แต่ใครบ้างที่จะกล้าขัดขืน

“คณะกรรมการติดตามเสนอมาตรการการแก้ไขปัญหาและรักษาเสถียรภาพราคายาง” ที่ได้รับการแต่งตั้งมอบหมาย เมื่อคิดและทำกันคนละทางของหน้าที่ๆได้รับมอบหมาย ผมและพี่ลิขิตก็ไม่จำเป็นจะต้องไปสมรู้ร่วมคิด แค่กำลังการดึงลากที่พวกมีก็มากพอดูอยู่แล้ว (ยกเว้นการเยียวยาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เราสองคนก็เห็นด้วย)

การชดเชยแม้จะเกิดประโยชน์ในระยะเร่งด่วนก็จริงอยู่ แต่เมื่อเร่งด่วนมาหลายๆ รัฐบาล และเป็นการทำกันมาติดต่อในหลายๆ ปีงบประมาณ จึงไม่ใช่เป็นวิธีที่เกษตรจะยินดีเห็นด้วยไปเสียทั้งหมด การใช้จ่ายลงทุนงบประมาณเป็นจำนวนมากแต่ราคายางและทิศทางความเสถียรในอาชีพก็ยังไม่สามารถชี้ความสุขความหวังในอนาคตให้เห็น การไม่ได้คิดค้นหาวิธีตั้งรับ การไม่มีนโยบายเพื่อเตรียมพยุงแก้ไข การใช้วิธีแก้แบบที่ผ่านๆมา ชดเชย-ประกันรายได้-ตีราคายางเป็นเงินโอนบัญชี-เกษตรกรได้รับบ้างตกค้างบ้าง-แต่นักการเมืองสามารถจับฉวยเอาผลงานโดยสร้างความหวังให้ชาวสวนยางชะเง้อคอรอคอย
ไม่ต้องใช้วิธีคิด ไม่ต้องออกแบบใช้สมอง ไม่ต้องศึกษาหาวิธีแก้ไข เพียงคอยลอกเลียนแบบจากรัฐบาลก่อนๆ ทำซ้ำๆ ทางเดียวทุกๆ ปีงบประมาณ

ดังนั้น!.ผมและพี่ลิขิต จึงไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯชุดนี้อีกต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายการประชุมสองครั้งที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณเงินที่พี่น้องร่วมลงขันและอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินส่วนตัว เป็นค่าอาหารค่าเดินทางที่ทุกคนยินดีเสียสละ

ขอให้อดใจรอเวลา จังหวะ เงื่อนไขและโอกาส ที่ได้เคยประกาศกันไว้ ‘ปฏิญญา ชาวสวนยาง’

มนัส บุญพัฒน์
12 มิถุนายน 2563 #####

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นเว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช แพลตฟอร์มชุมชนข่าวสาร 77 จังหวัด พบกับเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง กับข่าวท้องถิ่นทั่วประเทศ