X

เชียงใหม่ – ชาวเชียงใหม่ สุดฟิน! แห่ชมดาวศุกร์สว่างที่สุดส่งท้ายปี ท่ามกลางลมหนาว

เชียงใหม่ – ชาวเชียงใหม่ ไม่ผิดหวัง ท้องฟ้าเป็นใจ ได้ชมดาวศุกร์สว่างสุกใสที่สุดส่งท้ายปี 2564 ที่หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร

วันที่ 7 ธันวาคม 2564 ช่วงค่ำที่ผ่านมา ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ พากันเดินทางไปชมความสวยงามของดาวศุกร์ ที่ปรากฏส่องสว่างที่สุดในรอบปี (The Greatest Brilliancy) หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เปิดจุดสังเกตการณ์ที่หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ขณะที่ท้องฟ้าปลอดโปร่งเป็นใจ มองเห็นดาวศุกร์สว่างสุกใส เปล่งประกายชัดเจนทางทิศตะวันตก ท่ามกลางอากาศเย็นสบายในช่วงหัวค่ำ

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ช่วงค่ำวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุดในรอบปี สว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จนถึงเวลาประมาณ 20.00 น.

ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม มีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ สำหรับในช่วงวันอื่น ๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งอยู่ที่ห่างจากโลก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย

ดาวศุกร์ เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า และเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ มีวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ตำแหน่งของดาวศุกร์ที่ปรากฏบนท้องฟ้าจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้ไม่เกิน 47 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าหรือก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือเวลากลางดึก หากดาวศุกร์ปรากฏบนฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น คนไทยจะเรียกว่า ‘ดาวประกายพรึก’

นอกจากที่หอดูดาวอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ สดร. ยังเปิดจุดสังเกตการณ์ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา นำกล้องโทรทรรศน์ให้ประชาชนร่วมสังเกตการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี และ วัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ ในคืนนี้ ได้แก่ ดวงจันทร์เสี้ยวบาง ข้างขึ้น 3 ค่ำ ดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีอีกด้วย

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน