X

เดินหน้าสอบโครงการ 9101 สตง-ปปท.เตรียมจัดชุดใหญ่สอบพันธุ์ปลาหัวอาหารแพง(มีคลิป)

กาฬสินธุ์เดินหน้าสอบโครงการ 9101 ฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมซื้อปัจจัยการผลิตราคาสูงกว่าท้องตลาด ขณะที่สตง.-ปปท.เตรียมจัดชุดใหญ่ลงพื้นที่อำเภอนาคูและอำเภอกุฉินารายณ์สอบพันธุ์ปลาดุกบิ๊กจิ๋ว-ปลานิลเล็กไม่เหมาะสมราคา หัวอาหาร-ปุ๋ยชีวภาพแพงเกินจริง ย้ำพบทุจริตฟันไม่เลี้ยง

จากกรณีชาวบ้านความผิดปกติการดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในหลายพื้นที่ ซึ่งส่อไปในทางทุจริต โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากมีการตั้งราคาซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง พันธุ์ปลาดุก หัวอาหาร และสารปรับปรุงดินหรือปุ๋ยชีวภาพสูงกว่าท้องตลาด และในพื้นที่ อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง เขาวง และ อ.สมเด็จ มีการจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกขนาดเล็กไม่เหมาะสมกับราคา อีกทั้งยังมีซื้อหัวอาหารปลาดุก และปุ๋ยชีวภาพมีราคาสุงกว่าท้องตลาด ซึ่งเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบหัวอาหารที่นำมาแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ไม่ระบุวันเดือนปีผลิต-วันหมดอายุ ซึ่งชาวบ้านเกรงว่าจะเป็นหัวอาหารที่ไม่มีคุณภาพและหมดอายุ จนต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องทุกข์กับพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรม เรียกร้องให้ตรวจสอบ เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน

ล่าสุดที่ห้องประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.กาฬสินธุ์ หรือ กอ.รมน.กาฬสินธุ์ ศาลลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ชั้น 3 พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผอ.กอ.รมน.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการ 9101 ของ จ.กาฬสินธุ์ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการ 9101 หลังจากทางจังหวัดได้แต่งตั้งขึ้น เพื่อตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีนางสาวชุลีพร ภูสมศรี ผอ.ศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ นายสุพจน์ ศรีอ่อน รักษาการเกษตร จ.กาฬสินธุ์ นายอำพล จินดาวงค์ ประมง จ.กาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมเข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้าสอบถามราคาของปัจจัยการผลิตภายในร้านพันธุ์ทวี ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรรายใหญ่ และถูกระบุว่าได้จำหน่ายให้กับร้านด๊อกเตอร์เกษตรก่อนที่จะถูกนำไปจำหน่ายต่อให้กับกลุ่มชุมชนบัวบาน 1 กลุ่มชุมชนบัวบาน 2 และอีกหลายตำบลในพื้นที่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ทั้งเมล็ดพันธุ์ข้าว กข 10 เมล็ดพันข้าวสันป่าตอง 1 เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาท 1 เมล็ดพันธุ์ข้าวข้าวเหนียวแดง และสารปรับปรุงดินยี่ห้อดินทองคำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของร้านระบุว่าใบเสร็จนั้นได้ส่งไปยังสำนักงานใหญ่แล้ว และจำราคาที่จำหน่ายให้กับร้านด๊อกเตอร์เกษตรไม่ได้ ซึ่งบอกได้เพียงราคาของหัวอาหารยี่ห้อเบทราโก ที่จำหน่ายทั่วไปคือหัวอาหารปลาดุกเล็กโปรตีนไม่น้อยกว่า 32% จำหน่ายในราคากระสอบละ 505 บาท หัวอาหารปลาดุกกลางโปรตีนไม่น้อยกว่า 30% จำหน่ายในราคา 495 บาท และหัวอาหารปลาดุกโตโปรตีนไม่น้อยกว่า 25% ราคากระสอบละ 475 บาท เจ้าหน้าที่จึงเตรียมทำหนังสือส่งไปยังสำนักงานใหญ่ เพื่อขอข้อมูลราคาที่จำหน่ายพันธุ์ข้าว

ด้านพ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผอ.กอ.รมน.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นประชุมคณะกรรการที่ทางจังหวัดแต่งตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบโครงการ 9101 และเป็นการรับทราบข้อมูลการดำเนินการในภาพรวมในเบื้องต้นเท่านั้น เพื่อที่จะวางแนวทางในการตรวจสอบ โดย จ.กาฬสินธุ์มีการดำเนินการโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด จำนวน 161 ชุมชน 392 โครงการ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 27,913 ครัวเรือน ครอบคลุม 18 อำเภอ รวมจำนวนเงิน 139,585,000 บาท โดยส่วนใหญ่ 72 % เป็นการดำเนินกิจกรรมประมงเลี้ยงปลาดุก ปลานิล รองลงมาคือการปลูกพืชอายุสั้นคือข้าวนาปรัง และในวันนี้ทางคณะกรรมการได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบราคาพันธุ์ข้าวเปลือกกับร้านพันธุ์ทวี ซึ่งจากการสืบข้อมูลนั้นพบว่าได้จำหน่ายให้กับร้านด๊อกเตอร์เกษตรก่อนที่จะนำไปจำหน่ายให้กับกลุ่มชุมชนบัวบาน 1 กลุ่มชุมชนบัวบาน 2 และในพื้นที่ตำบลต่างๆใน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งพนักงานของร้านระบุว่าจำราคาที่จำหน่ายไม่ได้และใบเสร็จก็ส่งไปยังสำนักงานใหญ่แล้ว ดังนั้นทางคณะกรรมการจะได้ทำหนังสือเพื่อขอสอบถามข้อมูลราคาพันธุ์ข้าวพันธุ์ต่อไป

สำหรับการรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบอำเภอยางตลาดกรณีการกำหนดราคาจัดซื้อปัจจัยการผลิตราคาสูงกว่าท้องตลาดของ ต.บัวบาน โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวกระสอบละ 700 บาท พันธุ์ปลาดุกขนาด 5-7 ซม.ตัวละ 3 บาท หัวอาหารปลากระสอบละ 550-600 บาท และปุ๋ยอินทรีย์หรือสารปรับปรุงดินกระสอบละ 550 บาท ซึ่งทางอำเภอมีการสรุปว่า การกำหนดราคาพันธุ์ข้าวขณะนั้นยังอยู่ในช่วงอ้างอิงราคาตามท้องตลาด ส่วนพันธุ์ปลาดุกนั้นเกษตรกรระบุอยากได้พันธุ์ปลาดุกเป็นพันธุ์บิ๊กอุย ขนาด 5-7 ซม.ซึ่งเป็นปลาดุกที่ค่อนข้างหายากและผสมพันธุ์ยาก ส่วนราคาหัวอาหารปลาดุกเป็นสูตรอาหารเร่งการเจริญเติบโตได้ดีในระยะสั้น ซึ่งแตกต่างจากเกรดอาหารปลาดุกทั่วไป สำหรับราคาปุ๋ยอินทรีย์หรือสารปรับปรุงดินนั้นมีธาตุอาหารหลายชนิดและมีคุณภาพสามารถเร่งการเจริญเติบโตจึงทำให้มีราคาสูง เบื้องต้นทางคณะกรรมการระดับจังหวัดยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีการทุจริตหรือไม่ เนื่องจากยังพบความผิดปกติอีกหลายอย่างและจะต้องลงพื้นเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะเท่าที่ทราบเบื้องต้นยังมีการจัดซื้อปัจจัยการผลิตที่ราคาค่อนข้างสูงอีกหลายตำบลในพื้นที่ อ.ยางตลาด ซึ่งหากการตรวจสอบพบการดำเนินงานที่เข้าข่ายทุจริตก็จะดำเนินขั้นเด็ดขาดทันที เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำชับให้การดำเนินงานต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

ขณะที่รายงานข่าวแจ้งว่า เรื่องดังกล่าวทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จ.กาฬสินธุ์ หรือ สตง.กาฬสินธุ์ และปปท.กำลังเร่งดำเนินการตรวจสอบการซื้อปัจจัยการผลิตทั้งพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง พันธุ์ปลาดุก หัวอาหาร และปุ๋ยชีวภาพหรือสารปรับปรุงดินของ ต.บัวบาน โดยเน้นการตรวจสอบแหล่งที่มาและสาเหตุที่มีการตั้งราคาที่สูงกว่าท้องตลาด ซึ่งเป็นการเจตนาและจงใจทำให้รัฐเสียหายหรือไม่ รวมทั้งราคาของปัจจัยการผลิตตามท้องตลาดจำหน่ายกันที่ราคาเท่าไหร่ แล้วสาเหตุใดที่ต้องตั้งราคาจัดซื้อสูงและผ่านคณะกรรมการระดับอำเภอมาได้อย่างไร เนื่องจากเบื้องต้นพบว่ายังมีปัญหาลักษณะเดียวกันนี้อีกหลายตำบลในพื้นที่ อ.ยางตลาด

ส่วนปัญหาการร้องเรียนของชาวบ้านในพื้นที่ อ.นาคู ที่ระบุว่ามีการแจกจ่ายพันธุ์ปลาดุกขนาดเล็กไม่เหมาะสมกับราคาตัวละ 2 บาท อีกทั้งยังมีการแจกจ่ายหัวอาหารปลาดุกที่ไม่ระบุวันเดือนปีผลิตและวันหมดอายุ รวมทั้งปัญหาที่ชาวบ้านพบความผิดปกติการแจกจ่ายพันธุ์ปลาดุกที่ได้กำหนดสเปกไว้ขนาด 5-7ซม.ในราคาตัวละ 2 บาท และราคาพันธุ์ปลานิล ในพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ อ.นาคู อ.สมเด็จ อ.ห้วยผึ้ง และเขาวง ซึ่งไม่เหมาะสมกับราคา เนื่องจากขนาดปลาตัวเล็ก และหัวอาหารมีราคาค่อนข้างสูงกว่าราคาท้องตลาด และราคาปุ๋ยชีวภาพราคาสูงนั้น ล่าสุดสตง.และปปท.เตรียมจัดเจ้าหน้าที่ชุดใหญ่ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยเน้นการตรวจสอบถึงสาเหตุที่กำหนดราคาซื้อปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะราคาพันธุ์ปลาดุกที่กำหนดขนาด 5-7 ซม.ซึ่งมีขนาดเล็กแต่ซื้อในราคาที่สูงถึงตัวละ 2 บาท ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆที่กำหนดขนาด 7-10 ซม.แค่กลับสามารถซื้อได้ในราคาตัวละ 2 บาทเท่ากัน อีกทั้งกรณีราคาของอาหารที่สูงกว่าท้องตลาดอีกด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน