X

แนวคิด “สู้ไฟใต้” ของ “ดร.เอก” พปชร.คนยะลา

บทที่ 2 สู้ไฟใต้ :

ผมเกริ่นทิ้งไว้เมื่อคราวที่แล้วครับว่าความตั้งใจที่ 3 ของผมคือตั้งใจจะกลับไปทำประโยชน์ให้บ้านเกิด พอธุรกิจที่บ้านเริ่มลงตัว เป็นจังหวะเดียวกับที่ผมได้รับการทาบทามจากทีมงานของหอการค้าจ.ยะลาให้เข้าไปเป็นรองประธานครับ พอเข้าไปช่วยงานได้ซักระยะหนึ่งก็เกิดเหตุปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 หลังจากนั้นเหตุการณ์ไฟใต้ก็ได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างมากครับ

ในช่วง 10 ปีแรกของเหตุการณ์ คนในพื้นที่ 3 จชต.น่าสงสารครับ ชีวิตต้องเสี่ยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบไม่พอ พวกเจ้าของสินค้า ยี่ปั๊ว ซาปั๊วจากกรุงเทพก็กังวลในการทำธุรกิจกับคนในพื้นที่ หลักๆไม่อยากค้าขายด้วยเพราะหารถขนสินค้าไปส่งยากขึ้นทุกทีๆ และคงกลัวคนใน 3 จชต.เบี้ยวหนี้ แล้วไม่กล้าเข้าไปทวงเงินกัน เลยไม่ค้าขายด้วยดีกว่า บริษัทประกันภัยต่างๆก็ไม่ค่อยยอมขายประกันให้คนในพื้นที่ ส่วนประกันชีวิตก็ต้องเสียค่าเบี้ยประกันแพงกว่าที่อื่นๆ เรียกได้ว่า พ่อค้า แม่ค้าจึงค้าขายกันแบบ High Risk, Low Return ครับ ไม่ค่อยคุ้มจะลงทุนกัน ผู้คนในพื้นที่ที่มีฐานะหน่อยก็ทยอยย้ายถิ่นฐานออกนอกพื้นที่กัน ในพื้นที่มีแต่ความหวาดกลัวตลอดเวลาเพราะเหตุความไม่สงบเกิดขึ้นเป็นรายวัน

ในช่วงเวลานั้นผมและทีมงานหอการค้าใน 3 จชต.ได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำงานกับภาคเอกชนอื่นๆในพื้นที่ ร่วมกันเสนอมาตรการช่วยเหลือพ่อค้า แม่ค้าต่อภาครัฐกัน จนกลายมาเป็นมาตรการสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ (Soft Loan) ที่มีดอกเบี้ยเพียง 1.5% ต่อปี วงเงิน 25,000 ล้านบาท แล้วยังมีมาตรการลดภาษีธุรกิจเฉพาะจาก 3% เหลือ 0.1% มีการจูงใจในการลดภาษีรายได้นิติบุคคลลงเหลือ 3% และภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ 0.1% รวมถึงการหักค่าลดหย่อนค่าติดตั้ง CCTV ได้ 100% และอื่นๆ ก็ช่วยให้ธุรกิจในพื้นที่ยังคงพอดำเนินอยู่ได้ แต่ก็แทบจะไม่มีการลงทุนอะไรใหม่ๆเลย แถมนักท่องเที่ยวก็หายกันไปหมดครับ ขวัญและกำลังใจของคนในพื้นที่ก็หดหายลงไปทุกวันครับ

ผมมีโอกาสชวนเพื่อนๆลงไปเที่ยวยะลาหลายครั้ง แต่กว่า 90% มีแต่คนปฏิเสธครับ ส่วนอีก 10% ที่เหลือจะใจกล้าหน่อย ไม่กลัวที่จะเข้าพื้นที่ ผมเกิดคำถามขึ้นมาในใจในเวลานั้นครับว่าคนไทยยังเห็น 3 จชต.เป็นประเทศไทยอยู่อีกรึป่าว หรือเราเสียดินแดนไปแล้วเนี่ย !!!

จนมาถึงปี 2554 ผมก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานหอการค้า จ.ยะลา ซึ่งเป็นประธานหอการค้าที่มีอายุน้อยที่สุดในประเทศตอนนั้นครับ บทถัดไปจะมาเล่าถึงบทบาทใหม่ในวัย 38 ปีครับ

เขียนเมื่อวันที่ 6 มี.ค.2562

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นครินทร์ ชินวรโกมล

นครินทร์ ชินวรโกมล

ป๋าโด่ง ผู้สื่อข่าวสายสงคราม ประจำจังหวัดยะลา ถนัดการทำข่าวการก่อความไม่สงบ ในพื้นที่ ผ่านเหตุการณ์ระเบิด-ยิง นับครั้งไม่ถ้วน แล้วก็รอดตายมาทุกครั้ง ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานชมรมถ่ายภาพจังหวัดยะลา