X

โวยอีกโครงการ 9101 บัวบานขอลูกกบเล็กแต่ได้กบใหญ่ป่วยตายเพียบ

ฉาวรับปีใหม่ชาวบ้านโพสต์เฟสบุ๊คประจานโครงการ 9101 ฟื้นฟูน้ำท่วมตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอพันธุ์ลูกกบเล็กมาเลี้ยง แต่กลับได้กบอายุ 3-4 เดือน อ้างเป็นพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ให้ผสมเอง แถมได้หัวอาหารปลาดุกราคาแพง ไม่ระบุวันเดือนปีผลิตและวันหมดอายุ ไม่เหมาะสมเงินช่วยน้ำท่วม 5,000 บาท จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องฟัน หากพบการทุจริต

จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในหลายพื้นที่ของ จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด ซึ่งมีการตั้งราคาซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง พันธุ์ปลาดุก หัวอาหาร และสารปรับปรุงดินแพงกว่าท้องตลาด และในพื้นที่ อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง เขาวง และ อ.สมเด็จ มีการจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกขนาดเล็กไม่เหมาะสมกับราคา อีกทั้งยังมีหัวอาหารปลาดุก และปุ๋ยชีวภาพมีราคาแพงกว่าท้องตลาด จนชาวบ้านต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องทุกข์กับพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรมเรียกร้องให้ตรวจสอบและเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน กระทั่งคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตโครงการ 9101 จ.กาฬสินธุ์เข้าตรวจสอบพบการจัดซื้อปัจจัยการผลิตของ ต.บัวบาน อ.ยางตลาดผิดระเบียบมีราคาสูง รวมทั้งมีข้าราชการและผู้นำชุมชนร่วมขบวนการแสวงหาผลประโยชน์และดำเนินการส่อไปในทางทุจริต

ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561 ชาวบ้านโคกก่อง ม.7 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งประสบภัยน้ำท่วมและเป็นสมาชิกกลุ่มเลี้ยงกบที่ได้รับการช่วยเหลือตามโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดรายละ 5,000 บาท ได้ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบการดำเนินการแจกจ่ายพันธุ์กบให้กับเกษตรกร หลังจากชาวบ้านต้องการพันธุ์ลูกกบเล็กมาเลี้ยง เพื่อเอาไว้บริโภคและจำหน่าย ตามนโยบายรัฐบาล แต่กลับได้รับการแจกจ่ายกบขนาดอายุเพียง 3-4 เดือน ซึ่งคณะกรรมการและผู้รับเหมาอ้างว่าเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์กบ อีกทั้งยังได้รับการแจกจ่ายหัวอาหารปลาดุกมาเลี้ยงกบ ซึ่งมีราคาแพง ซึ่งไม่มีระบุวันเดือนปีผลิตและวันหมดอายุเกรงว่าจะไม่มีคุณภาพ ไม่เหมาะสมกับราคา จนทำให้กบป่วยตายลงไปจำนวนมาก

นางดวงเนตร สาระฆัง อายุ 56 ปี ชาวบ้านโคกก่อง ม.7 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด ของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อนได้อย่างมาก แต่การปฏิบัติในพื้นที่จนมาสู่มือเกษตรกรกลับทำไม่ดี กลายเป็นภาระของเกษตรกรด้วยซ้ำ โดยเฉพาะพื้นที่บ้านโคกก่อง ต.บัวบาน ซึ่งเดิมทีชาวบ้านที่ประสบภัยประชุมกันแล้วสรุปว่าต้องการเลี้ยงลูกกบขนาดเล็ก เพื่อเอาไว้บริโภคในครัวเรือน ซึ่งหากเหลือก็สามารถจำหน่ายได้ แต่อยู่ๆเมื่อช่วงก่อนปีใหม่ได้มีการนำกบมาแจกจ่ายให้กับเกษตรกร ปรากฏว่าเป็นกบขนาดอายุประมาณ 3-4 เดือน คล้ายกับกบที่วางขายในกะละมังตามตลาดสด แต่ละคนได้ 13 ตัว ซึ่งแต่ละตัวอ่อนแอ มีบาดแผล และทยอยตายไปจนเกือบหมดแล้ว โดยคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่อ้างว่า เป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์กบ และให้ชาวบ้านนำไปเลี้ยงผสมพันธุ์เอง

นางดวงเนตร กล่าวอีกว่า เรื่องดังกล่าวชาวบ้านมองว่าไม่ถูกต้อง เพราะนอกจากจะมีการแจกจ่ายกบที่มีอายุ 3-4 เดือน ได้จำนวนน้อย ไม่ตรงกับความต้องการที่ชาวบ้านอยากเลี้ยง และไม่ใช่พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ซึ่งมีราคาแพงคู่ละ 500 บาทแล้ว ตกตัวละ 250 บาท ชาวบ้านยังได้รับหัวอาหารปลาดุกในราคาที่แพง แทนหัวอาหารกบในราคากระสอบละ 600 บาท คนละ 5 กระสอบ มุ่งเขียว 1 ม้วน ราคาประมาณ 300 บาท พลาสติกดำ 1 ม้วนราคาประมาณ 390 บาท และนำอีเอ็ม 1 แกนลอน ซึ่งประเมินแล้วไม่เหมาะสมกับราคาเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาท ซึ่งเรื่องดังกล่าวชาวบ้านจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่มาตรวจสอบด้วย

ด้านนางสมคิด พลโคกก่อง อายุ 61 ปี ชาวบ้านโคกก่อง กล่าวว่า ปกติครอบครัวมีอาชีพเพาะเลี้ยงลูกกบขายมาเป็นสิบปีแล้ว ซึ่งการคณะกรรมการนำกบมาแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมนั้น เท่าที่ดูไม่ใช่พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เพราะหากเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ จะต้องเป็นกบที่ถูกคัดสรรอย่างดี มีอายุอย่างน้อย 8 เดือน และหากจะให้ดีกบต้องมีอายุ 1 ปีขึ้นไป จึงจะมีน้ำอสุจิแข็งแรงสามารถเพาะพันธุ์ได้ดี แต่กบที่นำมาแจกจ่ายให้กับตนและชาวบ้านนั้นเป็นกบอายุประมาณ 3-4 เดือน มีสภาพอ่อนแอ มีแผลอยู่เต็มไปหมด ซึ่งเป็นกบไม่สมบูรณ์ ไม่รู้เอามาจากไหน นอกจากนี้หัวอาหารที่ให้มาก็เป็นหัวอาหารปลาดุก แต่ให้นำมาเลี้ยงกบ และยังไม่มีวันเดือนปีผลิตและวันหมดอายุ จึงทำให้กบที่ถูกให้มาจำนวน 15 ตัวตายทั้งหมด ซึ่งลูกนำไปโพสต์เฟสบุ๊ค จากนั้นนำไปทิ้ง เพราะกลัวเป็นโรคระบาด อย่างไรก็ตามการที่คณะกรรมการนำกบมาให้ โดยอ้างว่าเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และให้ชาวบ้านผสมพันธุ์เองนั้น ที่จริงแล้วคนทั่วไป แม้กระทั่งเด็กๆต่างรู้ดีว่าช่วงนี้ไม่ใช่ช่วงการผสมพันธุ์ของกบ เพราะอยู่ในช่วงหน้าหนาว ดังนั้นจึงอยากให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบด้วย เพราะดูแล้วไม่เหมาะสมกับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน