X

วันแรงงานสุดคึกคักนักท่องเที่ยวและผู้ใช้แรงงานแห่ร่วมงานบุญก่อพระเจดีย์ทราย ถวายกุศล

วันแรงงานสุดคึกคักนักท่องเที่ยวและผู้ใช้แรงงานแห่ร่วมงานบุญก่อพระเจดีย์ทราย ถวายกุศล ภายในงานมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก มีการก่อเจดีย์ทรายแบบสวยงาม และที่สะดุดตาคือเจดีย์ทรายที่ทำล้อเลียนเปรมชัยกับเสือดำ

เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 1 พ.ค.61 ที่ลานหน้าวัดสาขลา ต.นาเกลือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ นักท่องเที่ยวและผู้ใช้แรงงานต่างใช้เวลาในวันหยุดวันแรงงานแห่งชาติเข้าร่วมทำบุญและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยร่วมกันก่อพระเจดีย์ทรายหน้าวัดซึ่งในปีนี้ทางวัดสาขลา จัดขึ้นเป็นปีที่ 15 โดยมีผู้เข้าร่วมงานและร่วมทำบุญก่อเจดีย์ทรายกว่า 500 คน

สำหรับในปีนี้ทางวัดสาขลาได้มีการจัดประกวดการก่อเจดีย์ทรายในรูปแบบต่าง ๆ ร่วมชิงเงินรางวัลมูลค่ากว่า 7,000 บาท อาทิ ประเภทสวยงาม ประเภทความคิดสร้างสรรค์ และประเภทตลกขบขัน ซึ่งทางวัดได้บริการทรายที่ใช้ในการก่อเจดีย์เพียงคันละ 100 บาท เพื่อนำรายได้ทั้งหมดไปบูรณะซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ภายในวัด  ส่วนการตัดสินนั้นเป็นไปตามเกณฑ์ของคณะกรรมการ ทำให้บรรยากาศการก่อเจดีย์ทรายที่ผู้เข้าร่วมงานต่างเร่งปั้นและตกแต่งกันอย่างสวยงามด้วยความปราณีต อาธิ เจดีย์ทรายพระปรางค์ 3 ยอด  เจดีย์ปลากระจัง เจดีย์ป่าลูกจาก เจดีเจ้าสัวเปรมชัยกับซากเสือดำ เจดีย์ตามรอยพ่อ เจดีย์ป่านกยูง เจดีย์พระนอน และเจดีย์รูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย ในส่วนเงินรางวัลที่ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมได้รับมา ต่างนำเงินบริจาคเข้าวัดทั้งหมดเพื่อนำไปพัฒนาวัดต่อไป

นาย สุรชัย คุ้มรำไพ อดีตกำนันตำบลนาเกลือและคณะกรรมการการจัดงานกล่าวว่า  ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายถือว่าเป็นประเพณีหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง โดยคนไทยผูกโยงประเพณีนี้เข้ากับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา มีการก่อพระเจดีย์ทรายถวายวัดเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไปมาคืนวัดในรูปพระเจดีย์ทราย และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์ และนอกจากประเพณีเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเป็นกุศโลบายของคนในอดีตให้มีการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อร่วมกันจัดประเพณีรื่นเริงเป็นการสังสรรค์สร้างความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย

ปัจจุบันประเพณีนี้พบเพียงในประเทศไทยและลาวเท่านั้น โดยจัดในช่วงเทศกาลสำคัญเป็นการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนศักราช เช่นในวันตรุษและวันสงกรานต์ เป็นต้น โดยในบางหมู่บ้านอาจเป็นประเพณีบุญคูนลาน บุญขวัญข้าว ก่อเจดีย์ข้าวถวายเป็นพุทธบูชา อาจนับว่าเป็นประเพณีก่อเจดีย์ทรายได้เช่นเดียวกัน เพราะไม่ได้สร้างเป็นพุทธศาสนสถานถาวรวัตถุใหญ่โต แต่เป็นเพียงเจดีย์ชั่วคราวเพื่อมุ่งถวายเป็นพุทธบูชาในการประเพณีเท่านั้น

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน