X

เตรียมสรุปผลสอบโครงการ 9101 บัวบานพบขบวนการแสวงหาผลประโยชน์

คณะกรรมการตรวจสอบทุจริตโครงการ 9101 ฟื้นฟูน้ำท่วมจังหวัดกาฬสินธุ์เตรียมสรุปผลสอบการจัดซื้อปัจจัยการผลิตของตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด หลังพบประธานและคณะกรรมการชุมชนเซนสัญญาซื้อขายเองผิดระเบียบ ราคาแพง และพบกลุ่มข้าราชการและผู้นำชุมชนร่วมขบวนการแสวงหาผลประโยชน์กับประชาชนส่อทุจริต พร้อมเตรียมลงพื้นที่ตรวจอีก 5 อำเภอ

จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในหลายพื้นที่ของ จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด ซึ่งมีการตั้งราคาซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง พันธุ์ปลาดุก หัวอาหาร และสารปรับปรุงดินแพงกว่าท้องตลาด และในพื้นที่ อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง เขาวง และ อ.สมเด็จ มีการจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกขนาดเล็กไม่เหมาะสมกับราคา อีกทั้งยังมีหัวอาหารปลาดุก และปุ๋ยชีวภาพมีราคาแพงกว่าท้องตลาด จนชาวบ้านต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องทุกข์กับพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรมเรียกร้องให้ตรวจสอบและเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2560 พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผอ.รมน.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า หลังจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ ทั้งการสอบถามข้อมูลราคาของปัจจัยการผลิตกับร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าเกษตร และเมื่อเทียบราคากับปัจจัยการผลิตที่มีการนำส่งให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการใน ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พบว่า ราคาแตกต่างกันอย่างชัดเจน สูงกว่าราคาจำหน่ายตามท้องตลาด และที่สำคัญมีส่วนต่างของราคาอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง จากการตรวจสอบพบว่ามีส่วนต่างจากราคาที่จำหน่ายออกมาจากร้านและมาส่งในพื้นที่นั้นเฉลี่ยกระสอบละ 200 บาท และสารปรับปรุงดินกระสอบละ 300 บาท

พ.อ.มานพ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการตรวจสอบเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการของทุกตำบลใน อ.ยางตลาด ซึ่งเบื้องต้นพบความชัดเจนคือ ต.บัวบาน เนื่องจากมีการทำสัญญาซื้อขายปัจจัยการผลิตและเซนสัญญา โดยประธานและคณะกรรมการชุมชน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการระดับอำเภอเป็นผู้จัดซื้อเองทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งผิดระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำหนดไว้ว่าการจัดซื้อจัดจ้างปัจจัยการผลิตต้องเป็นกลุ่มเกษตรกรกลุ่มเล็กที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการเท่านั้นที่เป็นผู้จัดซื้อ และขัดกับหนังสือคำสั่งของทางจังหวัดที่กำชับไม่ให้ข้าราชการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดซื้อ ส่วนตำบลอื่นๆของ อ.ยางตลาดนั้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารว่ามีการดำเนินการถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้บางตำบลยังไม่นำเอกสารมาส่งให้กับเจ้าหน้าที่ แต่ขอย้ำเตือนว่าควรนำเอกสารมาส่งโดยเร็ว เพื่อที่จะร่วมกันทำให้โครงการเป็นไปด้วยความโปร่งใส อย่าได้แก้ไขเอกสารโดยเด็ดขาด เพราะหากมีการตรวจสอบจะถูกดำเนินการทันที

พ.อ.มานพ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบเชิงลึกของคณะกรรมการนั้นยังพบว่ามีกลุ่มของข้าราชการและกลุ่มผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหลักในการดำเนินโครงการร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์ และดำเนินการส่อไปในทางทุจริต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวบรวมเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่ยังขาดอยู่อีกบางส่วน และการประสานงานร่วมกับ ปปท.เขต 4 ขอนแก่น เพื่อลงพื้นที่สอบถามฟังคำชี้แจงกับคณะกรรมการระดับอำเภอเท่านั้น ก่อนที่คณะกรรมการจะสรุปผลสอบและรายงานให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการจะร่วมกับ ปปท.เขต 4 ขอนแก่น เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินโครงการใน อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง เขาวง และ อ.สมเด็จ หลังชาวบ้านร้องเรียนมีการจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกขนาดเล็กไม่เหมาะสมกับราคา อีกทั้งยังมีหัวอาหารปลาดุก และปุ๋ยชีวภาพมีราคาแพงกว่าท้องตลาด เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนที่เดือดร้อนประสบภัยน้ำท่วม

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน