X

วงเสวนาแนะสื่อมวลชนนำเสนอข่าว “เน้นความถูกต้องมากกว่าความรวดเร็ว”

คณะวารสารศาสตร์ฯ มธ.เปิดเวทีถอดความรู้ “หมูป่าอะคาเดมีกับแนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์กู้ภัย” มองสื่อมวลชนปรับบทบาทการนำเสนอข่าว เน้นความถูกต้องมากกว่าความรวดเร็ว

คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา “หมูป่าอะคาเดมีกับแนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์กู้ภัย” ร่วมถอดบทเรียนการรายงานข่าวในสถานการณ์กู้ภัยช่วยทั้ง 13 ชีวิต ครั้งประวัติศาสตร์ของไทย ณ วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ผ่านการบอกเล่าประสบการณ์การทำงานจริงในพื้นที่ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อสารมวลชน ณ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2561 โดยมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ผศ.ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า “คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. ได้จัดกิจกรรมเสวนาถอดความรู้ “หมูป่าอะคาเดมีกับแนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์กู้ภัย” ขึ้น เพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับการรายงานข่าวในสถานการณ์กู้ภัย หลังเกิดเหตุการณ์นักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีและโค้ช จำนวน 13 คน สูญหายไปบริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย จากการแบ่งปันเรื่องเล่าประสบการณ์ ความรู้ความเชี่ยวชาญ และความคิดเห็น ในส่วนที่เกี่ยวกับการทำงานจริงในพื้นที่ เงื่อนไขในการทำงานต่างๆ รวมถึงประเด็นจริยธรรมและจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน อันเป็นประเด็นสืบเนื่องมาจากเสียงสะท้อนทั้งบวกและลบที่ภาคประชาชนมีต่อการรายงานข่าวครั้งนี้”

ผศ.ดร.อัจฉรา กล่าวเพิ่มเติมว่า “งานเสวนา “หมูป่าอะคาเดมีกับแนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์กู้ภัย” ได้รับเกียรติจากนักวิชาการด้านสื่อมวลชน 4 ท่าน ได้แก่ นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีชัย ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 นายเบญจพจน์ ทิพย์แสงกมล ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นายศิปปชัย กุลนุวงศ์ ผู้สื่อข่าวประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักข่าว AFP และ นายดำรงเกียรติ มาลา ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ดำเนินรายการโดย รศ.รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. ทางคณะฯหวังว่างานเสวนาในครั้งนี้ จะเป็นหนึ่งในโอกาสที่ได้ประมวลข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการรายงานข่าวในสถานการณ์กู้ภัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งกับนักวิชาชีพ นักวิชาการด้านสื่อ นักศึกษาวิชาสื่อสารมวลชน รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจต่อไป”

ขณะเดียวกัน วงเสวนากล่าวถึงบทบาทการทำงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤตจากเหตุการณ์ค้นหานักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีและโค้ช รวมไปถึงร่วมบอกเล่าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของสื่อที่ลงพื้นที่เพื่อเร่งค้นหานักฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีและโค้ช

คุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ช่วยบรรณาธิการ รายการข่าว 3 มิติ

คุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ช่วยบรรณาธิการ รายการข่าว 3 มิติ กล่าวว่า จากการทำงานในครั้งนี้ทำให้เห็นสภาพการทำงานของสื่อต่างประเทศที่เป็นมืออาชีพเป็นโอกาสของผู้สื่อข่าวไทยที่ได้พัฒนาศักยภาพในแต่ละด้าน เช่น การใช้กราฟิกและภาพจำลองในการรายงานข่าว (Immersive Graphic) รวมไปถึงการนำเสนอข่าวที่ควรคำนึงถึงความถูกต้องมากกว่าความรวดเร็ว

“โดยส่วนตัวคิดว่าการนำเสนอข่าวเยาวชนติดถ้ำ นักข่าวต้องมีความรู้ ต้องศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเสนอข่าวที่สำคัญต้องทำข่าวที่ไม่สร้างความหวังให้กับครอบครัวผู้ประสบภัย ตนมองว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่อยากให้เกิดเด็กติดถ้ำรอบสอง ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจธรรมชาติของชีวิตเด็ก ไม่ควรคิดแทนเด็ก เพราะเด็กรู้ที่จะตอบคำถามสื่ออย่างไร”

คุณเบญจพจน์ ทิพย์กมลแสง ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

คุณเบญจพจน์ ทิพย์กมลแสง ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่มองว่าการทำงานข่าวจากเหตุการณ์ในครั้งนี้เห็นได้ชัดว่าการทำงานของสื่อต้องนำเสนอข่าวที่ถูกต้องจากทางราชการเป็นหลัก เช่น การแถลงข่าวของผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย (ผบ.ศอร.) สิ่งที่เห็นได้ชัดชัดเจนคือสื่อมวลชนต้องรู้จักหาประเด็นที่เรียกว่าข่าวเคียงซึ่งเป็นประเด็นเล็กๆ น้อยๆ เช่น จิตอาสา โรงครัวพระราชทาน แม้กระทั่งเครื่องชงกาแฟสดซึ่งสื่อต่างชาติมองว่าเป็นเรื่องที่แปลกมากสำหรับเหตุการณ์การนำเสนอข่าวในภาวะวิกฤต ที่สำคัญเราเห็นความประทับใจจากความร่วมมือร่วมใจของคนไทยและจิตอาสาที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน

คุณศิปปชัย กุลนุวงศ์ ผู้สื่อข่าวประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักข่าว AFP

คุณศิปปชัย กุลนุวงศ์ ผู้สื่อข่าวประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักข่าว AFP กล่าวถึงบทบาทการทำงานของสื่อมวลชนต่างชาติที่ทำงานในครั้งนี้ว่า การทำงานของตนซึ่งได้รับมอบหมายจำสำนักข่าว AFP ซึ่งเป็นสื่อมวลชนต่างชาติมองว่าต้องยึดหลักเคราพกติกาและยึดความปลอดภัยของเด็กเป็นสำคัญ ครอบครัวและสุขภาพของเด็กต้องปลอดภัยเป็นลำดับสำคัญ แม้ว่าช่วงภายหลังเหตุการณ์จะมีสื่อมวลชนต่างชาติเข้าไปสัมภาษณ์ถึงตัวเด็กได้โดยหลายฝ่ายมองว่าเป็นการล่วงล้ำสิทธิของเด็กและครอบครัวแต่โดยส่วนตัวตนมองว่าอาจเป็นเพราะชาวบ้านเกรงใจสื่อต่างประเทศโดยวัฒนธรรมคนไทยไม่กล้าปฏิเสธ

คุณดำรงเกียรติ มาลา ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Bangkok Post

คุณดำรงเกียรติ มาลา ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Bangkok Post กล่าวว่าในการนำเสนอข่าวนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีและโค้ช ได้เห็นในแง่มุมบวกของสื่อที่เคราพกติกา ชาวบ้านในพื้นที่ต่างเข้าใจบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อที่ต้องการนำเสนอข่าว แม้แต่เรื่องชาวนาที่ยอมสละผืนนาให้เป็นที่กักเก็บน้ำเพราะทุกคนมองถึงชีวิตของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ

นอกจากนี้ ในวงเสวนามีความเห็นที่สอดคล้องกันจากการทำงานข่าวช่วยเหลือทีมนักฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี โดยการทำงานของสื่อมวลชนต้องยึดถือความถูกต้องเป็นหลักมากกว่าความรวดเร็วที่สำคัญคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ประสบภัยและสภาพจิตใจของครอบครัว ในส่วนของการตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชนประชาชนมีบทบาทมากขึ้น เช่น ภาพข่าวในถ้ำที่เผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ การแฝงตัวเข้าไปในโรงพยาบาลเพื่อหาข้อมูลการพักรักษาตัวของทีมหมูป่าฯ จนอาจเกิดกระแสตีกลับที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรสื่อที่นำเสนอข่าวเอง.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน