X

ปธ.หอการค้ายะลา วอน รัฐบาลชุดใหม่ พิจารณาโครงการ “Soft Loan” หลังพบปัญหา

ประธานหอการค้ายะลา มั่นใจ ครม.ลุงตู่ 2/1 สามารถสานต่อนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้  เชื่อแก้ปัญหา จชต.สำเร็จ

นายเกรียงศักดิ์   เสรีรัตน์ยืนยง  ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา  เปิดเผยว่า  จากที่ได้มีพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ตนมีความเชื่อมั่นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดยะลา จังหวัดชายแดนภาคใต้ และภาคใต้  รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนเดิม สามารถสานต่อและต่อยอดนโยบายต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 5 ปี ประกอบกับรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลบริหารประเทศโดยยึดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทำให้การพัฒนาประเทศมีจุดหมายสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างมีทิศทาง ประกอบกับ ดร.สมคิด  จาตุศรีพิทักษ์  ยังคงเป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านเศรษฐกิจ ทำให้มั่นใจได้ว่าทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงนโยบายต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ จะต่อยอด จากรัฐบาลเดิม สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท่านจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ ได้รับรู้ถึงความสามารถของท่านในการบริหารกระทรวงต่างๆ เมื่อมีโอกาสเป็นรัฐมนตรี ก็สามารถบริหารได้เป็นอย่างดี มีความมุ่งมั่นในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ และไม่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต ยิ่งในขณะนี้ท่านเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยิ่งต้องตั้งใจแสดงฝีมือในการทำงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว แต่ก็มีความห่วงใยในเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะเสียงของฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านใกล้เคียงกันมาก และฝ่ายค้านมีเสถียรภาพในการทำงานทั้งในสภาและนอกสภา แต่ก็มีข้อดีสำหรับประชาชน คือ รัฐบาลจะทำงานอย่างเต็มทีและไม่มีเรื่องทุจริต เพราะจะถูกตรวจสอบจากฝ่ายค้านอย่างใกล้ชิดแน่นอน

“สำหรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้ ตนเองอยากให้แก้ปัญหาอะไรในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์ลอบทำร้ายทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนทั่วไป การลอบวางระเบิดหรือวางเพลิง สถานที่ราชการ สาธารณูปโภคพื้นฐาน บ้านเรือน อาคารพาณิชย์ และโรงงานอุตสากรรม ต้องลดลงอย่างมีนัยสำคัญในทางสถิติ เพราะต่อให้รัฐบาลมีมาตรการหรือนโยบายใดๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ในพื้นที่อย่างไร ก็ไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอย มีการค้าขายคึกคัก และมีการลงทุนใหม่ในพื้นที่  ซึ่งตนไม่ได้คาดหวังให้เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ต้องลดลงเป็นศูนย์ภายในปีสองปีนี้ แต่ก็ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยจริงๆ เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี แล้วจึงมีมาตรการกระตุ้นในทุกๆ มิติ เพื่อการรักษาพื้นที่ไว้ และอยู่รวมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมอย่างสันติสุข” ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา กล่าว

นายเกรียงศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า  สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ มีสภาวะไม่ต่างอะไรกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ยิ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องพึ่งพิงพึ่งพาผลผลิตทางการเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์ม ผลไม้ตามฤดูกาล ที่มีราคาตกต่ำ ภายใต้ค่าครองชีพที่สูงกว่ารายได้ แต่ปีนี้ยังมีข่าวดีสำหรับชาวสวนทุเรียนที่สามารถขายได้ราคาดี และยิ่งเป็นข่าวดีขึ้นอีกเมื่อทราบว่ามีนักลงทุนจากจีนลงทุนก่อสร้างโรงงานแปรรูปทุเรียนด้วยเงินลงทุน 700 ล้านบาท รับซื้อผลผลิตทุเรียนเพื่อแปรรูปแช่แข็งเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน โดยใช้แรงงานในพื้นที่ในกระบวนการผลิตในโรงงานประมาณ 1,200 คน ใช้เงินทุนหมุนเวียนประมาณ 2,000 ล้านบาท รับซื้อทุเรียน 1.2 หมื่นตันต่อปี หาก รัฐบาล กอ.รมน. ศอ.บต. จังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนภายใต้การนำของหอการค้าจังหวัด ต้องร่วมกันกำหนดนโยบายและมาตรการจูงใจให้มีการลงทุนลักษณะเช่นนี้เพิ่มขึ้น และขยายครอบคลุมไปในหลายๆ พื้นที่ อันจะหมายถึงโอกาสการมีงานทำของคนในพื้นที่ เงินหมุนเวียน ในพื้นที่และความสามารถในการรับซื้อผลผลิตที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลดีโดยรวมของสถานการณ์ในพื้นที่ สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว คือ ความสำเร็จในการสร้างสนามบินเบตง จากสิ่งที่ใครๆ ก็คิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ จนสามารถเปิดให้บริการในกลางปี 2563 โครงการนี้ต้องขอบคุณอดีตนายกเทศมนตรีเมืองเบตง นายคุณวุฒิ  มงคลประจักษ์  ผู้ริเริ่มโครงการและการผลักดันร่วมกันของทุกภาคส่วนจนสำเร็จในวันนี้ กระผมมีความเชื่อมั่นว่าจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจของอำเภอเบตงดีขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ซึ่งจะส่งผลมายังอำเภอใกล้เคียง ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนจนส่งผลดีมายังจังหวัดยะลาและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ โรงงานใหม่ๆ สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ อันหมายถึงโอกาสการมีงานทำของคนในพื้นที่มากขึ้นด้วย

“สำหรับมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าในพื้นที่นั้น ตนเองอยากสื่อสารถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอความอนุเคราะห์พิจารณาโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ “Soft Loan” (ดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี)  เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  เนื่องจากเป็นโครงการที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การที่ผู้ประกอบการยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ได้ หมายถึง การจ้างงานคนในพื้นที่ยังคงอยู่ แต่หากปิดกิจการไป หมายถึง การว่างงานของคนในพื้นที่ต้องเกิดขึ้น และจะส่งผลต่อปัญหาสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   แต่ปัญหาของโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มีกฎเกณฑ์ค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่จำนวนมาก ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้นี้ได้ จึงอยากขอให้ทบทวนถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ด้วย” ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา  กล่าว

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นครินทร์ ชินวรโกมล

นครินทร์ ชินวรโกมล

ป๋าโด่ง ผู้สื่อข่าวสายสงคราม ประจำจังหวัดยะลา ถนัดการทำข่าวการก่อความไม่สงบ ในพื้นที่ ผ่านเหตุการณ์ระเบิด-ยิง นับครั้งไม่ถ้วน แล้วก็รอดตายมาทุกครั้ง ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานชมรมถ่ายภาพจังหวัดยะลา