X

‘รสนา’ แจงทำ “บำนาญ ปชช. 3,000 บาท” ใน กทม. ไม่ใช่ประชานิยม

‘รสนา’ ตอบข้อสงสัย ทำ “บำนาญประชาชน 3,000 บาท” ใน กทม. ได้จริงหรือ? เจ้าตัวยืนยันทำได้จริง ย้ำไม่ใช่ “ประชานิยม” และไม่ใช่ “สวัสดิการถ้วนหน้า”

วันที่ 22 เมษายน 2565 น.ส. รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 7 เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กเพจส่วนตัว โดยระบุว่า ตนได้รวบรวมคำถามที่มีประชาชนมีความสงสัยเกี่ยวกับ นโยบาย “บำนาญประชาชน 3,000 บาททุกเดือน เริ่มได้ก่อนที่ กทม.” ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ถูกกฎหมายหรือไม่ และจะแก้ปัญหาความห่วงใยผลที่จะตามมาได้อย่างไร ดิฉันจึงขอใช้โอกาสรวบรวมมาตอบคำถามดังต่อไปนี้

คำถามที่ 1 บำนาญประชาชน 3,000 บาททุกเดือน เป็นการสัญญาว่าจะให้หรือไม่?

ตอบคำถามที่ 1 นโยบายบำนาญประชาชน 3,000 บาททุกเดือน ไม่เป็นการสัญญาว่าจะให้ เพราะเป็นการประกาศนโยบายหรือการดำเนินการตามแนวทางในการแก้ไขปัญหาตามหน้าที่และอำนาจ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยวิธีการใช้จ่ายจากเงินงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันเป็นไปตามมาตรา 65 วรรค 3 ของตามพระราชบัญญัติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และเป็นข้อยกเว้น ไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 65 (1) หรือ (2)

คำถามที่ 2 บำนาญประชาชน 3,000 บาททุกเดือน เป็นการโฆษณาหาเสียงเกี่ยวกับนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับ หน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่?

ตอบคำถามที่ 2 นโยบายบำนาญประชาชน 3,000 บาททุกเดือนในกรุงเทพมหานคร เป็นนโยบายที่สอดคล้องกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะ

2.1 ไม่ได้เป็นการร้องของงบประมาณจากรัฐบาล ไม่ใช่การขอเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงเงินผู้สูงอายุเดิมที่รัฐบาลจัดสรรหให้ เป็นการจัดสรรงบประมาณ “เพิ่มเติม” ให้เป็นเงินสงเคราะห์ของผู้สูงวัยที่ไม่มีหลักประกันและรายได้ ด้วยงบประมาณของกรุงเทพมหานคร จึงไม่ใช่การก้าวก่ายอำนาจงบประมาณของรัฐบาล

2.2 เป็นโครงการเพื่อสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส โดยการกำหนดนโยบาย บริหารราชการของกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อ 1 ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ในมาตรา 49 อีกทั้งยังเป็นการรจัดทำสังคมสงเคราะห์ ตามมาตรา 89 (23) อีกด้วย

คำถามที่ 3 บำนาญประชาชน 3,000 บาททุกเดือน ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่?

ตอบคำถามที่ 3 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการตัดสินใจเพื่อการสงเคราะห์ผู้สูงวัยที่ด้อยโอกาส อันเป็นกิจกรรมสาธารณะภายใต้งบประมาณของกรุงเทพมหานคร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 250 กำหนดเอาไว้ว่า

“…องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอํานาจดูแลและจัดทําบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของ ประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ ประชาชนในท้องถิ่น…”

คำถามที่ 4 บำนาญประชาชนเป็นเรื่องของรัฐบาล ไม่ใช่อำนาจของกรุงเทพมหานครหรือไม่?

ตอบคำถามที่ 4 เบี้ยผู้สูงอายุเป็นเรื่องของรัฐบาลเป็น “สวัสดิการถ้วนหน้า” คือจัดสรรให้กับผู้สูงวัยทุกคน โดยไม่เลือกเศรษฐานะ แต่บำนาญประชาชนมุ่งหวังจะเพิ่มเติมเป็นการสงเคราะห์ให้กับผู้สูงวัยที่ด้อยโอกาส ไม่มีหลักประกัน และไม่มีรายได้เพียงพอในการเลี้ยงชีพ จึงไม่ใช่ “สวัสดิการถ้วนหน้า” จึงมีความต่างจากเบี้ยผู้สูงอายุที่รัฐบาลจัดสรรให้ ส่วนการที่กรุงเทพมหานครจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้เนื่องด้วยกรุงเทพมหานครมีค่าครองชีพที่สูง ดังนั้นเบี้ยผู้สูงวัยจึงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในกรุงเทพมหานคร

คำถามที่ 5 ผู้สูงวัยในกรุงเทพมหานครมีตั้งเป็นล้านคน ต้องใช้เงินเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาทจริงหรือไม่? บำนาญประชาชน 3,000 บาท เป็นเรื่องเพ้อเจ้อหรือไม่?

ตอบคำถามที่ 5 ความจริงไม่ได้ใช้เงินมากขนาดนั้น เพราะตามที่วางแผนไว้คือโครงการนี้คือจะสนับสนุนเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ หรือผู้ไม่มีหลักประกัน หรือมีรายได้น้อย ซึ่งเป็นผู้ที่มีทะเบียนบ้านและอยู่อาศัยในเขต กทม. ดังนั้นจึงไม่รวม ข้าราชการบำนาญ ผู้สูงอายุที่มีรายได้เพียงพออยู่แล้ว และผู้มีบำนาญในรูปแบบอื่นๆ จึงเหลือผู้รับสิทธิ์ประมาณ 534,000 คน ซึ่งต้องใช้งบประมาณสมทบจากเบี้ยผู้สูงอายุจากรัฐบาลอีกปีละ 14,862 ล้านบาทเท่านั้น ตามภาพตารางที่ระบุเอาไว้

คำถามที่ 6 จะเอาเงิน 14,862 ล้านบาทต่อปีมาทำโครงการบำนาญประชาชน 3,000 บาทจากที่ไหน?

ตอบคำถามที่ 6 เงินจะเพียงพออย่างแน่นอน เพราะถ้า รสนา โตสิตระกูล เป็นผู้ว่า กทม. ซึ่งมีประวัติในการต่อต้านการทุจริตและนำทรัพย์สินกลับคืนแผ่นดินมานับล้านล้านบาท จึงจะเดินหน้าสะสางโครงการที่สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น ตามรายงานขององค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นระหว่างปี 2558-2564 ให้เป็นผลสำเร็จโดยเร็ว
ซึ่งจะเป็นผลทำให้สามารถนำงบประมาณในส่วนนี้มาได้จาก 3 ช่องทางได้แก่ (1) การหยุดทุจริตคอรัปชัน ทำให้นำงบประมาณ ที่ประหยัดลงได้ราว 9,500 ล้านบาท รวมกับ (2) การปฏิรูป บริษัท กรุงเทพธนาคม (4,300 ล้านบาท) จำกัด และ (3) การ เปลี่ยนขยะเป็นรายได้ อีกราวอย่างน้อย 700 ล้านบาท รวม 14,800 ล้านบาทต่อปี (ดูภาพตารางประกอบ)

คำถามที่ 7 ทำโครงการแบบนี้ประชาชนจะไม่แห่ไหลเข้ามารับสิทธิ์บำนาญประชาชน 3,000 บาทหรือไม่? แล้วจะหาเงินเพิ่มเติมมาจากไหน?

ตอบคำถามที่ 7 ไม่แห่เข้ามาแน่นอน “กำหนดวันที่ผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัย” ตามทะเบียนบ้าน เช่นตั้งแต่ก่อน วันที่ 1 มกราคม 2565 เพียงแค่นี้ก็ไม่ทำให้เกิดการไหลบ่าของประชาชนต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อรับบำนาญประชาชนแล้ว

อย่างไรก็ตามการเสนอนโยบายครั้งนี้ก็เพื่อเป็นจุดเร่ิมต้นและสร้างแรงบันดาลใจจากกรุงเทพมหานครให้กลายเป็น กระแสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชั่น แล้วนำเงินมาเป็นโครงการบำนาญประชาชนในระดับชาติต่อไป

คำถามที่ 8 คนอยู่ในกรุงเทพมหานครมานานแล้ว แต่ไม่มีทะเบียนบ้านจะมีสิทธิ์ได้รับบำนาญประชาชน 3,000 บาทหรือไม่?

ตอบคำถามที่ 8 โครงการนี้ กทม. จัดให้แก่ผู้ไม่มีรายได้หรือผู้ไม่มีหลักประกัน หรือมีรายได้น้อย ซึ่งเป็นผู้ที่มีทะเบียนบ้าน และอยู่อาศัยในเขต กทม.เป็นหลัก เพราะเป็นการจัดสรรงบประมาณโดยฉันทานุมัติของผู้ที่มีสิทธิ์การเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร

หากเป็นผู้ที่มีความจำเป็นต้องได้รับงบประมาณช่วยเหลือโดยไม่ได้มีทะเบียนบ้าน จะต้องมีหลักเกณฑ์โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการตรวจสอบ-รับรองโดยเจ้าหน้าที่ส่วนต่างๆ ของ กทม. เช่น เจ้าหน้าที่ เขต, อสส. กทม., หรือ ผู้นำชุมชน เพื่อที่จะได้รวบรวมและรับการพิจารณาเพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากสภา กทม.ในโอกาสต่อไป

คำถามที่ 9 แล้วคนที่เข้าย้ายในกรุงเทพมหานคร “เพิ่มเติม”หลังวันที่กำหนดไว้จะทำอย่างไร?

ตอบคำถามที่ 9 ขึ้นอยู่กับความสามารถของงบประมาณที่ลดการทุจริตคอร์รัปชั่น การปฏิรูปสร้างรายได้จากขยะ และการปฏิรูปกรุงเทพธนาคมว่าทำได้มากกว่าที่กำหนดหรือไม่ หากมีงบประมาณเพิ่มเติมที่ทำได้มากกว่านี้ ก็จะเสนอต่อสภากรุงเทพมหานครขยายวันที่ผู้ที่มาอยู่อาศัยตามความเหมาะสมของงบประมาณในโอกาสต่อไป

คำถามที่ 10 อำนาจการจัดสรรงบประมาณสำหรับสวัสดิการผู้สูงอายุเป็นอำนาจของใคร ผู้ว่า กทม. มีอำนาจหรือไม่?

ตอบคำถามที่ 10 ผู้ว่า กทม. มีหน้าที่ในฐานะฝ่ายบริหาร จัดเตรียมร่างงบประมาณประจำปี ตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ แล้วจึงขอความเห็นชอบจาก สภา กทม. เพื่อดำเนินการตามงบประมาณ ซึ่งจะถูกจัดทำในลักษณะโครงการการจัด สวัสดิการเพิ่มเติมให้แก่ผู้สูงอายุภายใต้ชื่อ “โครงการบำนาญ 3,000 บาท” เป็นการดำเนินการภายใต้นโยบายและ งบประมาณของ กทม. ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร

คำถามที่ 11 โครงการบำนาญหรือสวัสดิการผู้สูงวัย 3,000 บาททุกเดือน จะมีวิธีทำให้ผ่านความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร ได้อย่างไร?

ตอบคำถามที่ 11 หากพี่น้องประชาชนเลือก รสนา เบอร์ 7 เป็นผู้ว่า กทม.ด้วยเพราะต้องการนโยบายบำนาญประชาชน 3,000 บาท ก็ย่อมเป็นไปตาม พรบ. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 หมวด 5 อำนาจหน้าที่ของ กทม. มาตรา 89 กำหนด ในข้อ (23) เรื่องการจัดทำสังคมสงเคราะห์ จึงเชื่อว่าสมาชิกสภากรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนย่อมต้องเห็นความสำคัญและเคารพฉันทมติของประชาชนเช่นกัน โดยจะมีการเปิดการถ่ายทอดสดการอภิปรายการประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนเห็นจุดยืนของผู้แทนของประชาชนในแต่ละเขตในการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการจัดสรรงบประมาณเพื่อทำให้เกิดบำนาญประชาชน 3,000 บาท

หาก สภากรุงเทพมหานครเสียงข้างมากยังคงไม่เห็นชอบกับโครงการดังกล่าว ก็จะดำเนินการทำประชามติในเขต กทม. เพื่อให้ประชาชนชาว กรุงเทพมหานครเป็นผู้ตัดสินใจเดินหน้าโครงการต่อไป

คำถามที่ 12 ทำไมไม่ทำให้ผู้สูงวัยมีอาชีพ แทนการให้เงินทำไมไม่หางานให้ทำ?

ตอบคำถามที่ 12 กทม. จะช่วยสนับสนุนการสร้างอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุในรูปแบบต่างๆ อย่างแน่นอน เช่น การเป็นอาสาสมัคร การทำงาน ฝีมือ หรือการจัดสรรพื้นที่ค้าขายทำมาหากิน และพื้นที่กสิกรรมในเมือง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้อายุที่ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงวัยที่สุขภาพไม่ดี หรือมีภาระมาก ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้สูงวัยเหล่านี้แต่อย่างใด ที่ยังจำเป็นต้องได้รับสวัสดิการในส่วนนี้เช่นเดียวกัน

คำถามที่ 13 ข้าราชการจะได้รับสิทธิสวัสดิการ 3,000 บาทนี้หรือไม่?

ตอบคำถามที่ 13 ไม่ได้รับ เพราะเงินบำนาญของผู้เกษียณแล้ว โดยใช้เงินเดือนๆสุดท้ายคูณด้วยอายุราชการหารด้วย 60 ซึ่งจะได้รับมากกว่า 3,000 บาท ดังนั้นบำนาญประชาชน 3,000 บาท จึงไม่ได้เกินสิทธิ์ของข้าราชการบำนาญ

คำถามที่ 14 คนที่รับสิทธิประกันสังคมอยู่แล้วจะได้รับสวัสดิการ 3,000 บาทหรือไม่

ตอบคำถามที่ 14 ไม่ได้รับ เงินบำนาญจากประกันสังคม จะตกอยู่ที่ราว 5,250 บาทต่อเดือน เป็นต้น บำนาญประชาชน 3,000 บาท จึงไม่ได้เกินสิทธิ์บำนาญจากประกันสังคม

ตอบคำถามที่ 15 แผนงานในการดำเนินการเป็นอย่างไร?

ตอบคำถามที่ 15 แผนปีแรก 1. ตรวจสอบงบประมาณและปฏิรูป กรุงเทพธนาคม ให้มีความโปร่งใส 2. พัฒนาโครงการ วางแผนระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติ 3. จัดงบประมาณ ขออนุมัติโดย สภา กทม โดยใช้งบกลางเพื่อจัดทำโครงการในปีแรก 1,200 บาทถ้วนหน้า ใช้งบประมาณราว 3,330 ล้านบาทต่อปี
แผนปีสองถึงปีที่สี่ 1. ประเมิณผลโครงการตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ 2. เสนอแนะการประปรุง และจัดเตรียมอนุมัติงบประมาณรองรับ 3. ขออนุมัติโดย สภา กทม และเริ่มจ่ายขั้นบันไดถัดไป 1,800 / 2,400 / 3,000 บาท ในปีที่ 2-4

คำถามที่ 16 โครงการบำนาญประชาชน 3,000 บาท เป็นประชานิยมหรือไม่?

ตอบคำถามที่ 16 ไม่ใช่เป็นโครงการประชานิยม และไม่ใช่สวัสดิการถ้วนหน้า แต่เป็นเพียงเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้สูงวัยให้ดำรงชีวิตได้อย่างไม่ฝืดเคืองเกินไปหากต้องอยู่ตามลำพัง และไม่เป็นภาระกับลูกหลานหรือผู้สูงวัยคนอื่นในครอบครัว เพื่อให้ผู้สูงวัยที่ด้อยโอกาสในกรุงเทพมหานครไม่ต้องอดตาย ไม่ต้องเป็นขอทาน และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ต่อไป ตามปณิธานคุณภาพชีวิต และปฏิทินแห่งความหวัง “จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน” ของ ท่าน ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์

ซึ่ง น.ส. รสนา ได้ยืนยันว่าจะทำให้เป็นรูปธรรม หากพี่น้องประชาชนไปเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 และให้โอกาสเลือกรสนา กาเบอร์ 7 เป็นผู้ว่า กทม.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

เจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ

เจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ

บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ "77 ข่าวเด็ด" (77kaoded.com) เป็นคนปทุมธานีโดยกำเนิด เชื่อมั่นในเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ