X

ศอ.บต.แก้ปัญหา “คนไร้สัญชาติ” ชายแดนใต้

ปชช.ไร้สัญชาติ จชต. กว่า 300 คน เข้ารับการตรวจ DNA เพื่อแสดงการมีตัวตนในทะเบียนราษฎร์

เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้มีการจัดกิจกรรมตรวจสารพันธุกรรม DNA บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์จังหวัดชายแดนภาคใต้  ในโครงการตรวจสารพันธุกรรม DNA และอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วมโครงการในประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาคนด้อยโอกาสและขาดโอกาสทางสังคม และเพื่อให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สัญชาติในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย ให้มีบัตรประจำตัวประชาชน ผ่านการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมความสัมพันธ์ทางสายโลหิต โดยมีพลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธาน  ซึ่งมีประชาชนเข้ารับบริการกว่า 300 คน

พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต กล่าวว่า นโยบายหรือโครงการใดก็ตามที่รัฐบาลและศอ.บต. ดำเนินการขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาที่ทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนเดือดร้อน ซึ่งไม่ว่าจะปัญหาเรื่องใดก็ตามเราก็สามารถแก้ไขได้ ยกเว้นปัญหาการไม่มีตัวตน ไม่มีบัตร ไม่มีสิ่งใดที่แสดงว่า เป็นพลเมืองของชาติใดในโลกของพี่น้อง จึงไม่มีสิทธิในการเข้ารับบริการ และสิทธิประโยชน์ใดๆที่พึงควรได้รับ โครงการตรวจสารพันธุกรรม DNA จึงเริ่มต้นขึ้นเพื่อกำเนิดชีวิตใหม่แก่พี่น้องที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนตั้งแต่ปี 2560 เนื่องด้วยความห่วงใยของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยพี่น้องในพื้นที่ชายขอบทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งนี้ยอดรวมในปี 2561-2562 มีพี่น้อง 5 จังหวัดมาขอยื่นขอความเป็นตัวตนทั้งสิ้น 1,100 คน ปัจจุบันมีผู้ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนแล้วกว่า 400 คน ซึ่งภายหลังจากได้รับบัตรแล้ว หากมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือเรื่องอาชีพ และความเป็นอยู่ก็จะดำเนินการดูแลในขั้นต่อไป ตามนโยบายเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ในปีนี้คาดว่า จะสามารถแก้ปัญหาคนไทยไร้สัญชาติได้ให้เหลือน้อยที่สุด จากความร่วมมือของทุกหน่วยงานในพื้นที่

“อย่างไรก็ดี ในปี 2563 นี้ ศอ.บต. ได้ตั้งเป้าหมายการเก็บตัวอย่างและตรวจสารพันธุกรรมบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์หรือไร้สัญชาติในประเทศจำนวน 2 ครั้ง โดยได้ดำเนินการครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส มีผู้เข้าร่วมตรวจสารพันธุกรรมจำนวน 159 คน ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 นี้ตั้งเป้ากลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับบริการทั้งสิ้นจำนวน 541 คน เพื่อบุคคลในทะเบียนบ้านและออกบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและอำนวยความยุติธรรมเช่นประชาชนคนไทยทั่วไป” เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว

ด้าน น.ส.รอฮานา จาแน ประชาชนตำบลเขาตูม จังหวัดปัตตานี นำบุตรชาย 2 คน เข้ารับการตรวจ DNA เพื่อเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร์ เปิดเผยว่า บุตรชายคนโต อายุ 14 ปี คนเล็กอายุ 6 ปี ที่ผ่านมาโชคดีที่ทั้ง 2 คน ไม่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง จนถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลหรือคลินิก เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นตนไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะฐานะยากจนและลูกไม่มีบุตร ได้แต่ซื้อยากินเอง เพื่อเบาเทาเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย ส่วนเรื่องการไม่แจ้งเกิดนั้นมีปัญหาเรื่องบิดาของบุตรที่ต้องการนำบุตรไปจดทะเบียนเป็นประชากรในประเทศมาเลเซีย แต่ไม่สามารถทำได้ในขณะนั้น และเขาก็ได้เสียชีวิตแล้ว “รู้สึกดีใจที่หน่วยงานภาครัฐจัดกิจกรรมลักษณะเช่นนี้ เพราะถ้าอาศัยพึ่งพาตนคนเดียว ลูกอาจไม่สามารถเรียนหนังสือและไม่รู้ภาษาตลอดชีวิต หลังจากได้รับบัตรแล้วจะพาลูกไปสมัครเรียนสำหรับลูกคนเล็ก และให้ลูกคนโตเรียน กศน. เพื่อเรียนอ่านเขียนภาษาไทย” รอฮานา กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นครินทร์ ชินวรโกมล

นครินทร์ ชินวรโกมล

ป๋าโด่ง ผู้สื่อข่าวสายสงคราม ประจำจังหวัดยะลา ถนัดการทำข่าวการก่อความไม่สงบ ในพื้นที่ ผ่านเหตุการณ์ระเบิด-ยิง นับครั้งไม่ถ้วน แล้วก็รอดตายมาทุกครั้ง ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานชมรมถ่ายภาพจังหวัดยะลา