X

นิพนธ์ โต้ฝ่ายค้าน ชี้ให้ต่างชาติถือที่ดิน กระตุ้นเศรษฐกิจ

นิพนธ์ ปชป. โต้ฝ่ายค้าน ซัดกลับมโนกันไปเอง เคลียร์ปมชะลอจ่ายค่ารถฯ อบจ.สงขลา ย้ำ ไม่มีนโยบายออกโฉนดบนที่ดินรัฐ ยัน ให้ต่างชาติถือที่ดิน ชี้กระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้ชายชาติ

วันที่ 20 ก.ค. 2565 เวลา 10.45 น. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมช.มท.) ลุกกล่าวชี้แจงหลังว่า ข้อมูลการอภิปรายครั้งนี้มาจากการมโนคิดเองทั้งนั้น และยังข้อมูลเก่า รายชื่อที่ผู้อภิปรายกล่าวอ้างมาทั้งหมด ตนเองไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวและขอให้ผู้อภิปรายรับผิดชอบ จึงขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น สำหรับกรณีเรื่องการไม่ชำระค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ของอบจ.สงขลานั้นเป็นการจัดซื้อก่อนตนเองเข้าไปเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) สงขลา ขณะนั้นตอนเข้ารับตำแหน่งได้มอบหมายให้รองนายกอบจ.ตรวจสอบ และให้ปลัดอบจ.เป็นประธานประธานตรวจรับโครงการ และเมื่อเสนอเข้ามาที่ตน จึงคิดว่ามีราคาแพงและสงสัยว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่ ทำให้ต้องสั่งให้ตรวจสอบ บริษัทที่ชนะการประมูลก็มารับรถไปตรวจ และเมื่อคณะกรรมการตรวจรับยืนยันว่า รถใช้งานได้ตามคุณสมบัติ ตนจึงให้นำรถไปขึ้นทะเบียนที่กรมการขนส่งจังหวัดเพื่อให้เป็นกรรมสิทธิของอบจ.สงขลา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตนไม่ได้ประวิงเวลาแต่อย่างใด

นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญในวันที่ 5 ก.พ.2557 รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ส่งหนังสือมาถึงอบจ.สงขลาว่ามีการร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใสและให้ระงับการจ่ายเงิน จึงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบตามคำสั่ง จากนั้นรองนายกอบจ.ได้แจ้งให้บริษัทชนะการประมูลทราบถึงการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบถึงความโปร่งใส ต่อมา บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ได้ฟ้องศาลปกครองกลาง ผลการสอบของคณะกรรมการพบว่าเกิดความไม่โปร่งใส ตนเองจึงได้รายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทราบ ในปีเดียวกันผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งกลับมาว่าต้องปฏิบัติหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทยว่าเมื่อมีข้อพิพาทในศาล ห้ามไม่ให้ผู้บริหารดำเนินการใดๆที่อาจเป็นการละเมิดอำนาจศาล ตนเองจึงต้องดำเนินการตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้กำกับดูแล จึงจำเป็นต้องรอให้ศาลพิพากษาถึงที่สุดก่อน ต่อมาปี 2558 บริษัทได้ขอคืนหลักประกัน ซึ่งอบจ.สงขลาคืนให้พร้อมระบุว่าเมื่อการจัดซื้อผิดกฎหมาย สัญญาซื้อขายจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่สำคัญบริษัทไม่ได้โต้แย้งอบจ.แต่อย่างใด และตามกฎหมายนั้นเมื่อเป็นโมฆะแล้วจึงไม่จำเป็นต้องมีการบอกเลิกสัญญา ส่วนการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีการปลอมลายมือชื่อรับซองเอกสาร จึงแจ้งความให้พนักงานสอบสวนเข้ามาดำเนินคดีและสรุปสำนวนสั่งฟ้องในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและฮั้วประมูล แต่เนื่อจากคดีนี้เป็นกรณีการฮั้วประมูลจึงจำเป็นต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เข้ามาดำเนินการ ก่อนที่ในเวลาต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ออกหมายจับทุกบริษัทที่เข้าร่วมการประมูลซื้อทั้งหมดในความผิดฐานใช้เอกสารและฮั้วประมูล ปรากฎว่าจำเลยบางรายรวมถึงบริษัทชนะการประมูลหลบหนีออกไปต่างประเทศ

 

“ดังนั้น สาเหตุที่ อบจ.สงขลาไม่จ่ายเงิน เนื่องจากการซื้อขายไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะมีการฮั้วประมูล ส่วนกรณีที่คณะกรรมการป.ป.ช.กล่าวหาตนเรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพราะไม่ยอมจ่ายเงินนั้น ส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของป.ป.ช.เพราะเห็นว่าเมื่อปลัดอบจ.สงขลาในฐานะรับมอบอำนาจอนุมัติสั่งการ ลงนามสัญญาซื้อขายในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ไปลงนามรับรถแทนนายกอบจ.ถึง 51 ล้านบาท จึงเป็นการตรวจสอบมิชอบ ดังนั้น การชะลอการจ่ายเงินจึงเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องแล้ว เพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐและภาษีของประชาชน” นายนิพนธ์ กล่าว

 

รมช.มท. กล่าวชี้แจงต่อว่า นอกจากนี้ เมื่อไม่นานมานี้อัยการสูงสุด(อสส.)มีคำสั่งไม่สั่งคดีอาญาในคดีคณะกรรมการป.ป.ช.กล่าวหาตนเอง เพราะมีข้อไม่สมบูรณ์ และมีคำสั่งคืนสำนวนให้คณะกรรมการป.ป.ช.เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2565 และขณะนี้ได้ฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งป.ป.ช.ที่ให้พ้นจากตำแหน่งนายกอบจ.สงขลา และแม้จะมีกรณีที่มีผู้ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าตนเองขาดคุณสมบัติหรือไม่และขอให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ขั่วคราว แต่ศาลคำสั่งว่าผู้ถูกร้อง คือ ตนเอง ยังไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง
“พวกท่านมาโวยวายว่า ทำไมผมยังไม่หยุดปฎิบัติหน้าที่ ก็หวังว่าเมื่อผมเอาหลักฐานมาแสดงแบบนี้แล้วน่าจะเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเสียที และคดีที่ถูกฟ้องในชั้นศาลปกครองให้อบจ.ต้องชำระค่าดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นั้น ขณะนี้อบจ.สงขลาได้ส่งคำร้องให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 ของพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ดังนั้น สรุปข้อกล่าวหาของพวกท่านต้องเลิกได้แล้ว” นายนิพนธ์ กล่าว

 

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีการออกเอกสารสิทธิบนเกาะนุ้ยนอก จังหวัดกระบี่ โดยมิชอบนั้น ได้สั่งการให้กรมที่ดินดำเนินการตามกฎหมายเคร่งครัดทั้งทางวินัยและอาญาตั้งแต่เดือนธ.ค. 2564 จึงยืนยันได้ว่าตนเองไม่ได้ละเลย กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการสอบสวนและมีมติเพิกถอนโฉนดที่่ดินเลขที่ 12360 และมติให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 4ราย ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาของอ.ก.พ.ของกรมที่ดินเพื่อพิจารณว่าอีกครั้ง
“ผมมีนโยบายมาตลอดว่าถ้าที่ดินใดเป็นที่ดินของรัฐ จะออกโฉนดให้ไม่ได้ แต่ถ้าไม่ได้เป็นที่ดินของรัฐและมีประชาชนเข้ามาทำกิน และปฏิบัติตามกฎหมาย ก็จะดำเนินการออกสำรวจและออกโฉนดที่ดินให้ เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินและลดความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน” รมช.มหาดไทย กล่าว

 

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่กล่าวหาว่าเหตุใดดำเนินการกรณีพิพาทที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ล่าช้ากว่ากรณีเพิกถอนที่ดินในเขตป่าไม้จังหวัดราชบุรีนั้น ยืนยันว่าถ้าที่ดินใดเป็นของรัฐจะไม่สามารถออกโฉนดได้ และการดำเนินการที่ผ่านมาตนเองก็มีความระวังตลอดว่าจะต้องไม่ให้เป็นประเด็นทางการเมือง โดยกรณีที่จังหวัดราชบุรีที่เกี่ยวข้องกับมารดาของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เมื่อปี 2563 ได้มีผู้ร้องไปที่กรมป่าไม้และแจ้งให้กรมที่ดินเพิกถอน กรมทีดินมีคำสั่งเมื่อเดือนก.พ.2564 ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ใช้ระยะเวลาตรวจสอบประมาณ 1 ปี และมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ 59 แปลงในเขตป่าไม้ถาวร ซึ่งสาเหตุที่ดำเนินการได้เพราะกรมป่าไม้เข้ามานำชี้ในพื้นที่ชัดเจน และใช้ดาวเทียมรังวัดที่ดิน ต่างจากกรณีเขากระโดงพบว่าเป็นโต้แย้งในเรื่องแผนที่ท้ายที่ดิน กรมที่ดินขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมานำชี้ที่ดิน แต่การรถไฟฯแจ้งว่าไม่ต้องนำชี้เพราะให้ใช้ตามแผนที่ท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นพยานหลักฐานในคดี

 

สำหรับนโยบายการให้ต่างชาติถือครองที่ดิน ประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดให้คนต่างชาติถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ตามที่กฎหมายกำหนดเมื่อปี 2542 และมีกฎกระทวงมหาดไทยกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีเงินลงทุน 40 ล้านยาทและต้องลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า5ปี และการถือครองที่ดินทำได้เฉพาะเพื่อการอยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ในเขตพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น ใช้บังคับมาถึงปัจจุบันมีคนต่างชาติใช้สิทธิเพียง 10 ราย บางรายขายคืน บางรายได้สัญชาติไทยแล้ว จึงเหลือผู้มีสิทธิเพียง 8 รายเท่านั้นในปัจจุบัน

“มาถึงวันนี้ประเทศเราเจอวิกฤติโควิดและต้องการให้เกิดการลงทุนในประเทศ จึงแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อลดให้ระยะเวลาการลงทุนเหลือเพียง 3 ปีเท่านั้น และกำหนดให้เฉพาะคน4กลุ่มเท่านั้น ได้แก่ 1.ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 2.ผู้มีความมั่งคั่งสูง 3.ผู้ต้องการทำงานในประเทศไทย และ 4.ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ กระทรวงมหาดไทยแก้ไขแค่ตรงนี้ที่เหลือเป็นไปตามกฎหมายเดิมทั้งหมด จึงไม่มีการขายชาติใดๆทั้งสิ้น” นายนิพนธ์ กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

เจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ

เจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ

บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ "77 ข่าวเด็ด" (77kaoded.com) เป็นคนปทุมธานีโดยกำเนิด เชื่อมั่นในเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ