X

‘ศิธา’ ชี้ รถไฟฟ้า ต้องเป็น “ขนส่ง” ที่เข้าถึง “มวลชน” อย่างแท้จริง

“ศิธา-ประภัสร์” พาพรรคไทยสร้างไทย ทดลองใช้บริการขนส่งสาธารณะ “รถไฟฟ้า-รถเมล์-รถแท็กซี่” จากดอนเมืองเข้าสู่อนุสาวรีย์ชัยฯ เพื่อประชันความเร็ว, ความสะดวกสบาย และค่าโดยสาร ย้ำรถไฟฟ้าต้องเป็นขนส่งที่ประชาชนที่เข้าถึงได้ทุกระดับ

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2565 น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย พร้อมด้วย นายประภัสร์ จงสงวน ผู้อำนวยการเลือกตั้ง กทม. ของพรรค นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ รองโฆษกพรรค และทีมไทยสร้างไทย ลงพื้นที่สำรวจการเดินทางรถสาธารณะผ่านบริการสาธารณะจากสถานีรถไฟฟ้าดอนเมือง ไปยังสถานีรถไฟฟ้าอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยได้แบ่งทีมงานไปเดินทางด้วยการขนส่งบริการสาธารณะ 3 ประเภท คือ

  • ประเภทที่ 1 รถไฟฟ้า ซึ่งมี น.ต.ศิธา และนายประภัสร์ ร่วมเดินทางโดยเริ่มจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน รฟท. (ดอนเมือง-บางซื่อ) ต่อด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รฟม. (บางซื่อ-สวนจตุจักร) ก่อนที่จะไปต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว บีทีเอส (หมอชิต-อนุสาวรีย์ชัย) ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยรถไฟฟ้ามีค่าบริการคนละ 85 บาท
  • ประเภทที่ 2 คือ รถแท็กซี่ ซึ่งมี ฟิล์ม รัฐภูมิ และนายปณิธาน ประจวบเหมาะ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที มีค่าบริการรวมทั้งสิ้น 170 บาท
  • ประเภทที่ 3 คือ รถเมล์สาธารณะ ที่มี นางสาวพัสวี ไกรเดชอุดมไพศาล และนายทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล ใช้เวลาการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง มีค่าบริการคนละ 30 บาท

น.ต. ศิธา เปิดเผยว่า การเดินทางของประชาชนชาวกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายสูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้ โดยเฉพาะระบบรางสาธารณะรถไฟฟ้าที่ควรจะเป็นทางเลือกที่พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ แต่ผู้มาใช้บริการกลับเป็นคนเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป อีกทั้งการใช้บริการรถไฟฟ้ามีความยุ่งยาก เพราะต้องต่อถึง 3 สายจากดอนเมือง เพื่อเข้าไปสู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ต้องเสียค่าบริการรวมทั้งสิ้นกว่า 85 บาท/คน

“การคำนวณทุกวันนี้ สามารถตีมูลค่าได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ที่หากค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ และต้องมีความสะดวกมากที่สุด จะทำให้ลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน รวมถึงมลพิษก็จะลดลง และที่สำคัญพลังงานที่นำเข้าอย่างน้ำมันก็จะลดลงด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรมองเฉพาะผลตอบแทนทางการเงินแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะรัฐต้องเข้าใจว่าแม้จะขาดทุนทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงได้อย่างสะดวกแต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่เป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ มีความคุ้มค่าเป็นอย่างมาก” น.ต.ศิธา กล่าว

น.ต.ศิธา กล่าวเสริมว่า วิธีคิดของขนส่งสาธารณะระบบรางทั่วโลก คือประชาชนทุกระดับต้องสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกมากที่สุดตามค่าแรงขั้นต่ำ เพราะการก่อเกิดของรถไฟฟ้าไทยก็ใช้วิธีคิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในการดำเนินโครงการเหมือนกัน ตามชื่อขององค์กรคือ “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสาธารณะ” แต่ทำไปทำมามวลชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ตามชื่อองค์กรกลับไม่ได้ใช้บริการ แต่กลับเป็นคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น กลายเป็นมาเน้นผลตอบแทนทางการเงิน มากกว่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีสถาบันการเมืองที่มีความจริงใจกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถใช้บริการรถไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง และสะดวกมากที่สุด

“ในวันนี้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบจากมหาวิกฤตโรคระบาด ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลายกิจการปิดตัวลง ประชาชนจำนวนมากตกงาน และอีกหลายคนมีรายได้ไม่เพียงพอ ดังนั้นปัญหาด้านการเดินทางจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่พรรคไทยสร้างไทยให้ความสำคัญ ซึ่งผม และท่านประภัสร์จะมีการเปิดนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงการบริการรถไฟฟ้าอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้” น.ต.ศิธา กล่าว

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

เจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ

เจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ

บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ "77 ข่าวเด็ด" (77kaoded.com) เป็นคนปทุมธานีโดยกำเนิด เชื่อมั่นในเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ