X

สางคดีสถาบันการเงินหลอกชาวบ้านกู้เงินคนละ 2 แสนมูลค่า 65 ล้าน

ปัดฝุ่นคดีชาวบ้านในอำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ 300 คน ถูกประธานสถาบันการเงินหลอกกู้เงินธนาคารออมสินคนละ 2 แสนบาท รวมมูลค่ากว่า 65 ล้านบาท และถูกฟ้องให้รับภาระหนี้ ล่าสุดผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม ลงพื้นที่ทำความเข้าใจ ยืนยันอยู่เคียงข้างชาวบ้าน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและให้ความเป็นธรรม ตามนโยบายกระทรวงยุติธรรม

จากกรณีชาวบ้าน 4 ตำบลใน อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ กว่า 300 คน อ้างถูกสถาบันการเงินหลอกให้กู้เงินคนละ 2 แสนบาท รวมมูลค่า 65 ล้านบาท ก่อนได้รับใบแจ้งหนี้และหมายศาล กระทั่งเกิดกระแสต่อต้านไม่ยอมรับภาระหนี้ ก่อนที่จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ดำรงธรรม ฝ่ายกฎหมายและงานทะเบียน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเข้าไกล่เกลี่ยและตรวจสอบ มีการแจ้งความกล่าวโทษประธานและกรรมการบริหารในข้อหาฉ้อโกง ตามข่าวที่เสนออย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

วันที่ 5 ม.ค. 61 ที่หอประชุมอำเภอท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ นายณรงค์ ขำเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติ จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะผู้อำนวยการยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายไชยา เครือหงส์ หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง นิติกร ได้ตั้งโต๊ะรับลงทะเบียนและชี้แจงทำความเข้าใจ เกี่ยวกับระเบียบ ข้อกฎหมายให้กับชาวบ้านจำนวน 200 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ไปทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารออมสิน สาขาท่าคันโท ช่วงปี 2557-2559 คนละ 2 แสนบาท แต่ไม่ยอมรับสภาพลูกหนี้ โดยยืนยันว่าถูกประธานและกรรมการสถาบันการเงินฯ หลอกลวงให้ไปกู้เงิน

นางกาญจนา ชารี อายุ 47 ปี บ้านเลขที่ 131 บ้านเลขที่ 12 ต.นาตาล อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 2557-2559 เริ่มจากมีตัวแทนกรรมการสถาบันการเงินชุมชนท่าคันโท หมู่ 9 คนหนึ่งได้มาชักชวนและสัญญาด้วยวาจาชาวบ้าน ให้ไปกู้เงินจากธนาคารออมสิน สาขาท่าคันโท รายละ 200,000 บาท เพื่อระดมเงินให้สถาบันฯ ซึ่งจะได้รับเงินค่าตอบแทนหรือเงินปันผลคนละ 10,000 บาท ส่วนจำนวน 190,000 บาทนั้น สถาบันฯ จะรับผิดชอบเอง โดยจะนำไปปล่อยกู้เพื่อผลกำไรต่อไป เงื่อนไขการกู้นั้นทำง่ายๆ ไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานหรือฐานะทางการเงินใดๆ แม้แต่คนด้อยโอกาสก็กู้ได้ เพียงแต่สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ผู้ค้ำประกันอีก 2 คน และให้เปิดสมุดบัญชีเงินฝากพร้อมทำบัตรเอทีเอ็มไว้เท่านั้น

นางกาญจนากล่าวอีกว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ ฐานะยากจน เมื่อได้รับการชักชวนก็หลงเชื่อ นำหลักฐานไปทำสัญญากับธนาคารออมสินฯ หลายรอบหลายชุดรวมแล้วประมาณ 300 ราย ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนคนละ 10,000 บาทเท่ากัน บางครอบครัว 3-4 คน ก็ได้เงิน 30,000 – 40,000 หมื่น ส่วนตนกับสามีกู้ได้ 350,000 บาท ได้รับเงินค่าทำสัญญากู้ 15,000 บาท ก็ไม่คิดระแวงอะไรมาก หลังจากได้เงินมาแล้วก็นำมาจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือนตามปกติ จนครบ 1 ปี ประมาณวันที่ 20 ม.ค.60 ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้ไปชำระหนี้จากศาลกาฬสินธุ์ก็ตกใจ เมื่อสอบถามกับธนาคารออมสิน จึงรู้ตัวว่าประธานสถาบันฯ ไม่ได้นำเงินไปชำระหนี้ตามสัญญา จึงรู้ตัวว่าถูกหลอก ชาวบ้านเห็นความผิดปกติจึงได้พากันไปร้องทุกข์กับศูนย์ดำรงธรรม อ.ท่าคันโท เนื่องจากได้รับความเดือดร้อน เป็นทุกข์ใจ ถูกสถาบันการเงินฯหลอกให้กู้เงินแทนโดยไม่ได้ตั้งใจ อย่างไรก็ตามถึงแม้ต่อมาจะเข้าสู่ขั้นตอนไกล่เกลี่ย โดยศูนย์ดำรงธรรม ทหาร ธนาคารออมสิน แต่ชาวบ้านไม่ยอม สุดท้ายได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับประธานสถาบันการเงินและกรรมการที่เป็นคนไปชักชวนข้อหาฉ้อโกง ที่ สภ.ท่าคันโท แต่ถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเอาผิดได้ ในขณะที่ชาวบ้านยังได้รับหมายศาลอย่างต่อเนื่อง

“เมื่อชาวบ้านไม่น้อยกว่า 300 รายได้รับความเดือดร้อน ซึ่งรวมมูลค่าเงินที่สูญหายกว่า 65 ล้านบาท แต่ทางธนาคารออมสิน มอบอำนาจทนายมีหนังสือมาให้ชาวบ้านไปขึ้นศาล หรือให้ยอมรับภาระหนี้ จึงยอมรับไม่ได้ จึงได้พากันไปขอความช่วยเหลือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีข้อเรียกร้องคือขอความเมตตาให้ธนาคารออมสินชะลอการเรียกรับชำระหนี้ เพื่อให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินและสถาบันการเงิน ว่ามีส่วนรู้เห็นหลอกลวงชาวบ้านหรือไม่ และขอให้รับคดีอาญาข้อหาฉ้อโกงประชาชนของ สภ.ท่าคันโทเป็นคดีพิเศษ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษด้วย เพราะทราบว่าทาง สภ.ท่าคันโทส่งฟ้องอัยการ จ.กาฬสินธุ์แล้ว แต่เรื่องยังเงียบอยู่ กลัวว่าชาวบ้านจะเป็นฝ่ายรับผิดข้างเดียว ทั้งๆที่เป็นฝ่ายถูกหลอกให้ไปทำสัญญากู้เงินดังกล่าว”

ด้านนายณรงค์ ขำเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติ จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะผู้อำนวยการยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าตามที่ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ไปทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารออมสินฯ มีผู้เสียหายและวงเงินสูญหายจำนวนมาก พร้อมเรียกร้องให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือและพิสูจน์ความจริง เพราะไม่มีปัญญาชำระหนี้รายละ 2 แสน หรือบางครอบครัว 6-8 แสนบาท และได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาให้ชำระหนี้และหมายศาลมาถึง จึงได้รวมตัวกันออกมาขอความช่วยเหลือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนั้น

“หลังจากนั้น กระทรวงยุติธรรม ได้มอบหมายให้สำนักงานยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ นัดหมายชาวบ้านกลุ่มนี้เข้ามารับฟังคำชี้แนะ เพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจในส่วนที่พึงปฏิบัติตามข้อกฎมาย และเพื่อที่จะได้หาแนวทางคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ว่าชาวบ้านจะให้การว่าถูกสถาบันการเงินหลอกให้ไปทำสัญญากับธนาคารออมสินฯ หรือทางธนาคารฯ จะแจ้งว่าชาวบ้านผิดสัญญาหรือไม่อย่างไร ก็เป็นอีกกรณีซึ่งจะต้องมีการไต่สวนตรวจสอบกันในเชิงลึกต่อไป แต่อยากจะให้ชาวบ้านตระหนักว่าเมื่อได้รับหมายศาล ก็ควรจะไปตามนัด เพื่อให้มีการเจรจาประนอมหนี้ และเพื่อทางออกที่ดีร่วมกัน ทั้งนี้ได้จัดกลุ่มชาวบ้านเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ถูกศาลพิพากษาให้ชำระหนี้ 23 ราย กลุ่มที่ถูกฟ้องบังคับชำระหนี้ 179 ราย และส่วนที่เหลือประมาณ 100 ราย คือกลุ่มที่กำลังจะถูกฟ้องให้ชำระหนี้ โดยให้ชาวบ้านมาลงชื่อแสดงตัวว่าอยู่ในกลุ่มใด เพื่อจะได้ง่ายต่อการช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป”

นายณรงค์กล่าวอีกว่า ยังได้ชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจข้อกฎหมายของการทำสัญญาเงินกู้ ลักษณะของการฉ้อโกง กระบวนการของส่วนยุติธรรม เป็นต้น สำหรับประเด็นอื่นๆว่าใครผิดใครถูก ระหว่างธนาคารออมสิน สถาบันการเงิน และชาวบ้าน ก็จะมีการตรวจสอบกันต่อไป ยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งสำนักงานยุติธรรมให้ความมั่นใจว่าจะอยู่เคียงข้างชาวบ้าน ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและให้ความเป็นธรรม ตามนโยบายกระทรวงยุติธรรม อย่างไรก็ตามหลังจากได้ชี้แจงทำความเข้าใจ พบว่าชาวบ้านรู้สึกสบายใจขึ้น พร้อมที่จะเจรจาประนอมหนี้กับศาลตามหมายนัด

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน