X

ชี้โครงการ 9101 บัวบานผิดระเบียบ พบข้าราชการเอี่ยวส่อทุจริต

ชี้โครงการ 9101 ฟื้นฟูน้ำท่วมดำเนินการผิดระเบียบ หลังพบประธานและคณะกรรมการชุมชนทำสัญญาจัดซื้อปัจจัยเอง ส่อไปในทางทุจริต และดำเนินการโดยมิชอบ ระบุพบข้าราชการเอี่ยวอีกด้วย

จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด ซึ่งมีการตั้งราคาซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง พันธุ์ปลาดุก หัวอาหาร และสารปรับปรุงดินหรือปุ๋ยชีวภาพแพงกว่าท้องตลาด และในพื้นที่ อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง เขาวง และ อ.สมเด็จ มีการจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกขนาดเล็กไม่เหมาะสมกับราคา อีกทั้งยังมีหัวอาหารปลาดุก และปุ๋ยชีวภาพมีราคาแพงกว่าท้องตลาด จนชาวบ้านต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องทุกข์กับพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรม เรียกร้องให้ตรวจสอบ เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน

ล่าสุด พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผอ.รมน.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด จ.กาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่กอ.รมน.กาฬสินธุ์ได้เข้าตรวจสอบเอกสารและเข้าสอบถามชาวบ้านใน ต .บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์

พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผอ.รมน.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าหลักฐานในการจัดซื้อจัดจ้างของ ต.บัวบาน ทั้ง 2 กลุ่ม ไม่น่าจะถูต้อง เนื่องจากตามระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้นกำหนดไว้ว่าการจัดซื้อจัดจ้างปัจจัยการผลิตต้องเป็นกลุ่มเกษตรกรกลุ่มเล็กที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมซึ่งเป็นเจ้าของโครงการเป็นผู้จัดซื้อ ไม่ใช่กลุ่มใหญ่หรือประธานและคณะกรรมการชุมชนเป็นคนทำสัญญาจัดซื้อเอง นอกจากนี้จากการสอบถามราคาปัจจัยการผลิตในร้านค้าตามท้องตลาดเพื่อเปรียบเทียบราคายังพบว่าราคาของปัจจัยการผลิตที่ส่งมาให้เกษตรกรในพื้นที่ ต.บัวบาน อ.ยางตลาดนั้นมีราคาสูงมากจากที่ไปรับซื้อมา โดยมีส่วนต่างของราคาจัดซื้อจัดจ้างปัจจัยการผลิตและราคาต้นทุนการผลิตจากร้านค้านั้นก็มีจำนวนมาก เช่น พันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง กข 10 ราคาจัดซื้อและราคาต้นทุนการผลิตจากร้านนั้นมีส่วนต่างประมาณกระสอบละ 200 บาท และสารปรับปรุงดินมีส่วนต่างของราคามากถึงกระสอบละ 300 บาท ซึ่งแต่ละกลุ่มมีการจัดซื้อเฉลี่ยประมาณ 2,000 กระสอบ ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่น้อย โดยเงินส่วนต่างเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็คงเป็นกำไรของพ่อค้าที่นำปัจจัยการผลิตมาส่ง แต่ส่วนต่างอีกส่วนหนึ่งคาดว่าน่าจะอยู่กับกลุ่มขบวนการที่รวมตัวกันทำโครงการนี้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์

พ.อ.มานพ ไขขุนทด กล่าวว่า ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพบหลักฐานสำคัญ ซึ่งเชื่อมั่นว่าน่าจะสามารถดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ทั้งนี้จากการสืบข้อมูลเชิงลึกยังพบว่ามีข้าราชการและผู้นำท้องถิ่นเข้ามาไปส่วนร่วมอีกด้วย อย่างไรก็ตามคณะกรรมการระดับจังหวัดจะลงพื้นที่เข้าสอบถามรายละเอียดจากคณะกรรมการระดับอำเภออีกครั้งก่อนที่จะร่วมกันพิจารณาสรุปผลการสอบสวนเสนอไปยังจังหวัดต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่ได้กำชับให้ความสำคัญในการติดตาม ตรวจสอบ และปราบปรามการทุจริต เพื่อป้อกกันและป้องปรามมิให้ข้าราชการของรัฐแสวงหาผลประโยชน์อันมิพึงได้จากประชาชน นักธุรกิจ หรือผู้เดือดร้อน โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ปปท.ปปช.ดีเอสไอ ตำรวจ สรรพากรในการดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงให้ดูแลความสุขและคำนึงถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก และยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการ

ด้านนางสายเพ็ชร ภูขยัน ผู้ใหญ่บ้านโคกคำ ม.18 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนในฐานะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาคัดค้านมาโดยตลอด เนื่องจากเห็นว่า การดำเนินการไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะการทำสัญญาซื้อขายปัจจัยการผลิต ซึ่งจะต้องเป็นหน้าที่ของกลุ่มเกษตรกร ไม่ใช่เป็นคณะกรรมการเป็นคนจัดซื้อ ทั้งนี้ที่ผ่านมาตนเองพยายามขอลาออกจากตำแหน่งคณะกรรมการ แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ลาออก ซึ่งขณะนี้เตรียมที่จะทำหนังสือเสนอไปยังนายอำเภอยางตลาด เพื่อขอลาออกจากตำแหน่งคณะกรรมการ เพราะไม่เห็นด้วยในการดำเนินงานครั้งนี้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน