X

กรมโยธาฯตรวจอาคารถล่ม เจอพิรุธ 3 จุด เสาสูง,นั่งร้าน,คอนกรีตไม่ได้คุณภาพ

กรมโยธาฯตรวจ อาคารถล่ม เจอพิรุธ 3 จุด
เสาสูง,นั่งร้าน,คอนกรีตไม่ได้คุณภาพ

อาคารถล่ม พบพิรุธ 3 จุด ทั้งเสาชั้น 1 สูง นั่งร้านอาจผิดหลักตามวิชา และคอนกรีตไม่ได้คุณภาพ หลังวิศวกรเชี่ยวชาญกรมโยธาธิการและผังเมือง ตรวจสอบโครงสร้าง อาคารอบจ.ตราด คาดเป็นเหตุบอกยังต้องนำข้อมูลไปวิเคราะห์ในรายละเอียดอีกครั้ง

อาคารถล่ม
นายวิชิต อรุณมานะกุล วิศวกร กรมโยธาธิการและผังเมือง ตรวจสอบ อาคารถล่ม

เวลา 11.30  น. วันที่ 19  มีนาคม 2561  นายวิชิต  อรุณมานะกุล  วิศวกรโยธาธิการเชี่ยวชาญ  กรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมคณะเดินทางมาตรวจสภาพความเสียหายของอาคาร 2 ชั้นที่เชื่อมต่อระหว่างศูนย์โอท็อปกับหอประชุม อบจ.ตราด  มีนายประสงค์ ไชยราช  รองนายก อบจ.ตราด  นายไมตรี สรรพสิน  โยธิการและผังเมือง จ.ตราด  และเจ้าหน้าที่ อบจ.ตราดร่วมนำ

นายวิชิต  เริ่มตรวจสอบจากบริเวณที่มีการนำคอนกรีตผสมเสร็จมาเทเชื่อมอาคาร  และสะพาน โดยจุดนี้เป็นจุดที่พังถล่มลงมาแล้วกระทบไปยังอาคารสองชั้นที่เชื่อมระหว่างศูนย์โอท็อปและหอประชุม  โดยเฉพาะโครงสร้างเหล็ก  เศษปูนผสมเสร็จที่ติดอยู่กับโครงสร้างอาคาร นั่งร้าน  และเหล็กเส้น  พร้อมให้เจ้าหน้าที่ทำการถ่ายรูปทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นหลักฐาน

จากนั้นเดินทางที่บริเวณด้านหลังอาคารศูนย์โอท็อป เพื่อตรวจบริเวณแนวที่มีการก่อสร้างเชื่อมโดยเฉพาะบริเวณที่มีพื้นคอนกรีตชั้น 2 ยุบตัวลงมา  และดูเนื้อชั้นในของเหล็กและคอนกรีตที่ผสม  พร้อมใช้มือเก็บเศษปูนมาบด   

หลังจากนั้นได้อ้อมมาทางด้านทิศใต้ที่อยู่ด้านอาคารสำนักงาน อบจ.ตราด  พร้อมเข้าไปดูโครงสร้างเหล็กนั่งร้านที่ใช้ยึด และเดินไปที่เสาปูนที่หักลงมาและให้เจ้าหน้าที่ถ่ายรูปทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหวไว้  โดยเฉพาะเหล็กเส้นภายในเสาเพื่อเก็บข้อมูลนำไปวิเคราะห์

นายวิชิต  ยังได้เดินไปยังด้านหลัง ของหอประชุม อบจ.ตราด  เพื่อดูโครงสร้างด้านหลังอาคาร 2 ชั้นอีกครั้ง  ซึ่งเข้าไปดูคานคอนกรีตชั้น 2 ที่ยุบลงมา รวมทั้งเสาที่รับพื้นคอนกรีตชั้น 2 และนั่งร้านที่อยู่ในสภาพหักงอและบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไว้

นายวิชิต  ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า   เบื้องต้นพิจารณาที่คุณภาพคอนกรีตของเสา ซึ่งยังไม่มีการพิจารณาเรื่องเสาชั้นที่ 1  และเสาชั้นที่ 2  ที่ยังไม่มีการถอดแบบ  และยังไม่ได้ดูคุณภาพของคอนกรีต ทั้งนี้  จากการมองด้วยสายตาและการสัมผัส พบว่า คอนกรีตมีสภาพร่วน  นั้นหมายความว่า คอนกรีตไม่สามารถรับน้ำหนักได้   ส่วนการตั้งนั่งร้าน หากถูกตามหลักวิชาการ ไม่น่าจะมีปัญหา  แต่พบตัวโครงสร้างของสแตนด์ ที่ยาวถึง 12  เมตร  ประกอบกับคอนกรีตเสาชั้นที่ 1  เนื้อคอนกรีตไม่แน่น  ซึ่งทำให้เป็นจุดอ่อนรับน้ำหนักไม่ได้  อีกจุดหนึ่ง คือ เสาชั้นที่ 1 มีความสูง 6  เมตร เป็นเสายาว ในกรณีที่เป็นคอนกรีตไม่แน่น การรับน้ำหนักของเสาก็จะเป็นจุดอ่อนมากยิ่งขึ้น  สรุปเบื้องต้น คือ 1.เสายาว 2.คอนกรีตไม่ได้คุณภาพ

“ส่วนประเด็นความประมาทของผู้รับเหมานั้น สามารถบอกได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการดำเนินการในชั้นสุดท้าย   รวมทั้งคุณคอนกรีตที่ไม่ได้มาตรฐานก็ถือว่าเป็นความประมาทของผู้รับจ้าง  โดยสรุปแล้วมีหลายองค์ประกอบที่ทำให้อาคารถล่มลงมา  ไม่ว่าจะเป็นการกระจายน้ำหนักของการเทคอนกรีต  การเทคาน เทพื้นพร้อมกัน  แต่หากถ้าฐานมีความแข็งแรงไม่ว่าจะทำแบบไหนก็สามารถรับน้ำหนักได้” นายวิชิต กล่าวในช่วงท้ายว่า

เบื้องต้นมีการทดสอบกำลังคอนกรีตหน้างานแล้วมีค่าตัวเลขได้มาแล้ว  และผลการวิเคราะห์โครงสร้างและสาเหตุทั้งหมด จะทำเป็นรายงานเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด  ได้รับทราบโดยผ่านทางโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตราด

ข่าวจังหวัดตราดที่น่าสนใจ
อบจ.ตราด ประกาศเขต “ภัยพิบัติ” อาคารเชื่อมถล่ม ด้านผู้รับเหมารายอื่นกระทบ
ผู้รับเหมา “ประมาท” เทปูนพร้อมกันทั้งคาน,พื้น เหตุทำอาคารเชื่อมถล่ม
โยธาฯตราด ตรวจสอบ พื้นที่อาคารถล่ม พบโครงสร้างแข็งแรง แต่ยังไม่สรุป
ผู้ว่าฯตราด สั่งยุติค้นหา ยันไม่มีใครตาย พรุ่งนี้ตรวจสอบซากถล่ม
ด่วน สะพานเชื่อม อบจ.ตราด ที่กำลังก่อสร้าง ถล่มทับคนงานนับสิบบาดเจ็บหลายราย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

กฤษฎาพงษ์ แววคล้ายหงษ์

กฤษฎาพงษ์ แววคล้ายหงษ์

ADmin : สำนักข่าวตราดทีวี จังหวัดตราด