X

ชาวบ้านร้องสอบโครงการ 9101 กุฉินารายณ์ งบ 23 ล้าน ปลา-หัวอาหารแพงผิดสเปค

ฉาวอีกชาวบ้านร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบโครงการ 9101 ฟื้นฟูน้ำท่วม ในอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์งบประมาณ 23 ล้านบาท ระบุหน่วยงานรัฐยัดเยียดโครงการแจกพันธุ์ปลาขนาดเล็ก-หัวอาหารผิดประเภทและราคาแพง ด้าน ก.ธ.จ.แฉข้าราชการล็อกสเปคผู้รับเหมา สั่งห้ามกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้ามายุ่ง พบราคาปลา-หัวอาหารแพงจริง ขณะที่คณะกรรมการตรวจสอบเตรียมชงเพื่อฟันทุจริตโครงการ 9101 บัวบาน พบขรก.- ผู้นำชุมชนเอี่ยวเพียบ

จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในหลายพื้นที่ของ จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง เขาวง และ อ.สมเด็จ ซึ่งมีการตั้งราคาซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง พันธุ์ปลาดุก หัวอาหาร และสารปรับปรุงดินแพงกว่าท้องตลาด ไม่เหมาะสมกับราคา จนชาวบ้านต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องทุกข์กับพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กระทั่งคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตโครงการ 9101 จ.กาฬสินธุ์เข้าตรวจสอบพบการจัดซื้อปัจจัยการผลิตของ ต.บัวบาน อ.ยางตลาดผิดระเบียบมีราคาสูง รวมทั้งมีข้าราชการและผู้นำชุมชนร่วมขบวนการแสวงหาผลประโยชน์และดำเนินการส่อไปในทางทุจริต

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 ชาวบ้านใน ต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการตรวจสอบของจังหวัด สตง.และปปท.ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการ 9101 ในพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ โดยชาวบ้านระบุว่าเป็นการยัดเยียดโครงการให้กับเกษตรกรทั้งที่ไม่ต้องการ และได้รับการแจกจ่ายพันธุ์ปลา ซึ่งมีขนาดเล็ก ไม่เหมาะสมกับราคา อีกทั้งยังได้รับการแจกจ่ายหัวอาหารปลาราคาแพง แต่ผิดประเภท ไม่มีวันเดือนปีผลิตและวันหมดอายุไว้ที่ข้างกระสอบ หลังจากชาวบ้านร้องเรียนปัญหาการแจกจ่ายปัจจัยการผลิตต่างๆในโครงการ 9101 ของทุกตำบล ซึ่งรวมงบประมาณกว่า 23 ล้านบาท ไม่เหมาะสมและคุ้มค่ากับเงินที่รัฐบาลช่วยเหลือน้ำท่วมรายละ 5,000 บาท ไปยังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ แต่เรื่องกับเงียบหายไป และเกรงว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับรายทุนมากกว่าชาวบ้าน

นายเชาวลิต วิชัย อายุ 36 ปี ชาวบ้านบุ่งคล้า ม.5 ต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ทราบว่ารัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม ผ่านโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดรายละ 5,000 บาท ทำให้ตนและชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมดีใจเป็นอย่างมาก แต่เมื่อมีการปฏิบัติ กระทั่งมีการนำปัจจัยการผลิตมาแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน เหมือนกับเป็นการบังคับและยัดเยียดโครงการให้กับชาวบ้าน เพราะหลายคนอยากเลี้ยงไก่ แต่กลับได้ปลา ไม่ตรงตามความต้องการ นอกจากนี้การนำปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะพันธุ์ปลามาแจกจ่ายให้กับชาวบ้านนั้นก็มีขนาดเล็ก ไม่เหมาะสมกับราคา เช่น พันธุ์ปลาดุกที่มีการจัดซื้อตัวละ 2 บาท ขนาดเพียง 5-7 ซม.และแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นปลาขนาดเล็ก ไม่เหมาะกับราคาตัวละ 2 บาท

นายเชาวลิต กล่าวอีกว่า สำหรับครอบครัวตนนั้นเดิมแจ้งเรื่องไปยังเจ้าหน้าที่เกษตรต้องการที่จะเลี้ยงปลาหมอเทศ และปลานิลหมัน แต่กลับได้รับการแจกจ่ายเป็นปลาตะเพียน และปลานิล ซึ่งมีขนาดเล็ก รวมทั้งหัวอาหารปลาซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการแจ้งว่าจะได้รับหัวอาหารยี่ห้อซีพี ซึ่งมีมาตรฐาน ในราคาที่จัดซื้อมากระสอบละ 600 บาท แต่วันที่นำมาแจกกลับกลายเป็นยี่ห้อพีซี และเป็นหัวอาหารผิดประเภท คือ เป็นหัวอาหารปลาขนาดกลางและขนาดใหญ่ แต่ปลาที่นำมาแจกเป็นปลาเล็ก ปลาเล็กจึงไม่สามารถกินได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวทราบว่าชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอกุฉินารายณ์แล้ว เนื่องจากเห็นว่าปัจจัยที่นำมาแจกจ่ายให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่นั้นไม่เหมาะสมกับราคาและมีราคาแพง แต่เรื่องกับเงียบหายไป จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เข้ามาตรวจสอบด้วย

ด้านนายชาญยุทธ นันแก้ว คณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ หรือ ก.ธ.จ.ภาคประชาสังคม กล่าวว่า จากการที่ได้รับแจ้งข่าวจากประชาชนพบว่าการดำเนินโครงการ 9101 ในพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่มากกว่า 70 % เป็นโครงการเลี้ยงปลาดุก รองลงมาคือปลูกพืชระยะสั้น เลี้ยงปลานิล และปลาตะเพียน รวมเป็นเงินงบประมาณกว่า 23 ล้านบาท ซึ่งพบความผิดปกติและส่อไปในทางทุจริตเกือบทุกตำบล เนื่องจากมีการจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกที่มีขนาดเล็ก แต่ราคาแพงถึงตัวละ 2 บาท และจากนี้ยังมีการจัดซื้อหัวอาหารที่ราคาสูงถึงกระสอบละ 600 บาท รวมทั้งปุ๋ย และสารปรับปรุงดินที่จัดซื้อราคาสูงกว่าท้องตลาด ซึ่งเรื่องดังกล่าวเบื้องต้นทราบว่ามีข้าราชการสังกัดกระทรวงเกษตรฯและฝ่ายปกครองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการล็อกสเปกผู้รับเหมาที่นำปัจจัยการผลิตมาส่งและมีการสั่งห้ามกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนำผู้รับเหมามาเอง
ขณะที่ พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผอ.รมน.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริต

โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า สำหรับการตรวจสอบของ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พบว่า มีส่วนต่างของราคาปัจจัยการผลิตอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง มีส่วนต่างจากราคาที่จำหน่ายออกมาจากร้านและมาส่งในพื้นที่นั้นเฉลี่ยกระสอบละ 200 บาท สารปรับปรุงดินกระสอบละ 300 บาท นอกจากนี้ยังความชัดเจนในเรื่องการทำสัญญาซื้อขายปัจจัยการผลิต โดยประธานและคณะกรรมการชุมชน เป็นผู้จัดซื้อเองทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งถือเป็นการจงใจและเจตนาในการดำเนินการส่อไปในทางทุจริตตั้งแต่ต้น เพราะมีการตั้งราคาซื้อที่สูงและทำผิดระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้กลุ่มเกษตรกรเจ้าของโครงการเป็นผู้จัดซื้อ ไม่ใช่ประธานและกรรมการเป็นคนซื้อ

พ.อ.มานพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบว่ามีข้าราชการและกลุ่มผู้นำชุมชนร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์ ดำเนินการส่อไปในทางทุจริต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวบรวมเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องอีกบางส่วน ก่อนที่จะสรุปผลสอบรายงานให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน