X

คณะก้าวหน้า เสนอร่างแก้ รธน. ชูจุดขาย “ปลดล็อกท้องถิ่น”

คณะก้าวหน้า เสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ หมวด 14 ชูจุดขายกระจายอำนาจให้ทุกท้องถิ่นมีงบประมาณ-ทรัพยากรเพียงพอ รับประกันหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่น ขณะที่การปกครองตนเองต้องเป็นไปเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่

วันนี้ (14 มีนาคม 2565) ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เปิดเผยว่า การกระจายอำนาจในช่วง 25 ปีที่ผ่านมายังไม่ถึงไหน โดยปัจจัยที่ขัดขวางคือการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แม้ว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 จะมีหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น เหมือนกับที่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ ปี 2550 เคยมี แต่พบว่าในหลายมาตราของ รธน. 60 ทำให้เห็นว่าหลักการกระจายอำนาจ หลักความเป็นอิสระของท้องถิ่น หลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ไม่อาจเกิดได้จริงหากเดินตามรอย รธน. 60 และแม้จะมีเลือกตั้ง อบต. – อบจ. หรือกำลังจะมีเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา และผู้ว่าฯ กทม. ก็ตาม

“การเลือกตั้งท้องถิ่นแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าประเทศไทยมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นได้สมบูรณ์หรือไม่ หากเราจะดูว่าการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นได้สมบูรณ์หรือไม่นั้น จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่น ต้องเรื่องรายได้ ความเป็นอิสระทางการคลัง และส่วนกลางก็จะทำได้เพียงกำกับดูแลท้องถิ่นเท่านั้น ไม่ใช่การบังคับบัญชา” ปิยบุตร กล่าว

ปิยบุตร เปิดเผยต่อไปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ อำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกิดการทับซ้อนกับราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนกลาง ขณะเดียวกันผู้มีอำนาจก็ตีความจำกัดหน้าที่การจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่น โดยเมื่อท้องถิ่นมีรายได้และงบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้การทำบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนเป็นไปโดยยาก รวมถึงส่วนกลางก็ยังบังคับ-แทรกแซงการทำงานของท้องถิ่นเสมอมา

“ในสายตาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และรัฐบาลสืบทอดอำนาจต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน พวกเขามองท้องถิ่นเสมือนเป็นลูกน้องของเขา พวกเขามองท้องถิ่นเสมือนเป็นแขนขาของเขา เป็นกลไกของรัฐบาลของพวกเขา ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ ไม่สอดคล้องกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นครับ” ปิยบุตร กล่าว

ปิยบุตร กล่าวเพิ่มว่า “เราจะหาทางรณรงค์กับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ เพื่อที่จะเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ในหมวด 14 ว่าด่วยเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น วิธีการของเราก็คือจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญครับ สิทธิ์นั้นก็คือ มาตร 256 (1) ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน สามารถเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้ เราจะเข้าไปจัดการยกเลิกหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่นของรัฐธรรมนูญ 60 และเขียนหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ โดยนำเนื้อหา-สิ่งที่ดีๆ ที่เคยปรากฎในรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 เข้ามา พร้อมกับเพิ่มเติมบทบัญญัติใหม่ๆ ที่เป็นการแก้ไขปัญหาการกระจายอำนาจที่เรื้องรังมาตลอด 3 ทศวรรษ”

โดยสาระสำคัญในการแก้หมวด 14 ที่ปิยบุตร เปิดเผยไว้แบบสรุป 10 ข้อ มีรายละเอียดดังนี้

1. บัญญัติรับรองหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่น และหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น เอาไว้

2. บัญญัติเรื่องอำนาจหน้าที่ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ทั่วไปในการจัดทำบริการสาธารณะในระดับท้องถิ่น มีเฉพาะบางเรื่องเท่านั้นที่ท้องถิ่นทำไม่ได้ เช่น เรื่องความมั่นคงในราชอาณาจักร เรื่องระบบเงินตรา เรื่องการต่างประเทศ เรื่องการป้องกันประเทศ นอกนั้นท้องถิ่นทำได้ทั้งหมด เว้นบางกรณีท้องถิ่นเห็นว่าตนเองมีศักยภาพไม่เพียงพอ ก็ค่อยร้องขอให้ส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคเข้ามาช่วยได้

3. แก้ไขความซ้ำซ้อน เรามีกฎหมายหลายฉบับที่กำหนดให้ราชการส่วนกลางและภูมิภาค กำหนดให้ส่วนกลางมีอำนาจทำบริการสาธารณะแบบเดียวกันกับที่ท้องถิ่นทำ ทำให้อำนาจมันซ้ำซ้อนกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเข้าไปแก้ปัญหาตรงนี้

4. จะจัดการแก้ปัญหาเรื้อรัง คือ มักเกิดปัญหาโอนถ่ายภารกิจจากส่วนกลางไปยังภูมิภาคภายในกี่ปี แต่พอถึงเวลาจริงก็ไม่ดำเนินการตามที่กำหนด และไม่มีการบังคับใดๆ ชัดเจน โดยร่างฉบับนี้ ระบุว่าถ้าถ่ายโอนในกี่ปีแล้วยังไม่ถ่ายโอนตามกำหนด ให้ถือว่าถ่ายโอนไปเรียบร้อยแล้วโดยผลของรัฐธรรมนูญ

5. ยืนยันว่าผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากเลือกตั้งทุกกรณี ทั้งท้องถิ่นแบบทั่วไป หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษ

6. ให้ออกกฎหมายว่าด้วยเรื่องของรายรับของท้องถิ่น เสนอให้มีการเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ท้องถิ่นหามาได้ กับ รายได้ที่ส่วนกลางได้รับ ในอัตราส่วนร้อยละ 50 ต่อ 50 เท่ากัน (เดิมอยู่ที่ 65 ต่อ 35) ภายใน 3 ปี

7. เพิ่มความยืดหยุ่น-คล่องตัวให้กับท้องถิ่น ในหารายได้ให้กับตนเอง รวมถึงเพิ่มความยืดหยุ่น-คล่องตัว ในการจัดทำ-คิดค้นบริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกู้เงิน การออกพันธบัตร เรื่องของรูปแบบการจัดทำบริการสาธารณะ เช่น รวมตัวกับท้องถิ่นต่างๆ กันตั้งสหการ หรือมอบอำนาจให้เอกชนมาทำในบางเรื่องบางประเด็น

8. เรื่องการกำกับดูแล ทุกวันนี้ราชการส่วนกลางและภูมิภาคมักอ้างว่ากำกับดูแลท้องถิ่น แต่การดูแลดังกล่าวเกินจากหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่นแล้ว โดยจะรักษาความเป็นอิสระของท้องถิ่นเอาไว้ให้ได้

9. สนับสนุนการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการจัดการบริหารท้องถิ่น เช่น การตั้งสภาพลเมืองเพื่อตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่น การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติ การถอดถอนผู้บริหาร-สมาชิกสภาท้องถิ่น ตลอดจนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณในระดับท้องถิ่น

10. วางโรดแมปว่า ถึงเวลาหรือยังที่จะยกเลิก “ราชการส่วนภูมิภาค” โดยให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปทำแผนการว่าถ้าจะยกเลิกจะต้องทำอะไรบ้าง และภายใน 5 ปี ครม. จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อถามประชาชนว่า “ประชาชนต้องการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคแล้วหรือยัง?”

 

จากนั้น ปิยบุตร ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.การเสนอกฎหมาย ปี 2564 กำหนดไว้ว่าแม้ร่างเสร็จแล้วจะยังรณรงค์เข้าชื่อได้ทันที แต่ต้องนำร่างและนำรายชื่อของผู้เชิญชวนจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน ไปยื่นต่อประธานรัฐสภาเสียก่อน จากนั้นเมื่อประธานรัฐสภาจะแจ้งกลับมา ก็จะสามารถเริ่มรณรงค์ล่ารายชื่อกับประชาชนได้ทันที โดยวางไทม์ไลน์ไว้ว่าวันที่ 1 เมษายน 2565 จะเปิดให้เข้าชื่อเป็นวันแรก โดยจะเปิดให้เข้าชื่อทั้งแบบออนไลน์ และเข้าชื่อผ่านการรณรงค์เข้าถึงประชาชนทั่วประเทศ

โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เปิดเผยรายชื่อผู้เชิญชวนแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฯ ทั้ง 22 คน ดังนี้

1. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า
2. ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า
3. พรรณิการ์ วานิช กรรมการคณะก้าวหน้า
4. ชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการคณะก้าวหน้า
5. กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กรรมการคณะก้าวหน้า
6. ไกลก้อง ไวทยการ กรรมการคณะก้าวหน้า
7. เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ กรรมการคณะก้าวหน้า
8. สุรชัย ศรีสารคราม กรรมการคณะก้าวหน้า
9. ชัน ภักดีศรี กรรมการคณะก้าวหน้า
10. เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center
11. พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และนายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา
12. ประเสริฐ วชิรเขื่อนขันธ์ อดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และอดีตนายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง
13. ศุภสัณห์ หนูสวัสดิ์ เลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และอดีตนายกเทศมนตรี
14. เทพพร จำปานวน นายกเทศมนตรีตำบลอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด
15. วิโรจน์ ลักขณาดิศร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
16. นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ
17. ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการ
18. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการ
19. ถวิล ไพรสณฑ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทบวงมหาวิทยาลัย และอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
20. พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้บริหารบริษัทเอกชน
21. พิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย
22. บรรณ แก้วฉ่ำ นิติกรชำนาญการ ข้าราชการท้องถิ่น

 

“ด้วยความตั้งอกตั้งใจครับว่าการรณรงค์ของเราในครั้งนี้ ในชื่อ ‘ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น’ นั้น จะทำให้การกระจายอำนาจในประเทศไทยเกิดขึ้นได้จริงเสียที เรารอมานานกว่า 3 ทศวรรษแล้วครับ ถ้าประเทศไทยไม่จัดการปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจ ถ้าประเทศไทยไม่ให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่น การบริหารราชการแผ่นดินในลักษณะแบบรวมศูนย์แบบนี้จะเป็นต่อไปได้ยากลำบากครับ แล้วจะเกิดอุปสรรคนานับประการ ไม่สามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ได้” ปิยบุตร กล่าว

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

เจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ

เจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ

บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ "77 ข่าวเด็ด" (77kaoded.com) เป็นคนปทุมธานีโดยกำเนิด เชื่อมั่นในเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ