X

กาฬสินธุ์เขื่อนลำปาวเริ่มส่งน้ำเข้าคลองช่วยเกษตรกร

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาวกาฬสินธุ์เริ่มส่งน้ำเข้าคลองระบบชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรปลูกพืชและการประมงในพื้นที่ท้ายน้ำ หลังระดับน้ำอยู่ที่ 1,736 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 87 เปอร์เซ็นต์

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 จากการติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งเก็บน้ำต่างๆในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พบว่า ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเริ่มลดลง ล่าสุดมีน้ำไหลเข้าเพียง 1.64 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากไม่มีฝนตกลงมาในพื้นที่ หลังจากก่อนหน้านี้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมามีพายุฝนทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้า ซึ่งทางเขื่อนสามารถกักเก็บไว้ใช้การอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้มากว่า 1,200 ล้าน ลบ.ม.

ด้านนายพงศ์ศักดิ์ ณ ศร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนที่ตกลงมาในช่วงที่มีพายุโพดุลและพายุคาจิกิ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม – ช่วงต้นเดือนกันยายน 2562 มีปริมาณไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางเขื่อนลำปาวสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรในช่วงดังกล่าวได้มากกว่า 1,200 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 จนถึงปัจจุบันมีน้ำไหลเข้าอ่างสะสม 1,644 ล้าน ลบ.ม.ทำให้เขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำล่าสุดอยู่ที่ 1,736 ล้าน ลบ.ม.จากความจุกักเก็บ 1,980 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 87 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,636 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 82 เปอร์เซ็นต์

นายพงศ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่มีพายุฝนตกทางเขื่อนลำปาวได้ปิดประตูทั้ง 4 บาน และไม่ได้ระบายน้ำ เนื่องจากพื้นที่ตอนท้ายมีน้ำมาก และต้องพยายามกักเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด แต่ขณะนี้ทางเขื่อนได้เริ่มที่จะส่งน้ำเข้าคลองระบบชลประทาน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ท้ายน้ำในการใช้อุปโภค บริโภค และช่วยเหลือเกษตรกรเฉลี่ยวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. และปล่อยลงสู่ลำน้ำปาวเพื่อรักษาระบบนิเวศเพียงวันละ 50,000 ลบ.ม. เนื่องจากไม่ให้มีผลกระทบในพื้นที่ท้ายน้ำที่ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ตามนโยบายของกรมชลประทาน อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์น้ำของเขื่อนลำปาวในปัจจุบันยืนยันว่าปริมาณน้ำจะเพียงพอและสามารถสนับสนุนใช้ได้ในทุกกิจกรรม ทั้งอุปโภค บริโภค ทำการเกษตร และประมงในช่วงฤดูแล้งอย่างแน่นอน ซึ่งหลังจากนี้ทางเขื่อนลำปาวก็จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ หรือ JMC โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำเข้าร่วม เพื่อที่จะร่วมกันวางแผนในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน