X

เชียงใหม่ ครั้งแรกของไทย ม.แม่โจ้ ประสบความสำเร็จปลูกกัญชาทางการแพทย์ในระบบอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม

เชียงใหม่ : รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้เปิดเผยว่า โครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาเพื่อทางการแพทย์ในระบบอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยแม่โจ้กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีหน่วยงานที่ทำการศึกษาวิจัยการปลูกพืชในระบบอินทรีย์อยู่แล้วโดยเริ่มจากการมีศูนย์วิจัยและพัฒนาไส้เดือนดินในการกำจัดขยะอินทรีย์  ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งได้ทำการวิจัยการปลูกพืชระบบเกษตรอินทรีย์ในโรงเรือนอัจฉริยะ  ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานจาก IFOAM และ USDA หน่วยงานที่รับรองการปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ภายในโรงเรือน แบบ Smart Farming

        

ทางมหาวิทยาลัยจึงได้ทำโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์เสนอต่อกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จนเกิดการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ขึ้นระหว่างกรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พาวิน มโนะชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ลงนามความร่วมมือ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2562 และต่อมาเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการพืชเสพติดให้ปลูกกัญชาในพื้นที่จำเพาะในโรงเรือนอัจฉริยะ เนื้อที่ 3,040 ตารางเมตร สามารถปลูกกัญชารุ่นแรกได้จำนวน 12,000 ต้น โดยใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้รับจากกรมการแพทย์ ชื่อพันธุ์อิสระ 01 (ISSARA 01) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีสาร CBD และ THC ระดับสมดุล และในวันที่ 21 กันยายน 2562 นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมาเยี่ยมชม และปลูกกัญชาต้นแรกในโรงเรือนอัจฉริยะ ณ ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย  จ.เชียงใหม่ ซึ่งโรงเรือนอัจฉริยะนี้อยู่ในโครงการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นหน่วยงานวิสาหกิจของมหาวิทยาลัย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ

ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ประสบความสำเร็จ จากงานวิจัยในโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในระบบเกษตรอินทรีย์ Smart Organic Farming ภายในโรงเรือนอัจฉริยะ Smart Farming แบบ IOT กัญชาเป็นพืชที่มีกลิ่นหอมดึงดูดแมลงศัตรูพืชได้ดี มีผลต่อการเกิดโรคพืชได้ระยะต่อไปซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมากและบ่อยครั้ง ซึ่งจะทำให้กัญชามีสารเคมีตกค้าง ส่งผลต่อการนำไปใช้ทางการแพทย์ จึงจำเป็นต้องปลูกในระบบอินทรีย์ โดยเริ่มจากการเพาะเมล็ดซึ่งใช้นวัตกรรมวัสดุปลูก และเทคนิคการเพาะเมล็ดที่ทำให้เมล็ดงอกภายในระยะเวลาสั้น และเริ่มนำต้นกล้าปลูกในวัสดุปลูกตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ในโรงเรือนขนาดเนื้อที่ 3,040 ตารางเมตร ปลูกระยะชิดได้จำนวน 12,000 ต้น ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดและใช้นวัตกรรมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จาก IFOAM และ USDA ทั้งวัสดุปลูกอินทรีย์การให้น้ำและสารอาหารอินทรีย์ (N,P,K) การควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และแสง รวมทั้งการกำจัดศัตรูพืช โดยแมลงกำจัดศัตรูพืช เช่น ตัวห้ำ ตัวเบียน และมวนพิฆาต รวมทั้งการใช้สารจุลินทรีย์กำจัดโรคพืช ซึ่งเป็นงานวิจัยของคณาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ถึง 13 ชนิดรวมทั้งเทคนิคการจัดการความเครียดของพืช เพราะกัญชาเป็นพืชที่มีความไวต่อความเครียด เช่น ขาดน้ำ ขาดอาหารที่จำเป็นและช่วงความยาวแสงซึ่งจากประมาณการเบื้องต้นกัญชาจำนวน 12,000 ต้น จะให้ผลผลิตจากต้นเพศเมียเพียง 6,000 ต้น ที่เหลือจะเป็นเพศผู้ซึ่งไม่ให้ผลผลิตดอกกัญชา แต่จากเทคนิคการจัดการความเครียดทำให้ได้ต้นเพศเมียมากถึงเกือบ 7,500 ต้น และเนื่องจากเป็นการปลูกในช่วงฤดูหนาวจึงต้องใช้เทคนิคกในการควบคุมแสงและอาหารไม่ให้กัญชาออกดอกเร็วในขณะที่ต้นไม่สมบูรณ์เต็มที่ ขณะนี้ต้นกัญชามีความสมบูรณ์เต็มที่ออกดอกประมาณ 8 ช่อต่อ 1 ต้น พร้อมให้เก็บเกี่ยวซึ่งหลังการเก็บเกี่ยวจะได้ผลผลิตดอกกัญชาสดไม่น้อยกว่า 10,000 กิโลกรัมหรือ 10 ตัน เพื่อส่งมอบให้กรมการแพทย์และองค์การเภสัชกรรม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับเกียรติจาก พณฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีระกูล จะเดินทางมาตัดช่อกัญชาช่อแรกที่ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในวันที่ 15 มกราคม 2563 นี้ นับเป็นผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จในระดับชาติ จากโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาทางการแพทย์ 12,000 ต้น ในระบบอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมครั้งแรกของประเทศไทย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน