X

งอกนอกกะลา … โรงเรียนบ้านห้วยกะโปะ สพป.เพชรบูรณ์ เขต 2 โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนโดยชุมชนเพื่อชุมชน

“ห้วยกะโปะ” มันเป็นคำที่ตลกและแสดงถึงความบ้านนอก  หลังเขา  กันดาร  ไม่มีอะไรที่เชิดหน้าชูตาหมู่บ้านได้เลย  แม้จะมีแหล่งท่องเที่ยวอย่างเลยดั้นลานหินมหัศจรรย์ก็ดูจะไม่ชวนให้เข้ามาเยี่ยมชม … จากข้อความนี้ทำให้ที่นี่ไม่มีครู จนกระทั้งวันเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงก็มาถึง …

โรงเรียนบ้านห้วยกะโปะ  ตั้งอยู่หมู่ที่ 6  ตำบลหลักด่าน  อำเภอน้ำหนาว  จังหวัดเพชรบูรณ์  เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 กันยายน พุทธศักราช 2516 เป็นอาคารเรียนชั่วคราว หลังคามุงแฝก บนพื้นที่ 35 ไร่ ปัจจุบันเปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 – 3  ประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3  จำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 104 คน  ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 14 คน

การคมนาคมเดิมที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ช่วงฤดูฝนไม่สามารถเข้าออกได้ ต้องใช้พาหนะที่เป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อหรือรถไถทางการเกษตร  ฤดูแล้งก็เปลี่ยนเป็นผงฝุ่นที่ทับถมกันหนาเกือบฟุต  เมื่อมีการเจ็บป่วยหรือใกล้คลอด  ต้องเดินทางออกไปที่ถนนลาดยางห้วยลาด-หลักด่าน เป็นระยะ 9 กิโลเมตร มีหลายคนที่คลอดระหว่างทาง หรืออาการป่วยหนักขึ้นเมื่อถึงโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า  ด้วยเส้นทางที่แสนลำบาก

ในสายตาของคนภายนอก  เมื่อได้ยินชื่อคำว่า “ห้วยกะโปะ” มันเป็นคำที่ตลกและแสดงถึงความบ้านนอก  หลังเขา  กันดาร  ไม่มีอะไรที่เชิดหน้าชูตาหมู่บ้านได้เลย  แม้จะมีแหล่งท่องเที่ยวอย่างเลยดั้นลานหินมหัศจรรย์ก็ดูจะไม่ชวนให้เข้ามาเยี่ยมชม และต่อมาด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  ถนนลาดยางเข้าถึงหมู่บ้าน มีพาหนะส่วนตัวของแต่ละครอบครัว  ไม่มีการพึ่งพาอาศัยกันเหมือนก่อนมา การเมืองเข้ามีส่วนให้เกิดการแตกแยกในชุมชน  เทคโนโลยีที่มีความเร็วยิ่งกว่าเครื่องบินjet ลูกหลานต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย  พ่อแม่ไปหางานทำในเมืองใหญ่  ความอบอุ่นที่ค่อย ๆ เลือนหายไปจากชุมชนแห่งนี้

ความเดิมโรงเรียนบ้านห้วยกะโปะ  ประมาณช่วงปี 2545  พฤติกรรมนักเรียนเมื่อเห็นคนแปลกหน้าไม่ว่าจะอยู่ในหมู่บ้านหรือต่างถิ่น  จะไหว้อย่างนอบน้อม พูดจามีสัมมาคารวะ มีทักษะรู้คิดรู้ปฏิบัติ  การเรียนมุ่งเน้น ไทย  คณิต  อังกฤษ  เป็นสำคัญ การศึกษาทั้งอักขระจากเบื้องบนและการปฏิบัติของนักปฏิบัติที่นอบน้อมต่ออักขระผ่านผู้นำสังกัด  เร่งใส่ปุ๋ย O-NET NT ที่คาดว่าจะมีส่วนให้เด็กได้เกิดคุณภาพ  ตอบสนองต่อสังคมที่ปรุงแต่งด้วยทุนนิยมยักษ์ใหญ่  ห้องเรียนถูกกั้นด้วยผนัง  แสงสว่างไม่ทั่วถึง  ป่าที่อยู่ใกล้ชิดอาคารเรียน  ยุงลายที่ชุกชุม บางปีถึงกับมีไข้มาลาเรีย สัมมาคารวะที่ขาดหายไป  สำเนียงมารยาท  การปรุงแต่งคะแนนเพื่อความอยู่รอดของความเป็นวิทยฐานะ  ได้ดูดกลืนจนคุณค่าของครู  คุณภาพของผู้เรียน  ค่อย ๆ เสื่อมหายไปตามกาลเวลา  ครูส่วนใหญ่ที่ได้มาอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้มี 2 กรณี  1.บรรจุใหม่  2. เขียนย้ายแล้วระบุโรงเรียนใดก็ได้ แต่ไม่มีกรณีที่ 3  กล้าระบุจะมาอยู่ ณ ที่กันดาร  ไร้ค่าในสายตาคนภายนอก

ต่อมา เมื่อปี 2558 มีการสอบคัดเลือกบรรจุแต่งตั้งผู้อำนวยการสถานศึกษา ในตำแหน่งว่างคือ  โรงเรียนบ้านกกกะบก  และโรงเรียนบ้านห้วยกะโปะ ตำบลหลักด่าน อำเภอน้ำหนาว  เป็นปกติคนที่สอบได้ที่ 1 ต้องเลือกโรงเรียนบ้านกกกะบก อย่างแน่นอน เพราะมีสัญญาณโทรศัพท์  สัญญาณอินเตอร์เน็ต  ที่อยู่ติดถนนสายหลักน้ำหนาว-ห้วยสนามทราย ไม่ห่างจากตัวอำเภอน้ำหนาว  ชุมชนเข้มแข็ง ครูมีวิทยฐานะสูง

แต่…กลับกลายเป็นว่า  คนที่สอบได้ที่ 1  เลือกที่จะบรรจุที่โรงเรียนบ้านห้วยกะโปะ ทั้งที่มีสิทธิ์เลือกและทั้งที่รู้ว่ามีแต่ปัญหารอบด้าน   แต่มีวิสัยทัศน์ที่ว่า นักเรียนคุณภาพ  ครูคุณภาพ  โรงเรียนคุณภาพ  ชุมชนคุณภาพ “4Qs”  มุ่งจัดการที่ชุมชนและครูเป็นอันดับแรก  เพราะครูต้องอยู่ในชุมชน  และชุมชนต้องคอยช่วยเหลือส่งเสริมบุตรหลาน

ผู้อำนวยการโรงเรียนเดิมเคยเป็นครูน้อยอยู่โรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 2545 – 28 ธันวาคม 2552 ถือว่าเป็นครูที่อยู่นานที่สุดตั้งแต่มีการสร้างโรงเรียน  จึงมีพื้นความสัมพันธ์เดิมกับชุมชน  จัดกิจกรรมแบ่งพื้นที่พัฒนาโรงเรียนกลุ่มหนึ่งอยู่หน้าอาคารเรียน  อีกกลุ่มพัฒนาหลังอาคารเรียน  แต่กินข้าวร่วมกัน  ทำอาหารร่วมกัน  ความตึงเครียดค่อย ๆ  เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ  ประชุม  จัดกีฬานักเรียนสัมพันธ์ชุมชน (เดิมที่เราเห็นคือกีฬาสีเฉพาะนักเรียน…เล่นแล้วก็จบ)  แต่กีฬาสัมพันธ์ชุมชนจัดกลุ่มที่บาดหมางกันมาอยู่กลุ่มเดียวกัน จัดผู้อาวุโสปะปนอยู่ในกลุ่มเพื่อช่วยลดความขัดแย้ง  ทำข้าวหลามสัมพันธ์ชุมชน  จากนั้นความสัมพันธ์ชุมชนจึงดีขึ้นโดยมีโรงเรียนเป็นผู้คอยประสาน  เป็นทั้งผู้ให้ชุมชน  และเป็นผู้คอยรับความร่วมมือจากชุมชน

ส่วนครู  เป็นที่ทราบกันว่าพื้นที่กันดาร สภาพจิตใจที่จำใจต้องทนอยู่  อยู่เพื่อฆ่าเวลา  รอเวลาครบรอบที่สามารถเขียนย้ายไปโรงเรียนอื่นที่เจริญกว่าได้  นักเรียนต้องอยู่กับทีวี  กับหนังสือที่ต้องหัดอ่าน  ย่อ  สรุป  ตอบคำถาม  เป็นปกติทุกวัน  ครูจับกลุ่มรวมกันคุยกันบ้าง  ทำอาหารทานระหว่างสอนบ้าง  มาโรงเรียนสายบ้างทั้ง ๆ ที่ครูทุกคนต้องอาศัยอยู่บ้านพัก….

การทำงานเริ่มแรกจะมุ่งเน้นสนองต่อนโยบายเบื้องบน  อักขระสั่งการที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของบริบทที่แตกต่าง  วิ่งตามนโยบาย จนทำให้ห้วงเวลาหนึ่งได้พินิจถึงสัมมาทิฎฐิ  เราปฎิบัติเพื่ออะไร  สิ่งที่เราทำอยู่มันอยู่บนความจริงแท้ของการศึกษา  หรือเราอยู่ใน  ความจริงแท้ของวงการศึกษา เราคือข้าราชการ  ข้าของแผ่นดิน  ข้าของในหลวง  พระองค์ท่านดูแลคนไทยทั้งโลก  ทั้งประเทศ  เราผู้เป็นข้ารองบาทเหตุใดจึงไม่ช่วยพระองค์ท่าน  เพียงหมู่บ้านเดียวแห่งนี้  เราจะทำให้เขามีคุณภาพ  มีความสุข  ไม่ได้บ้างเลยหรือ???  จากความคิดที่สร้างแรงบันดาลใจ  จึงเรียกประชุมครู…เราจะทำตัวไร้ค่า  เพื่อรอวันย้าย…หายใจทิ้ง…แล้วกินเงินหลวง…ไปเช่นนี้หรือ  ถ้าเด็กนักเรียนคือลูกหลานเรา…เราจะยอมรับสภาพของลูกหลานเมื่อจบการศึกษาออกไปได้หรือ…เราจะจากที่แห่งนี้ไปอย่างไร้ค่า  ไร้ความคิดถึง  คำสาปส่ง  จะติดตัวเราออกไปจากที่นี้  หรือเราจะจากที่นี้ไปอย่างสง่างาม  อย่างมีคุณค่า…พวกเราจะเลือกอย่างไร…เราพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงที่นี้ร่วมกันได้หรือไม่  เราคือทหารเอกของพระราชา  ถ้าเราไม่หลงไปกับนโยบายต่าง ๆ ที่คอยควบคุมเรา  แต่เรามีเป้าหมายคือคุณภาพของผู้เรียนทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 …เขาคงไม่ไล่เราออกจากครูหรอกมั้ง…หากเกิดอะไรขึ้น ผอ.จะขอรับผิดชอบการกระทำนี้เพียงผู้เดียว  ไม่ต้องห่วง…คณะครูทุกคนจึงพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง…แม้จะยากลำบากเราก็ต้องทน  เมื่อระบบเข้าที่  เราก็จะมีความสุข  มีความภาคภูมิใจ

จากนั้นคณะครูจึงช่วยกันสืบค้น  แสวงหา  กระบวนการ  วิธีการ  ที่โรงเรียนอื่น ๆ  ทำสำเร็จ เพื่อจะมาปรับใช้กับโรงเรียนของตน…แต่ก่อนหน้านั้น ผอ.ได้ศึกษาข้อมูลมาไว้เป็นเบื้องต้นด้วยเหตุบังเอิญ  คือ

ด้วยโลกแห่งเทคโนโลยี  ทำให้ ผอ.ต้องสืบค้นใน Google ถึง โรงเรียนบ้านห้วยกะโปะ ว่าในโลก Online มีใครรู้จัก ใครกล่าวถึงด้านลบ  ด้านบวก ของโรงเรียนบ้าง และทุกครั้งที่สืบค้น  จะมีคำว่า โรงเรียนนอกกะลา ขึ้นมาด้วยทุกครั้งไป…ซึ่งอาจจะเป็นคำแปลจาก โรงเรียนบ้านห้วยกะโปะ  เพราคำว่า กะโปะ ในภาษาถิ่น แปลว่า กะลามะพร้าว…จึงตัดสินใจคลิ๊กเข้าไปดูเว็บไซด์ โรงเรียนนอกกะลา พบว่าสิ่งที่โรงเรียนนอกกะลาได้ทำคล้ายกับที่เราในช่วงที่เคยเป็นครูได้ใช้กับเด็กนักเรียนแบบเดียวกัน…สอนไทย  คณิต  อังกฤษ เป็นหลัก ที่เหลือเป็นกิจกรรมบูรณาการ 5 กลุ่มสาระวิชา  โดยพิจารณาตามความต้องการของเด็ก  ความเหมาะสมของช่วงวัยของเด็ก  ชั้นอนุบาลไม่มีกิจกรรมเสรี  กิจกรรมบล็อก  กิจกรรมเสริม  หรือกิจกรรมอะไรต่าง ๆ  เพราะตั้งแต่บรรพบุรุษเลี้ยงลูกมาก็ไม่เคยมีเล่นตามมุม  หรือกิจกรรมอื่น ๆ  ที่ต้องจัดเป็นอย่าง ๆ ไป  ให้เขาได้เล่น  ได้แสดง  ได้ปฏิบัติ  สอดแทรกทักษะการคิด  คุณธรรมจริยธรรม  ไม่มีเก้าอี้ให้เด็กนั่งสร้างความเป็นเอกเทศ  เป็นสมบัติส่วนตัว  นั่ง นอน เรียนได้อิสระตามธรรมชาติของสรีระเด็ก ไม่ได้ยึดหนังสือเป็นหลักในการเรียนเป็นบท ๆ  แต่ที่โรงเรียนนอกกะลาต่างจากโรงเรียนบ้านห้วยกะโปะ คือ  มีกิจกรรมจิตศึกษาตอนเช้าเพื่อพัฒนาปัญญาภายใน  ครูทำ PLC กันทุกวัน  ผู้ปกครองมีส่วนร่วมการศึกษามาก  มีการเรียนเป็นส่วน ๆ  4 ส่วนในหนึ่งปีการศึกษา

เมื่อความคล้ายกันมาเจอกัน  จึงนำคลิปการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนนอกกะลามาเปิดให้คณะครูได้ชม  และร่วมกันแชร์ในสิ่งที่แต่ละคนได้ไปค้นหาวิธีการ กระบวนการสอนที่เราจะเปลี่ยนแปลง ทุกคนได้มีมติร่วมกันที่จะไปศึกษาดูงานของโรงเรียนนอกกะลา

ระหว่างทางที่คณะกลับจากการศึกษาดูงานที่โรงเรียนนอกกะลา  หรือ  โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา  อำเภอลำปลายมาศ  จังหวัดบุรีรัมย์ ถามคณะครู….พวกเราจะทำได้ไหม…เข้าแถวในร่ม…ไม่ใช้เสียงกริ่งระฆังเข้าแถว…ไม่มีไมค์อำมหิต…ครูและเด็กเข้าแถวร่วมกัน…ไหว้กันอย่างนอมน้อม…ใช้เวลาเข้าแถว 5 -10 นาที เท่านั้น…ไม่มีไม้เรียว…ไม่มีหนังสือ…ไม่มีข้อสอบ…ทำกิจกรรมจิตศึกษาเปิดปัญญาภายใน…เรียนไทย  คณิต  อังกฤษ…Body Scan…บูรณาการสอน 5 วิชา  ชุมนุมต่าง ๆ  กิจกรรมลูกเสือเนตรนารี….ฝึกโยคะเพื่อสอนเด็ก…ครูมีภาระงานหนักขึ้น…PLC ทุกวัน…คณะครูทุกคนตอบ…พร้อม  สู้  เราเดินทางออกจากวงการศึกษาแล้ว  เราต้องทำได้….

ผอ.พร้อม…คณะครูสู้…ยังไม่พอ…จึงเรียกนักเรียนทุกคนและทุกชั้นมาคุยในสิ่งที่เราจะร่วมกันเปลี่ยนแปลง…เปิดยูทูปโรงเรียนนอกกะลาให้ทุกคนได้ชม..และยินดีที่จะช่วยกันเคารพกติกานำพาการเปลี่ยนแปลง  เป็นแบบอย่างให้ลูกหลานสืบต่อไป…แต่เท่านั้นก็ยังไม่พอ…ผอ.พร้อม….คณะครูสู้…นักเรียนยินดี…แต่ยังเหลือคณะกรรมการสถานศึกษา  และผู้ปกครอง  จึงได้ทำความเข้าใจและทุกคนให้โอกาสที่โรงเรียนจะเปลี่ยนแปลง

ความเปลี่ยนแปลงได้เริ่มต้นขึ้น ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559…เพียงแค่สองสัปดาห์แรกที่เราใช้….นักเรียนพฤติกรรมอ่อนโยนขึ้น  ตักอาหารในปริมาณที่เพียงพอต่อตนเอง  ไม่มีเศษอาหารเหลือทิ้ง  ปัญหาทะเลาะวิวาทในโรงเรียนไม่มี  นักเรียนมีความสนุกและมีความสุขที่ได้มาโรงเรียน  ได้ลงมือปฏิบัติในกิจกรรมต่าง ๆ  ไม่ต้องเปิดหนังสือเรียน  ไม่ต้องคอยอ่าน  สรุป  ตอบคำถามท้ายบท…คณะครู PLC ร่วมกัน และลงความเห็นว่าเรามาถูกทางแล้ว…งานอื่นที่เข้ามาระหว่างการสอน ผอ.เป็นผู้ดำเนินการให้เพราะผู้อำนวยการคือผู้อำนวยความสะดวก  ไม่ใช่
ผู้สั่งการอย่างเดียว  งานประชุมต่าง ๆ เลือกเฉพาะหัวข้อที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  เช่น  งานบุคคล  งานงบประมาณ  ฯลฯ  จัดหาสื่ออุปกรณ์ที่สนองต่อกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง  การเรียนการสอนจะได้มีความ Flow

ต่อมาเพื่อการสร้างพลังสมองที่เข้มแข็งให้คณะครู  จึงให้ครูเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาในหัวข้อที่ต้องมาใช้กับเด็ก ๆ กระทั่งปัจจุบัน

กระบวนการจิตศึกษา คือการเปิดปัญญาภายใน สร้างให้เกิดสมาธิ ด้วยคลื่นเสียงที่เบา นุ่ม กิจกรรมนี้จะเกิดเป็นวิถีในช่วง 08.30 – 08.50 น. ทุกวัน ปรับจิตใจให้เปิดสมองพร้อมที่จะเรียนรู้ในรอบวันต่อไป  เมื่อมีการประชุมผู้ปกครองเกิดขึ้นจึงอยากให้ผู้ปกครองได้รู้ว่าลูกหลานตัวเองนั่งจับมือหลับตา หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ  เพื่อเกิดสมาธิ  มีความสำคัญอย่างไร  และยังช่วยให้ผู้ปกครองมีสมาธิพร้อมที่จะเข้าสู่วงสนทนาอย่างมีคุณค่าและมีความหมายต่อลูกหลาน

ขอขอบคุณภาพและคลิปวีดีโอ จาก เพจเฟสบุค โรงเรียนบ้านห้วยกะโปะ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน